การตรัสรู้สัจจะ
กาปทิกมาณพทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงจะชื่อว่าเป็นการตามรักษาสัจจะ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงการตามรักษาสัจจะ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพราหมณคามของชนชาวโกศลชื่อว่า โอปาสาทะ
ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละอันชื่อว่าเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งโอปาสาทพราหมณคาม ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่า จังกีปกครองโอปาสาทพราหมณคาม อันคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมไปด้วยหญ้า ไม้และน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร เป็นราชสมบัติอันพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงโปรดพระราชทานเป็นรางวัลให้เป็นสิทธิ์...
...ครั้งนั้นแล จังกีพราหมณ์พร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับนั่งตรัสปราศรัยถึงเรื่องบางเรื่องพอให้เป็นเครื่องระลึกถึงกันกับพราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่าอยู่
ก็สมัยนั้นแล มาณพชื่อว่ากาปทิกะ ยังเป็นเด็กโกนศีรษะมีอายุ ๑๖ ปีแต่กำเนิดเป็นผู้รู้จบไตรเพท... ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ นั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย เขาพูดสอดขึ้นในระหว่าง ๆ เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่ากำลังเจรจาอยู่กับพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงห้ามกาปทิกมาณพว่า
เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่ากำลังเจรจาอยู่ ท่านภารทวาชะอย่าพูดสอดขึ้นในระหว่าง ๆ ซิ ท่านภารทวาชะจงรอให้จบเสียก่อน
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว จังกีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดม อย่าทรงห้ามกาปทิกมาณพเลย กาปทิกมาณพเป็นบุตรของผู้มีสกุล เป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต เจรจาถ้อยคำไพเราะ และสามารถจะเจรจาโต้ตอบในคำนั้นกับท่านพระโคดมได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า กาปทิกมาณพจักสำเร็จการศึกษาในปาพจน์ คือไตรวิชาเป็นแน่แท้ พราหมณ์ทั้งหลายจึงยกย่องเขาถึงอย่างนั้น
ครั้งนั้น กาปทิกมาณพได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมจักทอดพระเนตรสบตาเรา เมื่อใดเราจักทูลถามปัญหากะพระสมณโคดมเมื่อนั้น
พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของกาปทิกมาณพด้วยพระหฤทัยแล้ว ทรงทอดพระเนตรไปทางกาปทิกมาณพ ครั้งนั้นแล กาปทิกมาณพได้มีความคิดว่าพระสมณโคดมทรงใส่พระทัยเราอยู่ เราพึงทูลถามปัญหากะพระสมณโคดมเถิด
ลำดับนั้นแล กาปทิกมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่ท่านโคดม ก็ในบทมนต์อันเป็นของเก่าของพราหมณ์ทั้งหลายสืบต่อกันมาตามคัมภีร์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมถึงความตกลงโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมตรัสว่าอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภารทวาชะ ก็บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย พราหมณ์คนหนึ่งเป็นใดก็ตามที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้ มีอยู่หรือ
ไม่มีเลย ท่านพระโคดม
ดูกรภารทวาชะ ก็แม้อาจารย์ท่านหนึ่ง แม้ปาจารย์ท่านหนึ่ง จนตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลายที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้ มีอยู่หรือ
ไม่มีเลย ท่านพระโคดม
ดูกรภารทวาชะ ก็ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสสามิตร ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตามซึ่งบทมนต์เก่านี้ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้กล่าวไว้ บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นก็กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ข้อนี้เราทั้งหลายรู้อยู่ ข้อนี้เราทั้งหลายเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้หรือ
ไม่มีเลย ท่านพระโคดม
ดูกรภารทวาชะ แม้อาจารย์ แม้ปาจารย์คนหนึ่งจะเป็นใครก็ตามตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลายที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ มีอยู่หรือ
ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม
ดูกรภารทวาชะ ก็ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ เป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ ได้สาธยายบทมนต์อันเป็นของเก่า ได้บอกมาแล้ว ได้รวบรวมไว้แล้ว เดี๋ยวนี้ พราหมณ์ทั้งหลายสาธยายตามนั้นกล่าวตามนั้น ภาษิตได้ตามที่ได้รับภาษิตไว้ บอกได้ตามที่ได้รับบอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นได้กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ
ไม่มีเลย ท่านพระโคดม
ดูกรภารทวาชะ ได้ทราบกันดังนี้ว่า บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่มีพราหมณ์แม้คนหนึ่งจะเป็นใครก็ตาม ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า
ไม่มีใครแม้คนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นปาจารย์ของอาจารย์ ตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า
แม้ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตามซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้กล่าวไว้ บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้
เปรียบเหมือนแถวคนตาบอด ซึ่งเกาะกันต่อ ๆ ไป แม้คนต้นก็ไม่เห็น แม้คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนหลังก็ไม่เห็น ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลายเห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด ฉะนั้น คือ แม้คนชั้นต้นก็ไม่เห็น แม้คนชั้นกลางก็ไม่เห็น แม้คนชั้นหลังก็ไม่เห็น
ดูกรภารทวาชะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ความเชื่อของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมหามูลมิได้มิใช่หรือ
ท่านพระโคดม ในข้อนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมเล่าเรียนกันมามิใช่ด้วยความเชื่ออย่างเดียว แต่ย่อมเล่าเรียนด้วยการฟังตามกันมา
ธรรม ๕ ประการมีวิบากเป็นสองส่วน
ดูกรภารทวาชะ ครั้งแรกท่านได้ไปสู่ความเชื่อ เดี๋ยวนี้ท่านกล่าวการฟังตามกัน
ดูกรภารทวาชะ ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบากเป็นสองส่วนในปัจจุบัน ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ศรัทธา - ความเชื่อ ๑
รุจิ - ความชอบใจ ๑
อนุสสวะ - การฟังตามกัน ๑
อาการปริวิตักกะ - ความตรึกตามอาการ ๑
ทิฏฐินิชฌานขันติ - ความทนได้ซึ่งความเพ่งด้วยทิฏฐิ ๑
ธรรม ๕ ประการนี้มีวิบากเป็นสองส่วนในปัจจุบัน
ถึงแม้สิ่งที่เชื่อกันด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี
อนึ่ง สิ่งที่ชอบใจดีทีเดียว...
สิ่งที่ฟังตามกันมาด้วยดีทีเดียว...
สิ่งที่ตรึกไว้ด้วยดีทีเดียว...
สิ่งที่เพ่งแล้วด้วยดีทีเดียว เป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่ได้เพ่งด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี
บุรุษผู้รู้แจ้ง เมื่อจะตามรักษาความจริง ไม่ควรจะถึงความตกลงในข้อนั้นโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละ จริงสิ่งอื่นเปล่า
ท่านพระโคดม ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงจะชื่อว่าเป็นการตามรักษาสัจจะ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงการตามรักษาสัจจะ พยากรณ์การรักษาสัจจะ
ดูกรภารทวาชะ ถ้าแม้บุรุษมีศรัทธา เขากล่าวว่า ศรัทธาของเราอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน
ถ้าแม้บุรุษมีความชอบใจ เขากล่าวว่า เรามีความชอบใจอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน
ถ้าแม้บุรุษมีการฟังตามกัน เขากล่าวว่า การฟังตามกันมาของเราอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน
ถ้าแม้บุรุษมีความตรึกตามอาการ เขากล่าวว่า เรามีความตรึกตามอาการอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน
มีการทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิ เขากล่าวว่า การทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของเราอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน
ท่านพระโคดม ...ก็การตรัสรู้สัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงการตรัสรู้สัจจะ พยากรณ์การรู้ตามสัจจะ
ดูกรภารทวาชะ ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดูในธรรม๓ ประการ คือ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ๑ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ๑ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๑ ว่า
ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็พึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ได้หรือหนอ
เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภครอบงำ ท่านผู้นี้เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือว่าสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น ท่านผู้นี้พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ไม่มีเลย อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่โลภฉะนั้น
ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้นลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ ธรรมนั้นอันคนโลภแสดงไม่ได้โดยง่าย
เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัด เธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ เมื่อนั้น เขาย่อมใคร่ครวญเธอให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายว่า
ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายครอบงำ เมื่อไม่รู้พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ได้หรือหนอ
เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายครอบงำ เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ไม่มีเลย อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ฉะนั้น
ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้นลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ธรรมนั้นอันบุคคลผู้ประทุษร้ายแสดงไม่ได้โดยง่าย
เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ย่อมเห็นแจ้งชัดว่า เธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย เมื่อนั้นเขาย่อมใคร่ครวญเธอให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลงว่า
ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลงครอบงำ เมื่อไม่รู้พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ได้หรือหนอ
เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลงครอบงำ เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ไม่มีเลย อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่หลง ฉะนั้น
ก็ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้นลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ ธรรมนั้นอันบุคคลผู้หลงพึงแสดงไม่ได้โดยง่าย
เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัดว่าเธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เมื่อนั้น เขาย่อมตั้งศรัทธาลงในเธอนั้นมั่นคง
เขาเกิดศรัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เขาเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้ เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรแก่การเพ่ง เมื่อธรรมควรแก่การเพ่งมีอยู่ ย่อมเกิดฉันทะ เกิดฉันทะแล้ว ย่อมขะมักเขม้น ครั้นขะมักเขม้นแล้ว ย่อมเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้วย่อมตั้งความเพียร เป็นผู้มีใจแน่วแน่ ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งชัดด้วยกายและเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา
ดูกรภารทวาชะ การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะทีเดียว
ท่านพระโคดม ...ก็การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงการบรรลุสัจจะ พยากรณ์การบรรลุสัจจะ
ดูกรภารทวาชะ การเสพจนคุ้น การเจริญ การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ
การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
ท่านพระโคดม ...ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ พยากรณ์ธรรมมีอุปการะมาก
ดูกรภารทวาชะ ความเพียร มีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ถ้าไม่พึงตั้งความเพียร ก็ไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะตั้งความเพียรจึงบรรลุสัจจะได้ ฉะนั้น ความเพียรจึงมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ
ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียรเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร
ดูกรภารทวาชะ ปัญญาเครื่องพิจารณา มีอุปการะมากแก่ความเพียร ถ้าไม่พึงพิจารณาก็พึงตั้งความเพียรนี้ไม่ได้ แต่เพราะพิจารณาจึงตั้งความเพียรได้ ฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณาจึงมีอุปการะมากแก่ความเพียร
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณาเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา
ดูกรภารทวาชะ ความอุตสาหะ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้าไม่พึงอุตสาหะ ก็พึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะอุตสาหะจึงพิจารณาได้ ฉะนั้น ความอุตสาหะจึงมีอุปการะมากแก่ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ
ดูกรภารทวาชะ ฉันทะ มีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด ก็พึงอุตสาหะไม่ได้ แต่เพราะฉันทะเกิดจึงอุตสาหะ ฉะนั้น ฉันทะจึงมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ฉันทะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ
ดูกรภารทวาชะ ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง มีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรมทั้งหลายไม่ควรแก่การเพ่ง ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลายควรแก่การเพ่ง ฉันทะจึงเกิด ฉะนั้นธรรมที่ควรแก่การเพ่งจึงมีอุปการะมากแก่ฉันทะ
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรการเพ่งเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมที่มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง
ดูกรภารทวาชะ ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง ถ้าไม่พึงใคร่ครวญเนื้อความนั้น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ควรแก่การเพ่ง แต่เพราะใคร่ครวญเนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่ง ฉะนั้น ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ จึงมีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ
ดูกรภารทวาชะ การทรงจำธรรมไว้ มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความถ้าไม่พึงทรงจำธรรมนั้น ก็พึงใคร่ครวญเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะทรงจำธรรมไว้ จึงใคร่ครวญเนื้อความได้ ฉะนั้น การทรงจำธรรมไว้ จึงมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ
ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรมเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม
ดูกรภารทวาชะ การฟังธรรม มีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม ถ้าไม่พึงฟังธรรมก็พึงทรงจำธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะฟังธรรมจึงทรงจำธรรมไว้ได้ ฉะนั้น การฟังธรรมจึงมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การฟังธรรมเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม
การเงี่ยโสตลง มีอุปการะมากแก่การฟังธรรม ถ้าไม่พึงเงี่ยโสตลงก็พึงฟังธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเงี่ยโสตลงจึงฟังธรรมได้ ฉะนั้น การเงี่ยโสตลงจึงมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลงเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง
การเข้าไปนั่งใกล้ มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง ถ้าไม่เข้าไปนั่งใกล้ก็พึงเงี่ยโสตลงไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปนั่งใกล้จึงเงี่ยโสตลง ฉะนั้น การเข้าไปนั่งใกล้จึงมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้
การเข้าไปหา มีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ ถ้าไม่พึงเข้าไปหาก็พึงนั่งใกล้ไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปหาจึงนั่งใกล้ ฉะนั้น การเข้าไปหาจึงมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้
ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเข้าไปหาเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา
ศรัทธา มีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา ถ้าศรัทธาไม่เกิด ก็ไม่พึงเข้าไปหา แต่เพราะเกิดศรัทธาจึงเข้าไปหา ฉะนั้น ศรัทธาจึงมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา
กาปทิกมาณพแสดงตนเป็นอุบาสก
ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการตามรักษาสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจ ทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการตรัสรู้สัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจ ทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์ และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจ ทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงข้อใด ๆ ท่านพระโคดมได้ทรงพยากรณ์ข้อนั้น ๆ แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์รู้อย่างนี้ว่า พวกสมณะหัวโล้นเชื้อสายคฤหบดีกัณหโคตร เกิดจากพระบาทท้าวมหาพรหม จะแปลกอะไรและจะรู้ทั่วถึงธรรมที่ไหน พระโคดมผู้เจริญได้ทรงทำความรักสมณะในสมณะ ความเลื่อมใสสมณะในสมณะ ความเคารพสมณะในสมณะให้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอก
ทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล