ทำอย่างไรถึงจะปฏิบัติได้ตรงกับกรรมฐานที่เคยสั่งสมมา
กราบเรียนถามท่านอาจารย์ครับ จะเป็นการดีกว่าไหมครับหากเราปฏิบัติตามแนวที่เราสั่งสมมาแต่ในอดีตชาติ อย่างเช่น แนวสุขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ หรือปฏิสัมภิทัปปัตโต แล้วทำอย่างไรถึงจะทราบว่าเราสั่งสมมาแนวไหน
ดีที่สุดแหละ ก็คือตรงกันเพราะมันต่อยอดได้เลย เรามีลำต้นอยู่แล้วแค่ต่อยอดไปนิดเดียวก็งามเลย
ทำอย่างไร
วิธีที่ง่ายที่สุดคืออาราธนาพระพุทธเจ้า เพราะคนที่จะรู้บุพกรรมยาวนานและรู้ว่ากรรมฐานไหนที่จะส่งผลสู่การบรรลุธรรมก็จะมีแต่พระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกไม่มีระบุว่าพระอรหันต์ให้กรรมฐานตรงกับบุพกรรม แต่พระพุทธเจ้าจะให้กรรมฐานตรงกับบุพกรรม เพราะพระพุทธองค์เท่านั้นที่ทรงมีอินทริยปโรปริยัติญาณ
ดังนั้นวิธีการง่าย ๆ คือ อาราธนาเวลาปฏิบัติ ขอให้พระพุทธองค์ทรงประทานธรรม ประทานกรรมฐานที่เหมาะสมแก่ลูกด้วย แล้วก็เข้าสมาธิไปให้เป็นที่สบาย
ท่านบอกให้มี "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง" ท่านอนุญาตแล้วก็อาราธนา หลวงปู่มั่นท่านก็อาราธนาตอนที่ท่านสำเร็จอนาคามี ท่านอยู่เชียงใหม่ ท่านก็ติดขัดอยู่อย่างนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็อาราธนาพระพุทธเจ้า ขอพระพุทธเจ้ามาช่วยโปรดด้วยเพื่อการบรรลุธรรม นักปฏิบัติจริงจังพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาโปรด หลวงปู่มั่นก็พบพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงให้กรรมฐานแล้ว หลวงปู่ปฏิบัติอีกไม่นานก็บรรลุธรรมเลย พระพุทธเจ้าพร้อมอยู่แล้ว ท่านพร้อมอยู่ตลอดเวลา พระอรหันต์ก็พร้อมกันอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่พวกเราจริงแค่ไหน
อย่าลืมท่านให้สวด "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ" ท่านอนุญาตไว้แล้ว จะใช้สิทธิ์หรือไม่หล่ะ แต่ก่อนจะใช้สิทธิ์ ประเมินก่อนนะ ศีลเราบริสุทธิ์หรือยัง สมาธิเราตั้งมั่นหรือยัง ถ้ายังก็เตรียมความพร้อมให้ดีก่อน เพราะถ้ายังไม่พร้อม อาจไม่สมมโนรถ
พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เสด็จมาโปรดได้ไหม
ในอจินไตยสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งที่เป็นอจินไตย ประมาณมิได้ วินิจฉัยให้สุดไม่ได้ คือ 1) โลกวิสัย (ดาราจักรทั้งหมด) 2) วิบากกรรมวิสัย (ผลกรรมทั้งหมด) 3) ฌานวิสัย (พลังสมาธิทั้งหมด) 4) พุทธวิสัย (อานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งหมด) ใครพยายามประมาณสิ่งเหล่านี้ พระองค์ตรัสว่าย่อมบ้าเปล่า
ดังนั้น ก็อย่าไปประมาณวิสัยของพระพุทธเจ้า ใครไป limit ตีกรอบพุทธวิสัยอันประมาณมิได้ ก็เป็นกรรมกล่าวตู่พระพุทธเจ้า และขังตนไว้ในทิฏฐิแห่งความบ้าโดยไม่จำเป็น
พระพุทธองค์ทรงสอนอย่างไร อนุญาตอย่างไร ก็ปฏิบัติตามนั้นอย่างซื่อตรง อย่าเอาความคิดเห็นของตนหรือของคนอื่นไปปนเปื้อน จำไว้ภาวนามยปัญญาเหนือความคิดเห็น จะได้ปัญญาระดับนี้ ต้องปล่อยวางความคิดเห็นให้หมด เหลือแต่จิตและความเป็นจริงล้วน ๆ
ปฏิบัติให้หมดจดจริงจัง ก็จะแจ่มแจ้งความจริงด้วยตนเองเหมือนหลวงปู่มั่น