Main navigation

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อะไรสำคัญที่สุด และควรเริ่มต้นจากตรงไหนก่อน

Q ถาม :

เรียนถามท่านอาจารย์ค่ะ เห็นคนที่เรียนปริยัติเยอะมักจะเป็นคนบ้าความคิด ทิฏฐิมาก อวดรู้

ส่วนนักปฏิบัติเยอะก็มักจะมานะจัด อวดเก่ง

ส่วนพวกปฏิเวธหนูดูไม่ออก เลยไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง ควรเชื่อหรือไม่ แล้วสำหรับคนเริ่มต้นใหม่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อะไรสำคัญที่สุด ควรเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนดีคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เป็นสองประเด็นนะ

หนึ่ง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อะไรสำคัญที่สุด

แน่นอน ปฏิเวธ การบรรลุธรรมสำคัญที่สุด 

สอง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ควรเริ่มต้นจากตรงไหนดี  

จริง ๆ แล้วเริ่มจากตรงไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับ moment ของชีวิต

ถ้าชีวิตกำลังแสวงหา บ้าความรู้และความคิด เริ่มจากปริยัติก่อน

ถ้าชีวิตกำลังเบื่อหน่าย อยากจะออกจากทุกข์ เริ่มปฏิบัติก่อน

ถ้าชีวิตกำลังจะสิ้น เริ่มปฏิเวธก่อน น้อมความบริสุทธิ์ น้อมนิพพานอย่างเดียว

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สัมพันธ์กันเหมือนต้นไม้ ปริยัติคือราก ปฏิบัติคือลำต้นกิ่งก้าน ปฏิเวธคือผล สมบูรณ์ที่สุดคือมีทั้งสามส่วน 

หากมีแต่ปริยัติ ไร้การปฏิบัติ ก็คือคนที่สะสมรากไว้เยอะ แต่ไม่งอกสักต้น ก็เดี้ยงอยู่ใต้ดิน

หากมีแต่ปฏิบัติ ไม่มีปริยัติ ก็เหมือนต้นขาดราก เดี๋ยวก็ตาย ก็ต้องรีบแตกรากใหม่ หยั่งลงสู่ฐานธรรมแห่งความถูกต้อง

หากมีแต่ปฏิบัติ ไม่มีปฏิเวธ ก็เหมือนไม้ใหญ่แต่ไม่ให้ผล ก็เมามันอยู่กับการแตกกิ่งก้านโชว์คุณวิเศษต่าง ๆ แต่ไม่บริสุทธิ์ ไม่พ้นทุกข์ และไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม 

หากจะเอาแต่ปฏิเวธ ไม่มีปริยัติ ก็มักจะน้อมไม่ถูกที่หมาย ไม่ถึงผลอันเป็นที่สุดจริง

หากจะเอาแต่ปฏิเวธ ไม่มีปฏิบัติ กำลังที่จะน้อมก็ไม่พอ น้อมเท่าไรก็ไม่ถึงสักที

ดังนั้น ดีที่สุด ทำให้บริบูรณ์ แต่หากบริบูรณ์ไม่ได้ เริ่มให้เหมาะกับ moment ของชีวิตขณะนั้นก่อน แล้วไปขยายราก หรือขยายต้น หรือเมล็ดผลเอา ยกเว้นน้อมปฏิเวธตอนจะตาย แม้ยังไม่รู้จักนิพพาน และยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็ปล่อยวางโลก ปล่อยวางสังขาร ปล่อยวางอารมณ์ ปล่อยวางชีวิต น้อมความบริสุทธิ์ไว้ก่อน แม้ไปไม่สุด อย่างน้อยก็ไปสูง แล้วไปต่อยอดเอาชาติหน้า เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว

สิ่งหนึ่งซึ่งควรรู้คือ เสมือนเมล็ดกับรากทำให้เกิดลำต้น ลำต้นกิ่งก้านทำให้เกิดดอกผล เช่นเดียวกัน จากปริยัติไปปฏิบัติ จากปฏิบัติไปปฏิเวธ ก็จะเกิดการ transform โดยลำดับเช่นกัน  

ด้วยเหตุนี้ ธรรมะเดียวกันที่ปรากฏแก่นักปริยัติ นักปฏิบัติ นักปฏิเวธ จักมีองค์คุณต่างกัน เช่น "เมตตา"

นักปริยัตินิยามว่า คือความสงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์

ส่วนนักปฏิบัติที่กำลังออกจากทุกข์ได้ลิ้มรสสุขโดยลำดับจะพบสภาวะเมตตาว่า คือ ความปรารถนาดี ปรารถนาให้เขามีความสุข และแบ่งปันความสุขให้เขา ให้เขามีความสุขด้วย

ส่วนนักปฏิเวธผู้พ้นสงสารแห่งวัฏฏะแล้ว เมตตาจะกลั่นตัวไปรวมกับกรุณาเป็น "กรุณาบริสุทธิ์" อุเบกขา (อุปปะ+อิกขะ = การเข้าไปรู้) จะกลั่นตัวไปรวมกับปัญญาเป็น "ปัญญาบริสุทธิ์" มุทิตากลั่นตัวไปรวมกับวิมุตติเป็น "ความบริสุทธิ์" พุทธคุณหลักจึงมีสาม คือ บริสุทธิคุณ ปัญญาธิคุณ มหากรุณาธิคุณ

ดังนั้น สิ่งที่ควรระวัง คือ นักปริยัติอย่าไปวิพากษ์นักปฏิบัติและนักปฏิเวธ เพราะเพิ่งพบแผนที่และพยายามทำความเข้าใจอยู่ ยังไม่ได้เริ่มออกเดินทาง ยังไม่มีประสบการณ์ตรง

นักปฏิบัติก็อย่าไปเสียเวลารำคาญนักปริยัติว่ามัวแต่วิเคราะห์วิจัยแผนที่ไม่ออกเดินทางซะที เพราะแต่ละคนมีบริบทชีวิตต่างกัน และอย่าไปวิพากษ์นักปฏิเวธ เพราะวิมุตติญาณทำให้สภาวะนักปฏิเวธหลุดจากสมมติทั้งหลาย และวิมุตติญาณทัสสนะทำให้ท่านแจ่มแจ้งความเป็นจริงใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน และยากที่จะให้คนอื่นแจ่มแจ้งได้ ยกเว้นคนที่เข้าถึงเหมือนกัน

นักปฏิเวธจริงก็ย่อมเข้าใจนักปริยัติว่ากำลังเตรียมตัว และเข้าใจนักปฏิบัติว่ากำลังพยายามหาทางออกจากวงกตวัฏสงสาร และพยายามส่องแสงให้เขาเห็นทางชัดขึ้นตามความเหมาะสมกับตำแหน่งที่เขาวนอยู่ด้วยกรุณา ปัญญา บริสุทธิ์

เมื่อใด ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นหนึ่งลงตัวกันทุกประการ ก็บรรลุธรรมสัมบูรณ์ หายห่วง ไร้สิ้นซึ่งความเสี่ยงใด ๆ ในวงกตวัฏฏะอันน่าสงสารทั้งปวง