Main navigation

ปฏิบัติได้ว่างแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติอะไรอีกแล้ว เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่

Q ถาม :

ท่านอาจารย์คะ มีนักปฏิบัติท่านหนึ่งบอกว่า เขาได้ว่างแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติอะไรอีกแล้ว รอเวลาตายก็เข้านิพพานเลย เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วหรือไม่คะ เราควรทำตามหรือไม่คะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เล่าเรื่องจริงให้ฟังดีกว่า

เรื่องที่หนึ่ง

มีหญิงคนหนึ่งไปกราบหลวงพ่อจรัญ และไม่กราบพระ บอกว่าตนได้ว่างแล้ว ไม่ต้องกราบพระ ไม่ต้องปฏิบัติอะไรอีกแล้ว  

หลวงพ่อมองหน้า (ถึงจิต) แล้วบอกว่า "อีตอแหล"

หญิงคนนั้นสะบัดหน้า ลุกขึ้น หายไปเลย

หลวงพ่อเลยสอนโยมที่นั่งอยู่ว่า "ว่างประสาอะไร ยังมีอารมณ์ มีตัวตนอยู่เลย" นั่นคือการทดสอบว่างที่พิสูจน์ผลชัด

เรื่องที่สอง

มีลูกศิษย์หลวงพ่ออุทัยคนหนึ่ง บอกว่า ตนปฏิบัติจนได้ว่างแล้ว เที่ยวคุยโม้ไปทั่ว

หลวงพ่อบอกว่า "ว่างที่ไหน ศีลยังไม่ได้เลย" ครูบาอาจารย์ท่านเห็นพฤติกรรมของศิษย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

ศิษย์ผู้เข้าใจว่าตนได้ว่าง จึงไม่ไปหาหลวงพ่ออีก เพราะหลวงพ่อไม่รับรองว่างของตน

เรื่องที่สาม

มีโยมไปนั่งเล่าให้หลวงพ่อเปลี่ยนฟังว่า ตนรู้จักนิพพานแล้ว เพราะได้จิตว่างแล้ว 

หลวงพ่อบอกทำนอง "โฮ่ย ความว่างปุถุชน บ่ใช่นิพพาน"

โยมคนนั้นเลยต้องเจริญกรรมฐานใหม่ ดีที่ยังเคารพเชื่อฟังหลวงพ่อ จึงไม่หลงผิดไป

เรื่องที่สี่

อาจารย์ไท้เก๊กจำนวนหนึ่งก็ได้จิตว่างจนมีพลัง แต่ก็ไม่บรรลุธรรม

เรื่องที่ห้า

ฤาษีจำนวนหนึ่งที่หิมาลัย เข้าสมาธิจนว่าง ตัวลอยได้ตามปรารถนา แต่ก็ไม่บรรลุธรรม

เรื่องที่หก

ท่านอาฬารดาบส และท่านอุทกดาบส เป็นผู้ได้ฌานว่างเป็นปกติแล้ว เมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธองค์ตั้งสัจจะเสด็จไปโปรด แต่ทั้งสองท่านมรณภาพแล้ว

พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "อาฬารดาบส อุทกดาบสถึงความฉิบหายแล้วหนอ" เพราะว่างนั้นยังไม่ใช่นิพพาน ไปแช่ในว่างจนไร้การปฏิบัติพัฒนาต่อ จึงทรงตรัสว่า ฉิบหายแล้ว

เรื่องที่เจ็ด

มานพสิบหกท่านเป็นศิษย์พราหมณ์พาวรี ปฏิบัติจริงจัง จนจิตว่างกันเป็นปกติ พอไปกราบพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละตัณหาในว่างบ้าง ละอุปาทานในว่างบ้าง ละตัวตนในว่างบ้าง ละราคะในว่างบ้าง ก็บรรลุธรรมกันหมดทุกท่าน

จากเจ็ดเรื่องจริงนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ธรรมชาติมีว่างในว่างหลายชั้น เช่นเดียวกับมีจิตในจิตหลายชั้น ต้องปล่อยวางว่างหนึ่ง ไปสู่ว่างที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น อมตะยิ่งขึ้น จนถึงนิพพาน


ว่างแห่งพระนิพพาน

ว่างแห่งพระนิพพานเป็น absolute ว่าง มีลักษณะดังนี้

1. ว่างนิพพานเป็นอัจจุตะ เป็นสภาวะไม่ตาย 
ถ้าว่างแล้วยังเกิดอีก (อรูปพรหม) ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

2. ว่างนิพพานเป็นอัจจันตะ เป็นสภาวะแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง 
ถ้าเดี๋ยวว่าง เดี๋ยววุ่น ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

3. ว่างนิพพานเป็นอสังขตะ ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก 
ถ้าว่างแล้วยังปรุงประกอบขันธ์ด้วยธาตุ อาหาร และกรรม ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

4. ว่างนิพพานเป็นอนุตตระ เป็นสภาวะที่ประเสริฐสุด ไม่มีสิ่งใดยิ่งกว่า
ถ้าว่างแล้วยังแสวงหาทรัพย์ ยศ สรรเสริญ สุข ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

5. ว่างนิพพานเป็นโลกุตตระ เหนือโลกทั้งปวง
ถ้าว่างแล้วยังนิยมสิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลกอยู่ ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

6. ว่างนิพพานเป็นอมตธาตุ เป็นสภาวะที่คงอยู่เช่นนั้นเองตลอดกาล
ถ้าว่างแล้ว ยังไม่อิสระเหนือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุว่าง วิญญาณธาตุ ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

7. ว่างนิพพานเป็นตัณหักขโย ไร้ตัณหา สิ้นเชื้อ
ถ้าว่างแล้ว อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ เช่น อยากรวย อยากเก่ง อยากมีบริวาร อยากเป็นที่ยอมรับ อยากดัง อยากให้เขารู้ว่าฉันว่างนะ ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

8. ว่างนิพพานเป็นว่างที่ทิฏฐิไม่อาศัย  
ถ้าว่างแล้วยังยึดความรู้ ทฤษฎี ความคิดเห็นใด ๆ ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

9. ว่างนิพพานเป็นสังโยชน์สูญ เป็นสภาวะที่ปราศจากตัวตน การผิดศีล ความลังเลสงสัย ความหมกมุ่นในกาม ความกระทบกระทั่ง ความยึดในรูป ความยึดในจิต ความดูหมิ่น ความฟุ้งซ่าน ความไม่รู้
ถ้าว่างแล้วยังมีสังโยชน์ตัวใดตัวหนึ่ง ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

10. ว่างนิพพานเป็นบรมสุข คือ สุขยิ่งกว่าสุขทั้งปวง
ถ้าว่างแล้วยังไม่สุขบรม ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

11. ว่างนิพพานเป็นบรมว่าง คือ ว่างยิ่งกว่าว่างทั้งปวง
ถ้าว่างแล้วยังไม่ว่างไม่สุดว่าง ว่างนั้นไม่ใช่นิพพาน

ตอบคำถามและแนะนำ

ถ้าได้ว่างนิด ๆ หน่อย ๆ แล้ว จะเหมาว่าฉันไม่ต้องปฏิบัติอะไรแล้ว ตายแล้วก็เข้านิพพานเลย นั่นเป็นความหลงผิด

ขนาดท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบสได้ว่างต่อเนื่องเป็นสมาบัติแล้ว เข้าใจว่าตนสุดแล้ว ยังนิพพานผิดที่ (มิจฉาวิมุตติ) เลย

สมัยหนุ่มน้อย เราปฏิบัติมาก ก็อยู่ในจิตว่างตลอดสามปี ว่างชนิดที่กายใจโปร่งโล่งไปหมด หาตนไม่เจอ ความฝันไม่มี ความคิดไม่มี ต้องจงใจคิดจึงคิดได้ แม้แต่คำพูดก็พูดเฉพาะจำเป็น ถามคำ ตอบคำ ถามหลายคำ ไม่ตอบเลย ช่วงนั้นเห็นโลกทั้งโลกว่างไปหมด ไม่เห็นใครเป็นอะไรเลย ไม่ให้ความสำคัญใด ๆ ในโลกเลย จิตลอยอิสระเหนือตลอด มีแต่สุขสงบล้วน ๆ ชีวิตนี้ไม่ต้องการอื่นใด จนเข้าใจว่าเรารักษาสภาวะนี้ให้มั่นคงก็พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีก

พอประมาณสามปี หลุดออกจากสภาวะว่างนั้น ซึ่งรู้สึกเสียดายที่สุด เสียดายยิ่งกว่าการสูญเสียสิ่งอื่นทั้งหมดในชีวิต แต่ปรากฏการณ์นั้นทำให้เรารู้ทันทีว่า ว่างนี้ยังไม่ใช่นิพพาน จากนั้นจึงมาจัดระบบการปฏิบัติใหม่ตามพุทธวิธีปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดรัดกุม และพยายามให้ครบถ้วนที่สุด และรักษาพุทธวิธีปฏิบัติธรรมทั้งระบบมาตลอด

ดังนั้น นักปฏิบัติควรใจเย็น ๆ การได้ว่างนี่ เป็นเรื่องปกติของนักปฏิบัติทุกคนจะต้องได้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรตื่นเต้น ยึดถือ หรือเอามาอวดกัน แต่ควร purify ว่างนั้นให้บริสุทธิ์ถึงที่สุด โดยปล่อยวางว่างนั้น เข้าสู่ว่างที่ประณีตหมดจดกว่า เข้าไปเรื่อย ๆ จนถึงว่างอมตะ

หากว่างใด กลับมาวุ่นได้ วางเลย

หากว่างใด อยากบอกให้คนรู้ว่าฉันว่าง วางเลย

หากว่างใด ไม่บรมว่าง (absolute ว่าง) วางเลย

หากว่างใด ไม่บรมสุข วางเลย

แล้วทำให้ถึงที่สุดจริง ด้วยการดับสังโยชน์ดับสิ้น แล้วจะพบ absolute ว่างที่อมตะ เป็นเช่นนั้นเองตลอดกาล

เมื่ออวิชชาสลายหมด ปรากฏพุทธะ ครั้นถึงกาลทิ้งขันธ์ ก็จักเข้านิพพานอัตโนมัติ แม้ไม่ได้ทำอะไรเลย

แต่ส่วนใหญ่ระหว่างทรงขันธ์ด้วยอรหัตตผลจิต ท่านก็นิยมเข้าสมาบัติ เพื่อความสบายแห่งขันธ์

และท่านที่มีอภิญญา นิยมเข้าฌานสมาบัติก่อนทิ้งขันธ์ เช่น พระพุทธองค์ทรงเข้าฌานทั้งแปด แล้วจึงเสด็จดับขันธ์ระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน

พระโมคคัลลานะ ก็เข้าสมาธิเหาะไปในอากาศ แล้วเจริญกสิณเผาสังขารกลางอากาศ เป็นต้น

ดังนั้น แม้สำเร็จอรหันต์ ก็สามารถทรงวิหารธรรมต่าง ๆ เพื่อความอยู่สบาย และไปอย่างหมดจดได้

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

ความว่าง การปล่อยวาง