Main navigation

เราควรสมาทานธรรมเรื่องฉันทะอย่างไร

Q ถาม :

กราบเรียนถามอาจารย์ค่ะ ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคันธภกสูตร ฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ แต่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ บอกว่าฉันทะเป็นคุณธรรม ไม่ใช่ตัณหา ในกรณีที่ธรรมของพระศาสดาและของพระชั้นผู้ใหญ่ต่างกันอย่างนี้ เราจะสมาทานธรรมอย่างไรดีคะ ถ้าจะสมาทานธรรมหนึ่งก็เท่ากับยอมรับว่าอีกธรรมหนึ่งผิด ถ้าจะสมาทานทั้งสองธรรมก็ดูไม่เข้ากันเลย คงปฏิบัติปนกันไม่ได้ ขอท่านอาจารย์เมตตาช่วยคลายความสับสนด้วยค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

โดยปกติ ควรใช้เกณฑ์ท่านมหานามะ คือ หากพระผู้มีพระภาคกับสาวกแสดงธรรมต่างกัน ให้สมาทานของพระพุทธเจ้าเป็นหลักเสมอ แต่ก่อนที่จะทำเช่นนั้น ควรศึกษาพุทธดำรัสว่าด้วยฉันทะให้รอบด้าน หรือรวบยอดก่อน เพราะหลายกรณีพระองค์ทรงวิสัชนาธรรมตามบริบทของผู้ฟังธรรม แต่ธรรมหนึ่งมีหลายนัยยะเสมอ เช่น พระสารีบุตรฟังธรรมพระพุทธเจ้าแต่ละเรื่องจะเข้าใจได้พันนัยยะพร้อมกัน

ตัวอย่างเช่นเรื่องฉันทะ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้กับหลายคน ในหลายเหตุการณ์ เพื่อหลายวัตถุประสงค์ แต่ที่รวบยอดที่สุด คือที่ทรงแสดงไว้ในมูลสูตร ทรงตรัสว่า "ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล มีการทำไว้ในใจเป็นแดนเกิด"

ธรรมทั้งปวง ก็ทั้งกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม

ฉันทะที่เป็นมูลกุศลธรรม เช่น อิทธิบาทปธานสังขาร เป็นต้น ฉันทะเป็นมูล วิริยะคือการทำไว้ในใจต่อเนื่องที่จะละอกุศล สมาทานกุศลยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ฉันทะที่เป็นมูลอกุศลธรรม เช่น ฉันทราคะ ที่ทรงสอนนายบ้านคันธภกะ เป็นต้น ฉันทะเป็นมูล ราคะเป็นการทำไว้ในใจที่จะยึดถือผูกพัน

ฉันทะที่เป็นอัพยากตธรรม เช่น ฉันทศรัทธาถึงวิราคะ ฉันทะที่จะออกจากทุกข์เป็นมูล จึงทำไว้ในใจด้วยศรัทธาในความบริสุทธิ์ แล้วเจริญวิราคะถ่ายถอนปล่อยวางความกำหนัดหมกมุ่นยึดถือผูกพันทั้งปวง

นี่เราดูกันแค่สามนัยยะก่อนนะ ถ้าดูหลายนัยยะ ก็จะเห็นความเป็นไปได้มากกว่านี้ แต่วันนี้เพื่อให้ตรงประเด็นคลายความสับสน เอาแค่นี้ก่อน

ดังนั้น เมื่อเข้าใจทั้งสามนัยยะแล้ว แต่ละนัยยะก็ถูกหมดเพื่อผลที่ต่างกัน

แล้วขัดแย้งกันไหม

ธรรมะไม่ขัดแย้งกัน แต่การยึดถือความจริงนัยยะเดียวจะขัดแย้งกับความจริงนัยยะอื่น ๆ  

แล้วเป็นไปได้อย่างไรที่ฉันทะตัวเดียวจะไปเป็นธรรมทั้งปวงที่ต่างกันได้ ก็เหมือนกับ stem cell ในร่างกาย มีความเหมือนกันไม่มีความแตกต่างกัน แต่สามารถสร้างอวัยวะที่แตกต่างกันทำหน้าที่ต่างกันได้มากมายทุกระบบของร่างกาย

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ก็ บริหารฉันทะสร้างศรัทธาในความบริสุทธิ์ เพียรวิราคะเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ทั้งปวงเป็นสำคัญ ถ้ายังไม่ถึง ก็ใช้ฉันทะประคองจิตสร้างกุศลในมิติต่าง ๆ ทั้งการครองตน วิถีชีวิต กลยุทธ์การกอปรกิจการงาน การบริการครอบครัว และสังคมสัมพันธ์ต่าง ๆ และพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ฉันทะสร้างราคะยึดถือผูกพันกับสังขารและสมมติใด ๆ  

ทำได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าใช้ stem ฉันทะ เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมบรรลุธรรมอันสมควร

 

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

ฉันทะ ฉันทราคะ กุศล อกุศล