Main navigation

ใครพาไปนิพพานได้

Q ถาม :

เรียนท่านอาจารย์ครับ ผมฟังครูบาอาจารย์และนักวิชาการหลายท่าน ต่างก็พูดถึงนิพพานไม่เหมือนกัน ถ้าตามทุกคนไปก็คงจะไปคนละที่เลยครับ เราจะเลือกและจะรู้ได้อย่างไรครับว่าใครพาไปถูกทาง

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

1. เราจะเลือกได้อย่างไร

เหมือนเราจะไปสแกนดิเนเวีย เราควรจะให้ใครพาเราไป ก็ต้องให้ชาวสแกนดิเนเวียพาไป หรือคนที่ไปสแกนดิเนเวียบ่อย รู้จักสแกนดิเนเวียดี จนชำนาญทาง รู้ทางปลอดภัย ถึงเร็ว รู้ทางเสี่ยงควรหลีกเลี่ยง เป็นคนพาไป

เช่นเดียวกัน เราจะไปนิพพานก็ต้องให้ท่านผู้ถึงนิพพานแล้วพาไป จึงจะถึง โดยเร็ว และปลอดภัย ตามคนไม่ถึงนิพพานก็หลงทางเท่านั้นเอง

2. เราจะรู้ได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนุปาทาปรินิพพานเป็นผลของญาณทัสสนวิสุทธิ (ญาณหมดจด) ญาณทัสสนวิสุทธิเป็นผลของปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (การปฏิบัติหมดจด) ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นผลของมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิเป็นผลของกังขาวิตรณวิสุทธิ (ความสิ้นสงสัย) กังขาวิตรณวิสุทธิเป็นผลของทิฏฐิวิสุทธิ (ความเห็นแจ้งจริง) ทิฏฐิวิสุทธิเป็นผลของจิตตวิสุทธิ จิตตวิสุทธิเป็นผลของสีลวิสุทธิ

ใครมีธรรมใดธรรมหนึ่งไม่หมดจด แล้วมาอธิบายนิพพาน ก็เป็นเหมือนคนไม่เคยไปสแกนดิเนเวีย แต่มาอธิบายสแกนดิเนเวีย ไม่ควรเสียเวลาฟัง จำต้องฟังก็อย่าเอามาใส่ใจ ขืนฟัง จะสงสัย สับสนฟุ้งซ่าน วนเวียนอยู่ในวัฏฏะอันน่าสงสารต่อไป

ดังนั้นปฏิบัติโดยลำดับ แล้วเราจะรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น สัจจะบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก) เท่านั้น ไม่ใช่เชื่อตาม ๆ กันมา เชื่อตาม ๆ กันไป 

3. การถึงพระนิพพาน

บุคคลสามารถถึงพระนิพพานได้สี่ระดับ ความบริบูรณ์ คือ

3.1 ตทังคนิพพาน เป็นผลของการเจริญสมถะ+วิปัสสนา+วิราคะ ปล่อยวางกิเลสได้พอควร แล้วเจริญอุปสมานุสติ น้อมพระนิพพาน จนสัมผัสนิพพานธาตุ (อมตธาตุ) จะได้นิพพานสัญญา นำมาจัดระเบียบชีวิตจิตใจและการธำรงธรรมใหม่ให้หมดจด เที่ยงตรงต่อพระนิพพาน นักปฏิบัติสามารถสัมผัสนิพพานนี้ได้ทุกขณะที่ปล่อยวางอารมณ์ในใจได้สุด เรียกว่านิพพานชั่วคราว  

3.2 วิขัมภนนิพพาน เป็นผลของการเข้าสมาบัติอันปราศจากกิเลสรบกวนต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้จะยังละกิเลสไม่สิ้นดี แต่แน่นิ่งอยู่ในสภาวะอันหมดจดเดียวอย่างมั่นคง ซึ่งพระอนาคามีจำนวนมาก และพระนิยตโพธิสัตว์ที่ใกล้ตรัสรู้แล้วได้นิพพานแบบนี้ เรียกว่านิพพานเพราะจิตหมดจดตั้งมั่น (ไร้การปรุง)

3.3 สมุจเฉทนิพพาน หรือ สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นผลของการเจริญสมถะ+วิปัสสนา+วิราคะ ปล่อยวางกิเลสสังโยชน์ได้หมดสิ้น เป็นพระอรหันต์ในโลก และยังมีชีวิตอยู่ เป็นอิสระจากขันธ์แต่ยังใช้ขันธ์กอปรธรรมกิจในโลกอยู่ เรียกว่านิพพานเพราะสิ้นสังโยชน์กิเลส

3.4 อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นผลจากการที่พระอรหันธ์สละทิ้งขันธ์โดยสิ้น เข้าสู่พระนิพพาน (อมตธาตุ) ถาวร พ้นความเกิดแก่เจ็บตายและทุกข์ในจักรวาลทั้งปวง เรียกว่านิพพานเพราะสิ้นขันธ์ถาวร

หยุดคิด หยุดจินตนาการ หยุดฟัง หยุดถาม ตั้งมั่น ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ ตั้งเป้าหมายที่ความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากสังโยชน์กิเลสเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง เมื่อการปฏิบัติหมดจดถึงที่เป็นมรรคสมังคีดีแล้ว จักแจ่มแจ้งด้วยจิตเองอย่างไร้ความกังขา หยุดแสวงหาอีกสิ้นเชิง
    

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

นิพพาน