สมถะ วิปัสสนา วิราคะ
กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ อาจารย์สอนให้ปฏิบัติสมถะ วิปัสสนา วิราคะ วิราคะเป็นอย่างไรคะ ต่างจากสมถะและวิปัสสนาอย่างไร ขอความกรุณาท่านอาจารย์คลายความสงสัยด้วยค่ะ
พระพุทธองค์เป็นผู้สอนว่า ในบรรดาภาวนาทั้งหมด วิราคะภาวนาเป็นเลิศ
วิราคะคืออะไร
วิราคะ คือถ่ายถอนราคะ กำจัดราคะ ดับราคะ หรือภาษาชาวบ้านเรียกง่าย ๆ ว่า “ปล่อยวาง”
แต่วิราคะไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ เป็นกระบวนการต่อมาจากสมถะและวิปัสสนา พระพุทธองค์ทรงตรัสอย่างนี้ว่า “วิมุตติมีวิราคะเป็นเหตุ วิราคะมีนิพพิทาญาณเป็นเหตุ นิพพิทาญาณมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นเหตุ ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นเหตุ สมาธิมีสุขเป็นเหตุ”
ดังนั้น การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ต้องทำตนให้เป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตย่อมสงบตั้งมั่น เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้วจึงได้สมาธิ สุขและสมาธิคือสมถะ
เมื่อจิตเป็นสมาธิปราศจากความปรุงแต่งฟุ้งซ่านแล้ว ย่อมเห็นความเป็นจริงตรงจริง คือ เห็นสังขารทั้งภายในภายนอกโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเห็นชัดว่าสิ่งทั้งปวงไม่เป็นตน เมื่อเห็นดังนี้แล้ว จึงเกิดความเบื่อหน่ายด้วยปัญญา ด้วยปัญญานะ ไม่ใช่อารมณ์ เบื่อหน่ายในสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทั้งหมด จนจิตสงบสนิท นี่คือวิปัสสนา
เมื่อความเบื่อหน่ายสุกงอม จิตย่อมน้อมไปเพื่อการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทั้งหมดนั้น กระบวนการปล่อยวางโดยรอบนั้น คือ วิราคะ
หากวิราคะได้ขาดก็ถึงวิมุตติ หลุดพ้นจากทุกข์และสิ่งไม่เที่ยงทั้งปวง เป็นหนึ่งเดียวกับอมตภาพ
นี่คือกระบวนการ อย่ามัวสงสัย จิตจะวนเวียน ปฏิบัติให้มาก จึงจะเห็นสัจจะ และมีสิทธิ์ถึงได้