Main navigation

เหตุให้ต้องว่ากล่าวเพราะโทษเล็กน้อย

Q ถาม :

โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษสิ่งนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี้เล่า พระสมณะนี้ช่างขัดเกลาหนักไป

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท มีนิคมของชาวอังคุตตราปะชื่อ อาปนะ เป็นโคจรคาม

เวลาเช้าวันนั้น แม้ท่านพระอุทายีก็นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังอาปนนิคม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังไพรสณฑ์นั้น เพื่อพักกลางวัน

เมื่อท่านพระอุทายีอยู่ในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

ลำดับนั้น เวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลความดำริแห่งจิตของตนทั้งหมดแก่พระผู้มีพระภาค

แล้วกล่าวต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือน เธอทั้งหลายจงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในเวลากลางวันนั้นเสียเถิด ดังนี้

ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจ คฤหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธา จะให้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันประณีต ในเวลาวิกาลในกลางวัน (เวลามิใช่กาลในเวลากลางวัน) แก่เราทั้งหลาย แม้อันใด พระผู้มีพระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเมื่อเห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น ย่อมฉันในเวลาเย็น และเวลาเช้า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือน เธอทั้งหลายจงละเว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสียเถิด ดังนี้

ข้าพระองค์นั้น มีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ความที่ภัตทั้งสองของเราทั้งหลายนี้ เป็นของปรุงประณีตกว่าอันใด พระผู้มีพระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว พระสุคตตรัสการสละคืนอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงพากันละการบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้

เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ ย่อมเข้าไปในบ่อน้ำครำบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบขึ้นไปบนแม่โคกำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทำโจรกรรมแล้วบ้าง ยังไม่ได้ทำโจรกรรมบ้าง มาตุคามย่อมชักชวนภิกษุเหล่านั้นด้วยอสัทธรรมบ้าง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ หญิงคนหนึ่งล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์ด้วยแสงฟ้าแลบ แล้วตกใจกลัว ร้องเสียงดังว่า ความไม่เจริญได้มีแก่เราแล้ว ปีศาจจะมากินเราหนอ

เมื่อหญิงนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้พูดกะหญิงนั้นว่า

ไม่ใช่ปีศาจดอกน้องหญิง เป็นภิกษุยืนเพื่อบิณฑบาต ดังนี้

หญิงนั้นกล่าวว่า

บิดาของภิกษุตายเสียแล้ว มารดาของภิกษุตายเสียแล้ว ดูกรภิกษุ ท่านเอามีดสำหรับเชือดโคที่คมเชือดท้องเสีย ยังจะดีกว่า การที่ท่านเที่ยวบิณฑบาตในเวลาค่ำมืดเพราะเหตุแห่งท้องเช่นนั้น ไม่ดีเลย ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ มีความคิดอย่างนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็อย่างนั้นแลอุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า

จงละโทษสิ่งนี้เสียเถิด

เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า

ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี้เล่า พระสมณะนี้ ช่างขัดเกลาหนักไป

เขาจึงไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย

ดูกรอุทายี อนึ่ง โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกอันมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่

เปรียบเหมือนนกนางมูลไถ ถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูก คือ เถาวัลย์หัวด้วน ย่อมรอเวลาที่จะฆ่า หรือเวลาที่จะถูกมัดหรือเวลาตาย ในที่นั้นเอง ฉันใด

ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าเครื่องดักคือเถาวัลย์หัวด้วน สำหรับเขาใช้ดักนกนางมูลไถ เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่น ดังนี้ ผู้นั้นไม่ชื่อว่า พึงกล่าวโดยชอบ

โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น

โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น เป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้นไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่

ส่วนกุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า

จงละโทษนี้เสียเถิด

เขากล่าวอย่างนี้ว่า

ก็ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเล็กน้อยเพียงที่ควรละนี้ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสให้เราทั้งหลายละ ให้เราทั้งหลายสละคืนเล่า

เขาย่อมละโทษนั้นด้วย เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย

อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละโทษนั้นแล้ว มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เยียวยาชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร

เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็นราชพาหนะอันประเสริฐ เคยเข้าสงคราม ควาญช้างผูกด้วยเชือกเป็นเครื่องผูกอันมั่น พอเอี้ยวกายไปหน่อยหนึ่ง ก็ทำเครื่องผูกนั้นให้ขาดหมด ทำลายหมด แล้วหลีกไปได้ตามปรารถนา ฉันใด

ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เครื่องผูกที่เขาผูกช้างต้นนั้น เป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อกล่าวชื่อว่า ไม่พึงกล่าวโดยชอบ

กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น

ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละโทษนั้นแล้ว เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เยียวยาชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ โทษเพียงเล็กน้อยที่ควรละของภิกษุเหล่านั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร

 

 

ที่มา
ลฑุกิโกปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๗๕-๑๗๘

คำที่เกี่ยวข้อง :

ธรรมวินัย