สติ สมาธิ ปัญญา ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ครับ ตามมูลสูตรที่บอกว่าสติเป็นใหญ่ สมาธิเป็นประมุข ปัญญาเป็นยอด มันดูคาบเกี่ยวกันมาก ท่านอาจารย์พอบอกได้ไหมครับ ว่าแต่ละอย่างทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร ขอบพระคุณครับ
เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดูสัมมัตตะ ๑๐
เพื่อความเข้าใจที่ชัด ดูระบบบริหาร
ในสัมมัตตะสิบ
สัมมาสติ เป็นอันดับเจ็ด เป็น รู้ที่ตั้งมั่นแห่งจิต ทำหน้าที่ดั่งประธานบริหาร (CEO) operate ภารกิจต่าง ๆ กิจที่สำคัญที่เป็นไปเพื่อยกระดับวิวัฒนาการก็คือ สติทำหน้าที่กั้นกระแสอารมณ์ (โสฬสปัญหา) กั้นไม่ให้จิตไหลไปหลงอารมณ์ภายนอก กั้นไม่ให้อารมณ์ภายนอกไหลมาปั่นป่วนจิตภายใน ตราบที่เครื่องกั้นทำหน้าที่กั้นได้ดี ชีวิตจิตใจก็มั่นคง ถ้าเครื่องกั้นพังเมื่อไร ชีวิตจิตใจก็วุ่นวาย
ดังนั้น ความเป็นเครื่องกั้นที่แข็งแรงคือหน้าที่หลักของสติ
สัมมาสมาธิ เป็นอันดับแปด เป็น รู้ที่ตั้งมั่นแห่งใจ ทำหน้าที่ดั่งประธานบริษัท คอยตัดสินใจนโยบายสำคัญด้วยการเพ่งผล และ deploy ด้วยการแผ่ไปทั่วองค์กร และ all connections นโยบายที่สำคัญที่เป็นไปเพื่อยกระดับวิวัฒนาการก็คือ การกรองสังขารให้สะอาดหมดจด (ปัญจกังคสูตร) ตามลำดับดังนี้
ชั้นที่ ๑ กรองความยินดีในกาม ความพยาบาท ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสงสัย ความง่วงงุน ออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดขึ้น ที่มีแต่อารมณ์ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง มีวิตกวิจารภายใน และปีติว่า รูปฌาน ๑
ชั้นที่ ๒ กรองวิตกวิจารออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดยิ่งขึ้น ที่มีแต่ปีติและสุขซาบซ่านไปทั่วกายว่า รูปฌาน ๒
ชั้นที่ ๓ กรองความทุกข์กาย และปีติวูบวาบ ออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดยิ่งขึ้น ที่มีแต่ความสุขและอุเบกขาอันสงบอยู่ว่า รูปฌาน ๓
ชั้นที่ ๔ กรองความทุกข์ใจ และการยึดสุขใจ ออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดยิ่งขึ้น ที่มีแต่สติบริสุทธิ์และอุเบกขาอันสงบอยู่ว่า รูปฌาน ๔
ชั้นที่ ๕ กรองความใส่ใจในรูปธาตุทั้งหลาย ออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดยิ่งขึ้น ที่มีแต่สติบริสุทธิ์และอุเบกขาอันสงบอยู่ใน ”ความว่าง” ว่า อรูปฌาน ๑
ชั้นที่ ๖ กรองความใส่ใจในความว่าง ออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดยิ่งขึ้น ที่มีแต่สติบริสุทธิ์และอุเบกขาอันสงบอยู่ใน “รู้ไร้ขอบเขต” ว่า อรูปฌาน ๒
ชั้นที่ ๗ กรองความใส่ใจในวิญญาณรับรู้ทั้งหลาย ออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดยิ่งขึ้น ที่มีแต่สติบริสุทธิ์และอุเบกขาอันสงบอยู่ใน “ความไร้” ว่า อรูปฌาน ๓
ชั้นที่ ๘ กรองความใส่ใจในความไร้ ออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดยิ่งขึ้น ที่มีแต่สติบริสุทธิ์และอุเบกขาอันสงบอยู่ใน “เจตจำนงเป็นหนึ่ง อันสัญญาทั้งหลายสงบอยู่” ว่า อรูปฌาน ๔
ชั้นที่ ๙ กรองความความทรงจำ และความรู้สึกทั้งหมด ออกจากสังขาร กรองได้แล้วเรียกสังขารใหม่ที่สะอาดยิ่งขึ้น ที่มีแต่สุขสภาวะ (ไม่ใช่สุขเวทนา, ปัญจกังคสูตร) ตั้งอยู่เช่นนั้นเอง ว่า นิโรธสมาบัติ ผู้ที่เข้าสภาวะนี้ได้ ต้องเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์เท่านั้น เป็นที่พักสังขารทั้งปวงสัมบูรณ์
ดังนั้น ความเป็นเครื่องกรองสังขารเพื่อความสะอาดหมดจดสงบคือหน้าที่หลักของสมาธิ
สัมมาญาณะ เป็นอันดับเก้า เป็น รู้ที่แจ่มแจ้งแทงตลอด ทำหน้าที่ดั่งประธานที่ปรึกษา คอยประมวล ประเมิน ประมาณการ หาสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่เป็นไปได้ที่สุด สิ่งที่เหมาะสมที่สุด โดยจะต้องดับ ความไม่รู้ ความรู้ผิดหลงผิด สิ่งที่ไม่ดี สิ่งเป็นไปไม่ได้ และสิ่งไม่เหมาะสมให้สิ้น ซึ่งได้แก่
ความไม่รู้ที่ต้องดับ ได้แก่ ไม่รู้ในทุกข์ ไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ในนิโรธบรมสุขที่ไร้ทุกข์ ไม่รู้ในมรรคระบบกลยุทธ์ปฏิบัติการออกจากทุกข์สู่บรมสุข ไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท
ความหลงผิดที่ต้องดับ ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาดำริ มิจฉาวาจา มิจฉากรรม มิจฉาอาชีพ มิจฉาเพียร มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ
สิ่งไม่ดีที่ต้องดับ ได้แก่ ความเข้าใจว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตน ความลังเลสงสัยในความบริสุทธิ์และผู้บริสุทธิ์ ความประมาทในศีลพรตเพราะคิดเข้าข้างตนเองว่าไม่เป็นไร ความเสน่หาในกาม ความขุ่นเคืองใจ ความเพลินในรูป ความเพลินในอรูป ความคิดพล่าน ความสำคัญตน และความไม่รู้
สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่ต้องดับ ได้แก่ การพยายามทำทุกข์ให้เป็นสุขจริง การพยายามทำสิ่งที่ต้องแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยให้เที่ยงถาวร การพยายามยึดสมมติที่ไม่เป็นตนให้เป็นตน
สิ่งที่ไม่เหมาะสมที่ต้องดับ ได้แก่ ความเพลิดเพลินยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และความเคร่งครัดจนทรมานตน ทรมานคนอื่น ความทะยานอยากปรุงแต่งไป
ดังนั้น ความเป็นผู้ดับปัญหา และเหตุแห่งปัญหา และป้องกันปัญหาทั้งปวง คือหน้าที่หลักของปัญญา
สัมมาวิมุตติ เป็นอันดับสิบ เป็น รู้บริสุทธิ์แห่งพุทธะ หลุดพ้น อิสระจากการปรุงประกอบทั้งปวง เหลือแต่สุขสภาวะ เรียกว่าบรมสุข ว่างหมดจดที่สุด อมตเป็นเช่นนั้นตลอดกาล ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดขององค์กร ที่ทั้งสติ สมาธิ ปัญญา มีหน้าที่บริหารองค์กรแห่งจิตใจให้สำเร็จ บรรลุถึงผลนี้ให้ได้
ดังนั้น บริหารการปฏิบัติอย่างเป็นระบบเพื่อผลสูงสุดนะครับ