วิญญาณ จิต มโน ตน เป็นสิ่งเดียวกันหรือ
เรียนท่านอาจารย์ครับ เห็นหนังสือธรรมะบางเล่มระบุว่า วิญญาณคือจิต จิตคือมโน มโนคือตน สี่อย่างนี้เป็นชื่อของสิ่งเดียวกัน เป็นตนที่ไปเกิดใหม่ อ่านแล้วก็ยังงง ๆ ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ
หากเปรียบชีวิตกับหลอดไฟ
กายคือกระเปาะหลอด
วิญญาณเป็นพลังงานธรรมชาติเปรียบได้กับอิเล็กตรอน
จิตเปรียบได้กับแสงสว่าง
มโนเปรียบได้กับธาตุภายในที่ถักสานวงจรให้แสงสว่างเกิด-ดับ ปรากฏเป็นสีและแบบต่าง ๆ
ตนเปรียบได้กับการนิยามว่า แสงสว่างนี้มีความเป็นเฉพาะที่แยกจากแสงสว่างอื่น ๆ เรียกว่าอัตตา เมื่อไม่นิยามใด ๆ อัตตาก็ไม่มี มีแต่กลไกธรรมชาติที่เป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า "อนัตตา"
เมื่อมองจากข้างนอกเข้าไป ก็เหมือนกับเป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนกับที่เรามองดูบ้านหลังหนึ่งจากข้างนอก เราก็จะเหมาสิ่งต่าง ๆ ภายในว่าเป็นบ้าน
แต่เมื่อมองจากข้างใน เราก็จะเห็นว่า บ้านประกอบไปด้วยห้องต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ แต่ละห้องประกอบไปด้วยวัตถุอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน เช่น ห้องครัวก็มีเตา หม้อ จาน มีด เขียง ตู้เย็น เป็นต้น ห้องนอนก็มีเตียงนอน ห้องน้ำก็มีสุขภัณฑ์ต่าง ๆ เมื่อมองเข้าไปในวัตถุอุปกรณ์แต่ละอย่าง ก็จะพบธาตุประกอบที่ต่างกัน เช่น เตาประกอบไปด้วยโลหะ หิน พลังให้ความร้อน ตู้เย็นประกอบไปด้วยโครงพลาสติกแข็ง ยาง ท่อโลหะ สารให้ความเย็น ไฟฟ้า เตียงประกอบไปด้วยฐานไม้ ที่นอน memory foam ผ้าห่มใยหิมะ หมอนไมโครไฟเบอร์ ห้องน้ำประกอบไปด้วย กระเบื้องดิน โถและอ่างเซรามิค ราวพลาสติก ผ้าเช็ดตัวคอตตอน น้ำ เป็นต้น
เช่นเดียวกับบุคคล มองข้างนอกก็เป็นสิ่งมีชีวิตแท่งหนึ่ง มองข้างในก็ประกอบไปด้วยองค์ประกอบจากธาตุที่ต่าง ๆ กันมากมาย ทำงานประสานกลไกกันอยู่
ดังนั้นจะเห็นเป็นสิ่งเดียวกันหรือต่างกัน อยู่ที่ตำแหน่งผู้มอง สิ่งที่มอง และความละเอียดที่เห็น
แม้จะเห็นเป็นอย่างไร กลไกเหล่านี้ (ตนสมมติ) ล้วนมีการปรุงประกอบกันเกิดขึ้น เพราะเกิดจากการปรุงประกอบ องค์ประกอบจึงบีบเค้นซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ ภาวะบีบเค้นเรียกว่า ทุกข์
เมื่อวิญญาณไปรับรู้ทุกข์ แสงจิตจึงปรากฏเศร้าหมอง ใจบันทึก (จำ) ไว้ว่า ภาวะทุกข์นี้ไม่สบาย ไม่น่ายินดี แล้วถักสานวงจร (ชุดความปรารถนา) หลบหลีกทุกข์
เมื่อหลบหลีกทุกข์สำเร็จ ทุกข์หายไป ภาวะที่เกิดแล้วดับหายไป เรียกว่า อนิจจัง
พระผู้มีพระภาคทรงพบกลไกเหล่านี้ จึงสรุปว่า
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ปล่อยวาง
เมื่อปล่อยวางได้หมด ก็ปรากฏ "พุทธะ"
พุทธะ เป็นภาวะบริสุทธิ์ ไม่ใช่วิญญาณ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ใจ ไม่ใช่อัตตา
พุทธะ มีธรรมชาติ รู้ ตื่น เบิกบาน ไม่ปนเปื้อน ไม่ประกอบ ไม่ปรุง ไม่เกิด ไม่ดับ อยู่ในความว่างบริสุทธิ์ตลอดกาล เรียกว่า นิพพาน