Main navigation

วิตกวิจารเกิดร่วมกับปีติสุขอย่างไร

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ มีอยู่เรื่องที่ผมกังขามานาน ปกติชีวิตเราเวลามีวิตก จิตจะวุ่นวายมาก เวลามีวิจาร จิตก็ซัดส่ายมาก แต่ในองค์ฌานที่ ๑ มีวิตกวิจารพร้อมปีติสุข สภาวะอย่างนี้เป็นอย่างไรครับ เป็นไปได้อย่างไรที่วิตกวิจารจะเกิดร่วมกับปีติสุข ขอท่านอาจารย์กรุณาแนะนำด้วยครับ ผมควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลที่ถูกต้อง

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

คืออย่างนี้ วิตกชุดใหญ่มี 5 อย่าง วิจารชุดใหญ่มี 7 อย่าง 

วิตกห้า คือ

อกุศลวิตก ได้แก่ ความวิตกในการแสวงหาการเสพสิ่งที่ชอบ ความวิตกในพยาบาทสิ่งที่ไม่ชอบ ความวิตกในความเชื่อ ไม่เชื่อ วิตกเหล่านี้มีธรรมชาติวุ่นวาย ทำให้จิตปั่นป่วน เป็นทุกข์

กุศลวิตก เป็นวิตกในเกณฑ์ที่สังคมยอมรับว่าเป็นความดีงาม วิตกเหล่านี้ทำให้เกิดความระมัดระวัง และหล่อหลอมเป็นจิตสำนึกที่ดี

วินิจฉัยวิตก เป็นวิตกอันเป็นปฏิกิริยาระหว่างจิตกับคู่ตรงข้าม ได้แก่ การวิตกว่าสิ่งนี้เป็นกุศลหรืออกุศล ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ วิตกเหล่านี้มีธรรมชาติกังวล ทำให้จิตวนเวียน

ธรรมวิตก คือ วิตกสนใจความจริงที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เช่น อะไรคือที่สุดของทุกสิ่ง ชีวิตเกิดมาทำไม อนาคตจะเป็นอย่างไร โลกจะอยู่ร่วมกันอย่างศานติได้อย่างไร ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร ในที่สุดทุกชีวิตจะไปสิ้นสุดที่ไหนกัน หรือเอาคำสอนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มาเทียบเคียง วิตกชนิดนี้ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยและพัฒนา ก่อให้เกิดความเข้าใจ

กรรมฐานวิตก คือ วิตกเฉพาะในองค์บริกรรมในการเจริญกรรมฐานหนึ่ง เช่น สัมปชัญญะความรู้ตัว การกำหนดรู้ ลมหายใจ การภาวนาพุทโธ การพิจารณาสังขารภายนอกภายใน การปล่อยวาง เป็นต้น วิตกชนิดนี้เป็นวิตกในสิ่งเดียว จิตรวมศูนย์ เมื่อจิตรวม สติก็ตั้งมั่น เมื่อสติตั้งมั่นต่อเนื่องก็กลายเป็นสมาธิ สมาธิคือสติรู้ที่ลึกซึ้งเข้าไปในสังขารละเอียด ยิ่งสังขารละเอียด ก็ยิ่งปีติ ยิ่งสังขารหมดจด ก็ยิ่งสุข วิตกในองค์ภาวนาที่นำสู่สติ สมาธิลึกซึ้ง จึงสร้างและอยู่ร่วมกันได้กับปีติและสุขโดยธรรมชาติ


วิจารเจ็ด คือ

ผัสสวิจาร เมื่ออายตนะสัมผัสโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณทำหน้าที่รับรู้ การรู้นั้นก่อใก้เกิดชวนะจิตที่จะพิจารณา วินิจฉัย และตัดสินใจสนองตอบ กลไกนี้คือวิจารโดยธรรมชาติที่เกิดทุกครั้งแห่งผัสสะ ผัสสวิจารนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ กับสิ่งเร้า

อารมณวิจาร ผลแห่งการรับรู้จากสัมผัสทำให้เกิดความรู้สึกและการจดจำ ความรู้สึกและความจำทำให้เกิดอารมณ์ วิญญาณก็ทำหน้าที่รับรู้ จิตก็ทำหน้าที่วิจารอีกว่า อารมณ์นี้ดีหรือไม่ดี ควรทำอย่างไรกับอารมณ์นี้ อารมณวิจารนี้ทำให้เกิดกลไกการจัดการ

อรรถวิจาร การมีความทรงจำจำนวนมากทำให้จิตมีประสบการณ์ ประสบการณ์ประมวลกันถักสานเป็นเกณฑ์กำหนดคุณโทษของสิ่งต่าง ๆ เกณฑ์เหล่านี้เป็นมาตรการในการเลือกผัสสะที่ควรรับ ควรแสวงหา และไม่ควรรับ ควรหลีกห่าง อรรถวิจารนี้ทำให้เกิดการหล่อหลอมเป็นโปรแกรมต่าง ๆ ในดวงใจ

วิจัยวิจาร เมื่อมีโปรแกรมจิตแล้ว ชีวิตจึงแสวงหาสิ่งที่เข้ากันได้กับโปรแกรม และผลักไสสิ่งที่ไม่เข้ากับโปรแกรม การพยายามแสวงหาและผลักไสนั้น ทำให้เกิดวิจัยวิจารคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นสิ่งที่เข้ากับโปรแกรมหรือไม่ น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนา วิจัยวิจารก่อให้เกิดการศึกษาเรียนรู้โลกเพิ่มเติม

ทิฏฐิวิจาร ผลของการเรียนรู้นั้นทำความเกิดความรู้จำแนกว่า สิ่งนี้รับได้ สิ่งนี้รับไม่ได้ การยึดความรู้ชุดหนึ่ง ๆ นั้นทำให้เกิดทิฏฐิว่า "อย่างนี้เท่านั้นถูก อย่างอื่นผิด" แล้วใช้เกณฑ์ถูกผิดตามทิฏฐิ ตัดสินสิ่งต่าง ๆ ในโลก ในบุคคล

อุบายวิจาร เมื่อบุคคลมีทิฏฐิแล้ว ก็จะดิ้นรนที่จะทำให้ทิฏฐิของตนเป็นจริง และเป็นที่ยอมรับ จึงพยายามหาอุบายให้คนเห็นด้วยในการสร้างผลสำเร็จตามทิฏฐิ และหาอุบายให้คนเห็นด้วยในการทำลายสิ่งที่ตรงข้ามทิฏฐิ อุบายวิจารเพื่อสนองทิฏฐินี้เองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างทิฏฐิ เกิดศัตรูทางความคิดเห็น และสงคราม

กรรมฐานวิจาร เมื่อบุคคลเหนื่อยหน่ายกับความวุ่นวายแล้ว จนเกิดการประเมินว่า การเดินตามทิฏฐินั่นวุ่นวายไร้ความสุข จึงพยายามสลัดออกทิฏฐิและความคิดเห็น มาแสวงรู้ที่สงบสุขจริง จึงกำหนดจิตตภาวนาภายในด้วยสัจธรรมต่าง ๆ เช่นไตรลักษณ์แห่งจิตปรุงแต่ง และพยายามปล่อยวาง กลไกการภาวนาภายในให้จิตสงบสุขนี้เอง ทำให้เกิดกรรมฐานวิจาร ว่าพิจารณาสัจธรรมอย่างนี้แล้วจิตสงบ อย่างนี้จิตสุข อย่างนี้จิตว่าง อย่างนี้จิตหมดจด เรียกว่ากรรมฐานวิจาร กรรมฐานวิจารนำสู่วิวัฒนาการจิตไปสู่ความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จนได้ฌาน ปัญญาญาณ และความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากทุกข์


โดยสรุป

วิตกมีหลายประเภท อย่าใช้วิตกทำลายจิต จงเลือกใช้วิตกเพื่อพัฒนาจิต

วิจารมีหลายประเภท อย่าใช้วิจารที่สร้างปัญหา จงเลือกใช้วิจารจิตภายในเพื่อวิวัฒนาการสู่ความบริสุทธิ์