Main navigation

เห็นทุกข์ด้วยปัญญา จึงเห็นธรรม

Q ถาม :

กราบเรียนถามท่านอาจารย์ครับ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นธรรม เราต้องรอให้มีความทุกข์ก่อน จึงจะเห็นธรรม จึงจะหลุดพ้นได้ใช่ไหมครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นธรรม"  

"เห็น" กับ "เป็น" เป็นคนละอาการกัน

เห็นทุกข์ คือ การทำงานของปัญญา
เป็นทุกข์ คือ การทำงานของเวทนา

ความทุกข์มีอยู่ตลอดเวลา ทั้งในชีวิต ในธรรมชาติ ในโลก ในจิตปรุงแต่ง ในใจยึดถือ พระพุทธองค์ตรัสว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์"

ชีวิตไม่เที่ยง มีเกิด แก่ เจ็บตาย ชีวิตเป็นทุกข์

การงานไม่เที่ยง มีลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ การงานก็เป็นทุกข์

ธรรมชาติไม่เที่ยง แดดร้อน พายุรุนแรง ฝนเย็น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ อากาศเป็นพิษ ธรรมชาติก็เป็นทุกข์

โลกไม่เที่ยง สมมติระบบระบอบใดมา ใช้ได้ไม่นาน ก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนมานับครั้งไม่ถ้วนได้ และจะเปลี่ยนอีกนับครั้งไม่ถ้วน โลกก็เป็นทุกข์

จิตปรุงแต่งไม่เที่ยง ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ พานพบสิ่งไม่รักไม่ปรารถนาก็เป็นทุกข์  

ว่าโดยย่อ อุปทานขันธ์คือทุกข์ คือใจยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือทุกข์

ดังนั้น ทุกข์มีอยู่ตลอดเวลาให้เห็นทั้งภายในตน ภายนอกตน ใครเห็นทุกข์ด้วยปัญญาอย่างนี้ ชื่อว่าเห็นธรรมคือทุกขอริยสัจ แม้ตัวเองกำลังสุขอยู่ก็ตาม พระโพธิสัตว์ ชีวิตส่วนตัวท่านเป็นสุขดี แค่ไปเห็นความทุกข์ของคนอื่น ท่านก็เห็นธรรมแล้ว มุ่งบรรลุธรรมแล้ว ทั้ง ๆ ที่ตัวเองยังไม่มีความทุกข์นั้น ๆ เลย นั่นเห็น คือเห็นด้วยปัญญา 

เนื่องจากทุกข์มีอยู่ในทุกสิ่ง คนมีปัญญาย่อมเห็นทุกขสัจได้เสมอ พวกนี้จึงปฏิบัติง่ายสำเร็จง่าย เพราะปฏิบัติและปล่อยในขณะที่เราเป็นสุขนั่นแหละ จะง่ายที่สุด

ส่วนคนปัญญาทราม ต้องรอให้เป็นทุกข์ก่อน จึงจะเห็นทุกข์ พวกนี้ก็จะถูลู่ถูกัง ปฏิบัติยากสำเร็จยาก เพราะกว่าจะบรรเทาทุกข์ให้สงบ แล้วแหวกทุกข์ออกได้ ก็ถลอกปอกเปิก

ส่วนคนไร้ปัญญา อยู่ในโลกทุกข์ก็ไม่เห็นทุกข์ ตัวเองเป็นทุกข์อยู่ก็ไม่เห็นทุกข์ ยังพยายามปรุงสุขในทุกข์ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง เล่นกับความแปรปรวนไปเรื่อย จนกว่าจะเห็นว่าความพยายามไม่รู้จบของตนเป็นทุกข์ จึงจะค่อย ๆ ยอมรับความจริงว่า อะไรบีบเค้นกันเป็นทุกข์ อะไรแปรปรวนไปได้เป็นทุกข์ อะไรคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์ จึงจะค่อย ๆ เรียนรู้และเกิดปัญญาได้บ้าง หลังบอบช้ำสาหัสจนทนไม่ไหวแล้ว

ดังนั้น อย่ารอให้เป็นทุกข์ จงรีบเห็นทุกข์ด้วยปัญญา แล้วสละทุกข์ สลัดเหตุแห่งทุกข์ออกจากจิตใจเสียให้สิ้นและสุด

จำไว้ ปฏิบัติธรรม บรรลุธรรมตอนเป็นสุข ง่ายที่สุด จะเป็นการสละสุขหนึ่ง เพื่อสุขที่ยิ่งกว่า จนบริสุทธิ์และอมตะ