ปัญญาและญาณ
เคยอ่านเจอว่า ญาณเกิดขึ้นเพราะมีปัญญา มีปัญญาเกิดขึ้นเพราะมีญาณ ขอเรียนถามอาจารย์ค่ะว่า เวลาที่เข้าสมาธิถึงจุด ๆ หนึ่งที่เราเห็นขึ้นมา ตรงนั้นเราเข้าใจว่านั่นเป็นปัญญา พออ่านเจอตรงนี้ ค่อนข้างจะสับสนกับคำว่า ญาณกับปัญญาค่ะ
ปัญญามีอยู่ ๓ ประเภท
๑. สุตมยปัญญา คือสิ่งที่เราเรียนรู้มาทั้งหมด และจดจำ ระลึกได้เมื่อต้องการ
๒. จินตามยปัญญา ตอนที่เราวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย เราพิจารณาเนือง ๆ จนได้ความเข้าใจ
๓. ภาวนามยปัญญา จะเป็นญาณ ญาณหมายถึงเราเห็นแจ้งของจริงตรง ๆ พอพูดสังขารก็เห็นสังขารธาตุ เช่น รูปธาตุ อรูปธาตุ เป็นต้น พอพูดเวทนาก็เห็นเวทนาธาตุ เช่น สุขธาตุ ทุกขธาตุ เป็นต้น พอพิจารณาวิญญาณก็เห็นวิญญาณธาตุจริง ๆ พิจารณานิโรธก็เห็นนิพพานธาตุจริง ๆ นั่นคือเห็น ทั้งหมดนี้เป็นปัญญา
ปัญญาในชั้นของจินตามยปัญญามันจะถักสานความเข้าใจ แต่มันไม่เห็น ญาณที่ไม่มีปัญญามันจะเห็นแต่อาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเป็นญาณด้วยเป็นปัญญาด้วย มันจะทั้งเห็นทั้งเข้าใจแจ่มแจ้ง เรียกว่าความแจ่มแจ้ง
ญาณที่ไม่เข้าใจก็อย่างเช่น เวลาเราปฏิบัติใหม่ ๆ จิตเริ่มรวมเป็นสมาธิแล้ว เห็นแต่ไม่รู้มันคืออะไร เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ กระดึ๊บ ๆ มาถามครูบาอาจารย์ว่าหนูเห็นอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร คือมันเห็นแต่มันไม่เข้าใจ เพราะขาดปัญญา แต่ถ้าสมาธิเราดีมากจะมีปัญญาด้วย พอญาณเห็นปั๊บ มันเห็นแจ่มเข้าใจแจ้งเลย เรียกว่าปัญญาญาณ ปัญญาในญาณจะทะลุปรุโปร่ง ไร้ข้อสงสัยโดยสิ้นเชิง ต่างกับจินตามยปัญญามาก ที่เข้าใจไปก็สงสัยไป ยังไม่แน่ใจ แต่ปัญญาในญาณบริบูรณ์จะปราศจากความกังขา และรู้ได้มากกว่าจินตามยปัญญาอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
ถามต่อ
ถ้าได้ญาณใหม่ ๆ มันจะไม่ค่อยชัดเจน เหมือนเราต้องพัฒนา เช่น ตอนแรก ๆ อาจขมุกขมัว พอสภาวะมันได้ไปเรื่อย ๆ มันจะชัดเจนขึ้น หรือว่าคมขึ้นอย่างนี้หรือเปล่าคะ
อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนั้น ตอนเห็นใหม่ ๆ พอฌาน ๑ ก็เริ่มเห็นแล้วหล่ะ แต่มันจะยังไม่ผ่องใส ไม่ชัด ยังมีความสงสัย ญาณที่ชัดเจนแน่นอนที่สุดคือฌาน ๔ ดังนั้น ตั้งแต่ฌาน ๑ ถึงฌาน ๔ มันก็จะเห็นและเข้าใจแจ่มแจ้งต่างกัน ตาม value ตามคุณภาพของฌาน
วิธีการทำอย่างไร
ถ้าเราเห็นแล้วมันไม่ชัด เห็นแล้วมันไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ปล่อยวางเลย ไม่ต้องสนใจ ถือว่ามันเป็นนิมิตหนึ่ง ถึงแม้มันจะเป็นญาณ แต่คุณภาพมันยังไม่เพียงพอที่จะเอาไปใช้ ก็ปล่อยวางเลย
ปล่อยวางแล้วอย่างไร
ก็ให้ focus เข้าไปข้างใน ความผ่องใส ความแจ่มแจ้งจะขึ้นอยู่กับสภาวะจิตของเรา ก็เข้าไปสู่จิตที่สะอาดกว่า บริสุทธิ์กว่า เราจะเห็นชัดขึ้น ยิ่งสติหมดจดจนกระทั่งถึงฌาน ๔ มันไร้ข้อสงสัย ญาณตรงนั้นแหละที่พระพุทธเจ้าให้ใช้เป็นหลัก