ยัญที่ใช้ทรัพย์น้อย ตระเตรียมน้อย แต่มีอานิสงส์มาก
พราหมณ์กูฏทันตกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ส่วนข้าพระองค์ไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ แก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
...ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ากว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ มีอยู่หรือ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จถึงพราหมณคามของชาวมคธชื่อขานุมัตต์ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตต์
สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะอยู่ครองบ้านขานุมัตต์ อันคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติอันพระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าพิมพิสาร พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไทย
มหายัญของกูฏทันตพราหมณ์
ก็สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ ได้เตรียมมหายัญโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ และแกะ ๗๐๐ ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ
พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ได้สดับว่า พระสมณโคดมเสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านขานุมัตต์ ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตต์ ฯลฯ ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ออกจากบ้านขานุมัตต์เป็นหมู่ ๆ พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา
พราหมณ์กูฏทันตะ ขึ้นพักกลางวันในปราสาทชั้นบน ได้เห็นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์พากันไปสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกนักการมาถามว่า
ดูกรนักการ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกาทำไมกัน
นักการตอบว่า
พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น พากันเข้าไปเฝ้าท่านพระสมณโคดม ผู้มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปพระองค์นั้น
พราหมณ์กูฏทันตะได้เกิดความคิดเช่นนี้ว่า ก็เราได้สดับข่าวนี้มาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ แต่เราไม่ทราบ และเราก็ปรารถนาจะบูชามหายัญ ผิฉะนั้น เราควรเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ทูลถามยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖
พราหมณ์กูฏทันตะได้เรียกนักการมาสั่งว่า
ดูกรนักการ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปหาพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ แล้วบอกเขาอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย พราหมณ์กูฏทันตะสั่งมาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน แม้พราหมณ์กูฏทันตะ ก็จักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย...
ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ฝ่ายพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์บางพวกก็ถวายบังคม บางพวกก็ปราศรัย บางพวกก็ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วต่างพากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ๆ พราหมณ์กูฏทันตะนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ส่วนข้าพระองค์ไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ แก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักบอก
ดูกรพราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้วพระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยอันน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางบริบูรณ์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาวิชิตราช ได้เสด็จเข้าไปสู่ที่ลับเร้นอยู่ ได้เกิดพระปริวิตกอย่างนี้ว่า
เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ชำนะปกครองดินแดนมากมาย ถ้ากระไร เราพึงบูชามหายัญที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน
มหาวิชิตราชรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาแล้วตรัสว่า
เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน
เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชรับสั่งอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า
ชนบทของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน โจรปล้นบ้านก็ดี ปล้นนิคมก็ดี ปล้นเมืองก็ดี ทำร้ายในหนทางเปลี่ยวก็ดี ยังปรากฏอยู่ พระองค์จะโปรดฟื้นฟูพลีกรรมเมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกันอยู่ จะพึงชื่อว่าทรงกระทำการมิสมควร
บางคราวพระองค์จะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า เราจักปราบปรามเสี้ยนหนาม คือโจร ด้วยการประหาร ด้วยการจองจำ ด้วยการปรับไหม ด้วยการตำหนิโทษหรือเนรเทศ อันการปราบปรามด้วยวิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะว่าโจรบางพวกที่เหลือจากถูกกำจัดจักยังมีอยู่ ภายหลัง มันก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ แต่ว่าการปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรนั้น จะชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้
๑. พลเมืองเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในกสิกรรม และโครักขกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พลเมืองเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร
๒. พลเมืองเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้แก่พลเมืองเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร
๓. ข้าราชการเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์ขยัน ขอพระองค์จงพระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร
พลเมืองเหล่านั้นจักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตน ๆ จักไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมากจักเกิดแก่พระองค์ บ้านเมืองก็จะตั้งมั่นอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองจักชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก จักไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ก็ได้พระราชทานข้าวปลูกและข้าวกินแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ที่ขะมักเขม้นในกสิกรรมและโครักขกรรม พระราชทานทุนแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ที่ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการในบ้านเมืองของพระองค์ที่ขยัน พลเมืองเหล่านั้นได้เป็นผู้ขวนขวายในการงานตามหน้าที่ของตน ๆ ไม่ได้เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมากได้เกิดมีแล้วแก่พระองค์ บ้านเมืองได้ดำรงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่แล้ว
ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหาวิชิตราชได้ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้าแล้วตรัสว่า
ท่านผู้เจริญ โจรที่เป็นเสี้ยนหนามนั้น เราได้ปราบปรามดีแล้ว เพราะอาศัยวิธีการของท่าน และกองพระราชทรัพย์ใหญ่ก็ได้บังเกิดแก่เรา บ้านเมืองก็ได้ดำรงอยู่ในความเกษมหาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอกไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่
ดูกรพราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน
พราหมณปุโรหิตกราบทูลว่า
ขอเดชะ ถ้าเช่นนั้น อนุยนตกษัตริย์เหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกอนุยนตกษัตริย์เหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน
อำมาตย์ราชบริษัท พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกอำมาตย์ราชบริษัท พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ทรงเรียกอนุยนตกษัตริย์ อำมาตย์ราชบริษัท พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน
อนุยนตกษัตริย์ อำมาตย์ราชบริษัท พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่านั้นกราบทูลว่า
ขอพระองค์จงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ
ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำริ ๔ เหล่านี้ จัดเป็นบริวารของยัญนั้น
พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
๑. ทรงเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียน ด้วยอ้างถึงพระชาติได้
๒. ทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีพระพรรณคล้ายพรหม มีพระรูปคล้ายพรหม น่าดู น่าชมไม่น้อย
๓. ทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยอันน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์
๔. ทรงมีกำลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัย คอยปฏิบัติตามพระราชบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระราชอิสริยยศ
๕. ทรงพระราชศรัทธา เป็นทายก เป็นทานบดี มิได้ปิดประตู เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
๖. ได้ทรงศึกษาทรงสดับเรื่องนั้น ๆ มาก
๗. ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้น ๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้
๘. ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระราชดำริอรรถอันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้
พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการดังกล่าวนี้ องค์ ๘ ประการเหล่านี้จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการดังนี้
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
๑. เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียน ด้วยอ้างถึงชาติได้
๒. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน
๔. เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ดังแสดงมานี้ องค์ ๔ ประการ เหล่านี้จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการดังนี้
การกำจัดความร้อนใจก่อนบูชายัญ
ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้นแล พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญว่า
๑. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ความวิปฏิสาร (ความร้อนใจ) บางอย่างพึงมีว่า กองโภคสมบัติใหญ่ของเราจักหมดเปลือง ดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทำความวิปฏิสารเช่นนี้
๒. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่า กองโภคสมบัติใหญ่ของเรากำลังหมดเปลืองไปอยู่ ดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทำความวิปฏิสารเช่นนั้น
๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่า กองโภคสมบัติใหญ่ของเราได้หมดเปลืองไปแล้ว ดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทำความวิปฏิสารเช่นนั้น
พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ ดังแสดงมานี้ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญนั้นเทียว
ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดความวิปฏิสาร (ความร้อนใจ) ของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะพวกปฏิคาหก (ผู้รับทาน) โดยอาการ ๑๐ ประการ ก่อนทรงบูชายัญ
๑. พวกคนทำปาณาติบาตก็ดี พวกที่งดเว้นจากปาณาติบาตก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่ทำปาณาติบาต จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากปาณาติบาตเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๒. พวกคนที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ก็ดี พวกที่งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้เท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๓. พวกคนที่ประพฤติผิดในกามทั้งหลายก็ดี พวกที่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายเหล่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๔. พวกที่กล่าวคำเท็จก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเท็จก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่กล่าวคำเท็จ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเท็จเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๕. พวกที่กล่าวคำส่อเสียดก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำส่อเสียดก็ดีต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่กล่าวคำส่อเสียด จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำส่อเสียดเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๖. พวกที่กล่าวคำหยาบก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำหยาบก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น พวกที่กล่าวคำหยาบ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำหยาบเท่านั้น แล้วทรงบูชาทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๗. พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๘. พวกที่โลภอยากได้ของของผู้อื่นก็ดี พวกที่ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่โลภอยากได้ของของผู้อื่น จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๙. พวกที่มีจิตพยาบาทก็ดี พวกที่มีจิตไม่พยาบาทก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่มีจิตพยาบาท จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่มีจิตไม่พยาบาทเท่านั้นแล้ว ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๑๐. พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ดี พวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดความวิปฏิสาร (ความเดือดร้อน ความร้อนใจ) ของพระเจ้ามหาวิชิตราช เพราะพวกปฏิคาหก (ผู้รับทาน) โดยอาการ ๑๐ ประการ ดังแสดงมานี้ ก่อนทรงบูชายัญนั่นเทียว
บริวาร ๑๖
ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิต ได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชซึ่งทรงบูชามหายัญอยู่ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญให้ทรงร่าเริงโดยอาการ ๑๖ ประการ
๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นแต่เฉพาะพระองค์ ด้วยประการนี้ ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ก็ได้ทรงเรียกเหล่าอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าอำมาตย์ราชบริษัท ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นแต่เฉพาะพระองค์ แม้ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าอำมาตย์ราชบริษัท ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นแต่เฉพาะพระองค์ แม้ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าพราหมณ์มหาศาลซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นแต่เฉพาะพระองค์ ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ผู้อุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา ไม่มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้อันใคร ๆ คัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงพระชาติได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงพระชาติได้ด้วยประการนี้ ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ทรงมีพระรูปไม่งาม ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส ไม่ทรงประกอบด้วยพระฉวีวรรณอันผุดผ่อง มิได้ทรงมีพระพรรณคล้ายพรหม มิได้ทรงมีพระรูปคล้ายพรหม ไม่น่าดู ไม่น่าชมเสียเลย และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีพระรูปงามน่าดู น่าเลื่อมใส ทรงกอปรด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ทรงมีพระพรรณคล้ายพรหมทรงมีพระรูปคล้ายพรหม น่าดู น่าชมมิใช่น้อย ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๗. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๘. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง มิได้ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัย คอยปฏิบัติตามพระราชบัญชา มิได้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระราชอิสริยยศ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัยคอยปฏิบัติตามพระราชบัญชาทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระราชอิสริยยศ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๙. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธา มิได้ทรงเป็นทายก มิได้ทรงเป็นทานบดี มีประตูปิด มิได้เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจก มิได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก เป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจก ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๑๐. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงศึกษา ทรงสดับเรื่องนั้น ๆ มาก และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้ทรงศึกษา ทรงสดับเรื่องนั้น ๆ มาก ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชาทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๑๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้น ๆ ว่านี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้น ๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๑๒. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นบัณฑิต มิได้ทรงเฉียบแหลม มิได้ทรงมีพระปรีชา มิได้สามารถจะทรงพระราชดำริอรรถอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต ทรงเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชาสามารถที่จะทรงพระราชดำริอรรถอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๑๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มิได้มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้อันใคร ๆ กล่าวคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงบันเทิง ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๑๔. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้เล่าเรียน มิได้ทรงจำมนต์ มิได้รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ มิได้เป็นผู้เข้าใจตัวบท มิได้เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ มิได้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริส
ลักษณะ และเมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้เล่าเรียน
ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและมหาปุริสลักษณะ ขอพระองค์จงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงบันเทิง ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๑๕. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้มีศีล มิได้มีศีลยั่งยืน มิได้ประกอบศีลยั่งยืน และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงบันเทิง ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
๑๖. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ใคร ๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นบัณฑิต มิได้เป็นผู้เฉียบแหลม มิได้มีปัญญา มิได้เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ในพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ในพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงบันเทิง ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้ทรงบูชามหายัญอยู่ ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรงร่าเริง โดยอาการ ๑๖ ประการ ดังแสดงมานี้แล
ในยัญนั้น ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นหลักยัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้ชนเหล่าใดที่เป็นทาส เป็นคนใช้ เป็นกรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้นชนเหล่านั้นก็มิได้ถูกอาชญาคุกคาม มิได้ถูกภัยคุกคาม มิได้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้กระทำการงาน ที่จริงคนที่ปรารถนาจะกระทำจึงกระทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องกระทำ ปรารถนาจะกระทำการงานใด ก็กระทำการงานนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทำการงานใด ก็ไม่ต้องกระทำการงานนั้นและยัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยลำพังเนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เท่านั้น
ลำดับนั้น พวกอนุยนตกษัตริย์ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พวกอำมาตย์ราชบริษัทซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พวกพราหมณ์มหาศาลซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พวกคฤหบดีผู้มั่งคั่งซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ต่างก็พากันนำทรัพย์มากมาย เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราชกราบทูลว่า
ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าได้นำทรัพย์มากมายนี้มาเฉพาะพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับเถิด
พระเจ้ามหาวิชิตราชตรัสว่า
อย่าเลยพ่อแม้ทรัพย์เป็นอันมากนี้ของข้าพเจ้าก็ได้รวบรวมมาแล้วจากภาษีอากรที่เป็นธรรม ทรัพย์ที่ท่านนำมานั้นจงเป็นของพวกท่านเถิด ก็และท่านจงนำทรัพย์จากที่นี้เพิ่มไปอีก
อนุยนตกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้นถูกพระราชาปฏิเสธ ต่างพากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง คิดร่วมกันอย่างนี้ว่า
การที่พวกเราจะรับทรัพย์เหล่านี้คืนไปบ้านเรือนของตน ๆ อีกนั้นไม่เป็นการสมควรแก่พวกเราเลย พระเจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญอยู่ เอาเถอะ พวกเรามาบูชายัญตามเสด็จพระองค์บ้าง
ลำดับนั้น พวกอนุยนตกษัตริย์ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทได้เริ่มบำเพ็ญทานทางด้านบูรพาแห่งหลุมยัญ พวกอำมาตย์ราชบริษัทได้เริ่มบำเพ็ญทานทางด้านทักษิณแห่งหลุมยัญ พวกพราหมณ์มหาศาลได้เริ่มบำเพ็ญทานทางด้านปัจฉิมแห่งหลุมยัญ พวกคฤหบดีผู้มั่งคั่งได้เริ่มบำเพ็ญทานทางด้านอุดรแห่งหลุมยัญ.
แม้ในยัญของอนุยนตกษัตริย์เป็นต้นแม้เหล่านั้น ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นหลักยัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น คนเหล่าใดที่เป็นทาส เป็นคนใช้ เป็นกรรมกรของพวกอนุยนตกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น แม้คนเหล่านั้นก็มิได้ถูกอาชญาคุกคาม มิได้ถูกภัยคุกคาม มิได้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้ทำการงาน ที่จริงคนที่ปรารถนาจะกระทำจึงกระทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องกระทำ ปรารถนาจะกระทำการงานใด ก็กระทำการงานนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทำการงานใด ก็ไม่ต้องกระทำการงานนั้น ยัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยลำพังเนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เท่านั้น
ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำริ ๔ จำพวก ๑
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ๑
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ๑
รวมเป็น ๓ อย่าง ทั้ง ๓ ประการ รวมเรียกยัญญสัมปทา ๓ อย่าง มีบริวาร ๑๖
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เหล่านั้นส่งเสียงอื้ออึงเกรียวกราวว่า โอ ยัญ โอ ยัญสมบัติ ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะ นั่งนิ่งอยู่ ต่อนั้น พราหมณ์เหล่านั้นได้ถามว่า
เพราะเหตุไรเล่า ท่านกูฏทันตะจึงไม่ชื่นชมคำสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นคำสุภาษิต
พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า
ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่ชื่นชมคำสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นคำสุภาษิตก็หามิได้ เพราะว่าผู้ที่ไม่ชื่นชมคำสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นคำสุภาษิตนั้น ศีรษะจะต้องแตกออก ก็แต่ว่าข้าพเจ้าคิดอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ หรือตรัสอย่างนี้ว่า เหตุอย่างนี้ควรจะมีได้ พระสมณโคดมตรัสว่า เหตุอย่างนี้ได้มีแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่นนี้ได้มีแล้วในกาลนั้น
ข้าพเจ้าได้คิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น พระสมณโคดมคงจะทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้เป็นเจ้าแห่งยัญ หรือทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้นแน่นอน ดังนี้ แล้วจึงได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ก็พระโคดมผู้เจริญ ย่อมทรงทราบโดยแจ้งชัดหรือว่าผู้บูชายัญเห็นปานนั้น หรือผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น เมื่อตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ เราย่อมทราบโดยแจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญเห็นปานนั้น และผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น เมื่อตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ดูกรพราหมณ์ สมัยนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ปุโรหิต ผู้อำนวยการบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น
พราหมณ์กูฏทันตะทูลถามว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ากว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ มีอยู่หรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ มีอยู่ ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ เป็นไฉน
นิตยทาน
ดูกรพราหมณ์ นิตยทาน (การให้ทานทุกวัน) อันเป็นอนุกูลยัญอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล ก็ยัญนี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่ามีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้นิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนั้นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้
ดูกรพราหมณ์ พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะในยัญนั้นปรากฏว่า มีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับไสคอกันบ้างมฉะนั้น พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น
ส่วนนิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมเข้าไปสู่ยัญเช่นนั้นโดยแท้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะในยัญนั้นไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้ การจับไสคอกันเลย ฉะนั้น พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมเข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนั้น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้
การสร้างวิหารแด่พระสงฆ์ผู้มาแต่ทิศ ๔
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ และกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้ ยังมีอยู่หรือ
ดูกรพราหมณ์ มีอยู่
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน
ดูกรพราหมณ์ ยัญของบุคคลที่สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มาแต่ทิศทั้ง ๔ นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่า
ยัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ และกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้
สรณคมน์
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ และกว่าวิหารทานนี้ยังมีอยู่หรือ
มีอยู่ พราหมณ์
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน
ดูกรพราหมณ์ ยัญของบุคคลที่มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าและมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ และกว่าวิหารทานนี้
การสมาทานศีล
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติ ทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทานและกว่าสรณคมน์เหล่านี้ยังมีอยู่หรือ
มีอยู่ พราหมณ์
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน
ดูกรพราหมณ์ การที่บุคคลเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบททั้งหลาย คือ งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากมุสาวาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าและมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทาน อันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่าสิกขาบทเหล่านี้ยังมีอยู่หรือ
ยังมีอยู่ พราหมณ์
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าและมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่าสิกขาบทเหล่านี้เป็นไฉน
สมาธิ
ดูกรพราหมณ์ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้)
ภิกษุบรรลุปฐมฌานอยู่ นี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
ภิกษุบรรลุทุติยฌานอยู่ แม้นี้ก็เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
ภิกษุบรรลุตติยฌานอยู่ แม้นี้ก็เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอยู่ แม้นี้ก็เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
วิชชา ๘
วิปัสสนาญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แลมีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ นี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
มโนมยิทธิญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อนๆ
อิทธิวิธีญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง
ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์อานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
ทิพยโสตญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ นี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
เจโตปริยญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ ฯลฯ นี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าและมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก ฯลฯ พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศ นี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
จุตูปปาตญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ นี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อน ๆ
อาสวักขยญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี นี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ากว่ายัญก่อน ๆ
ดูกรพราหมณ์ ก็ยัญสมบัติอื่น ๆ ที่จะดียิ่งกว่า ประณีตยิ่งกว่า กว่ายัญสมบัตินี้มิได้มี
กูฏทันตพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กูฏทันตะได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระองค์ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพเจ้านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ได้ปล่อยโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด จงได้ดื่มน้ำเย็น ขอลมที่เย็นจงพัดถูกสัตว์เหล่านั้น
กูฏทันตพราหมณ์บรรลุโสดาปัตติผล
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถาแก่พราหมณ์กูฏทันตะ คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้า เศร้าหมอง และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะ มีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตร่าเริง มีจิตใส แล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดพราหมณ์กูฏทันตะ เปรียบเหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากสีดำ ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ฉันใด พราหมณ์กูฏทันตะ ก็ฉันนั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นเอง
ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งทราบถึงธรรมทั่วถึงแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ขอพระโคดมผู้เจริญกับภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณหลีกไป
ครั้งนั้น พอถึงเวลารุ่งเช้า พราหมณ์กูฏทันตะได้สั่งให้ตบแต่งขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตในสถานที่บูชายัญของตนแล้ว ใช้คนไปกราบทูลเวลาเสด็จแด่พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว ลำดับนั้น เป็นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปสู่สถานที่บูชายัญของพราหมณ์กูฏทันตะแล้ว ประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ ต่อนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยมือของตนเองด้วยขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีต เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงลดพระหัตถ์ลงจากบาตรแล้ว จึงได้ถือเอาอาสนะที่ต่ำแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาค ทรงยังพราหมณ์กูฏทันตะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งนั้นแล ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป