Main navigation

เหตุให้บุคคลขึ้นสวรรค์ ตกนรก

Q ถาม :

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต และนรก เมื่อสิ้นชีวิต อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อสิ้นชีวิต

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ลุถึงพราหมณคามชื่อสาละของชาวโกศล พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านสาละได้สดับข่าวว่า ท่านพระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกจากศากยสกุล ทรงผนวชแล้ว เสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้นขจรไป ฯลฯ ก็การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดี

ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านสาละ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค บางพวกทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค บางพวกประนมมือต่อพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาค บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วพากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตและนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก

อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรม

สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม

พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่ทราบเนื้อความอย่างพิสดารแห่งธรรมที่พระโคดมตรัสโดยย่อ มิได้ทรงจำแนกความให้พิสดาร ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงธรรมแก่พวกข้าพระองค์โดยอาการที่พวกข้าพระองค์จะพึงรู้เนื้อความอย่างพิสดารแห่งธรรมที่พระโคดมผู้เจริญตรัสโดยย่อเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงฟัง จงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว

อกุศลกรรมบถ ๑๐

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย มี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง

ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่างเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด พอใจในการประหารและการฆ่า ไม่มีความละอาย ไม่ถึงความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง

เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ คือ ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย

เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ถึงความสมสู่ในพวกหญิงที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดแม้หญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นไว้)

ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่างเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าวเท็จ คือ ไปในที่ประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่า ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งเล็กน้อยบ้าง

เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง หรือฟังข้างโน้นแล้ว นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันไปบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ยินดีในความแตกกันเป็นพวก ชื่นชมในพวกที่แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก

เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่นอันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต

เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร

ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่างเป็นอย่างนี้แล

ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่างเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความโลภมาก คือ เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้

เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีความดำริในใจอันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง จงถูกทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง ดังนี้

เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วไม่มีผลแห่งการบูชาไม่มี ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่ในโลก ดังนี้

ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงอบายทุคติ วินิบาตและนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือไม่ประพฤติธรรมอย่างนี้แล

กุศลกรรมบถ ๑๐

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อยคือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง

ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราเสียแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

ละการถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย

ละการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ไม่ถึงความสมสู่ในพวกหญิง ที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดหญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย

ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จไปในทีประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า บุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า ไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่า รู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็บอกว่า เห็น ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งของเล็กน้อยบ้าง

ละวาจาอันส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้วไม่นำไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายพวกข้างนี้ หรือได้ฟังข้างโน้นแล้ว ไม่นำมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้น สมานพวกที่แตกกันให้ดีกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่ดีกันให้สนิทสนมบ้าง ชอบใจพวกที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีแล้วในพวกที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในพวกที่พร้อมเพรียงกัน และกล่าววาจาอันทำให้พร้อมเพรียงกัน

ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ ชอบใจ

ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูดตามความจริง พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดเรื่องที่เป็นธรรม พูดเรื่องที่เป็นวินัยและกล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้างได้ มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร

ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

ความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความโลภมาก ไม่เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้

เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท มีความดำริในใจไม่ชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ มีแต่สุข รักษาตนเถิด ดังนี้

เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วมีอยู่ ผลแห่งการการบูชามีอยู่ ผลแห่งการเซ่นสรวงมีอยู่ ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ได้มีอยู่ในโลกนี้ ดังนี้

ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรมอย่างนี้แล

ผลแห่งความประพฤติเรียบร้อย

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม พึงหวังว่า

โอหนอ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึงเข้าถึงความเป็นพวกกษัตริย์มหาศาล... พวกพราหมณ์มหาศาลเถิด... พวกคฤหบดีมหาศาลเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ นั่นเป็นเพราะอะไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ เป็นผู้ประพฤติธรรมอย่างนั้นแหละ

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรมพึงหวังว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึงเข้าถึงความเป็นพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์... พวกเทวดาชั้นยามา... พวกเทวดาชั้นดุสิต... พวกเทวดาชั้นนิมมานรดี... พวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ เป็นผู้ประพฤติธรรมอย่างนั้นแหละ

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม พึงหวังว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึงเข้าถึงความเป็นพวกเทวดาที่เนื่องในหมู่พรหม พวกเทวดาชั้นอาภา... พวกเทวดาชั้นปริตตาภา... เทวดาชั้นอัปปมาณาภา... พวกเทวดาชั้นอาภัสสรา... พวกเทวดาชั้นปริตตสุภา... พวกเทวดาชั้นอัปมาณสุภา... พวกเทวดาชั้นสุภกิณหกะ... พวกเทวดาชั้นเวหัปผละ... พวกเทวดาชั้นอวิหา... ความเป็นพวกเทวดาชั้นอตัปปา... ความเป็นพวกเทวดาชั้นสุทัสสา... พวกเทวดาชั้นสุทัสสี... พวกเทวดาชั้นอกนิฏฐะ... พวกเทวดาผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ... พวกเทวดาผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ... พวกเทวดาผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ... พวกเทวดาผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ เป็นผู้ประพฤติธรรมอย่างนั้นแหละ

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติเรียบร้อย คือประพฤติธรรมพึงหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติอันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วเข้าถึงอยู่ในชาตินี้เถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร เป็นเพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแหละ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านสาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่
มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ พวกข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไปฉะนี้แล

ที่มา
สาเลยยกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๘๓-๔๘๗

คำที่เกี่ยวข้อง :

กุศลกรรมบท ๑๐ บาป สวรรค์ นรก