สังโยชน์และสังโยชนียธรรม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ภิกษุเถระมากด้วยกันได้สนทนากันว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน
สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ ก็สมัยนั้นแล ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมสนทนากันที่โรงกลมได้สนทนากันว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือสังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน
บรรดาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นภิกษุผู้เถระบางพวกพยากรณ์อย่างนี้ว่า สังโยชน์ก็ สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน บางพวกพยากรณ์อย่างนี้ว่า สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน
ก็สมัยนั้น จิตตคฤหบดีได้ไปยังบ้านส่วยชื่อมิคปถกะด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้สดับข่าวว่าภิกษุผู้เถระมากด้วยกันได้สนทนากันว่า ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ไหว้ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลายธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน ถ้ากระนั้นกระผมจักอุปมาให้ฟัง เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมเข้าใจเนื้อความแห่งภาษิตแม้ด้วยข้ออุปมา
เปรียบเหมือนโคดำตัวหนึ่งโคขาวตัวหนึ่ง เขาผูกด้วยทามหรือเชือกเส้นเดียวกัน ผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โคดำติดกับโคขาว โคขาวติดกับโคดำ ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกละหรือ
ภิกษุผู้เถระกล่าวว่า
ไม่ถูก คฤหบดี เพราะโคดำไม่ติดกับโคขาว แม้โคขาวก็ไม่ติดกับโคดำ ทามหรือเชือกที่ผูกโคทั้งสองนั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องผูก
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล จักษุไม่ติดกับรูป๑รูปไม่ติดกับจักษุ ฉันทราคะ๒ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
หูไม่ติดกับเสียง๑ เสียงไม่ติดกับหู ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียงทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
จมูกไม่ติดกับกลิ่น๑ กลิ่นไม่ติดกับจมูก ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่นทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
ลิ้นไม่ติดกับรส๑ รสไม่ติดกับลิ้น ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรสทั้ง ๒ นั้นชื่อว่าเป็นเครื่องติด
กายไม่ติดกับโผฏฐัพพะ๑ โผฏฐัพพะไม่ติดกับกาย ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
ใจไม่ติดกับธรรมารมณ์๑ ธรรมารมณ์ไม่ติดกับใจ ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
ภิกษุผู้เถระกล่าวว่า
ดูกรคฤหบดี การที่ปัญญาจักษุของท่านหยั่งทราบในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้ง ชื่อว่าเป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว
๑ จักษุ-รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น กาย-โผฏฐัพพะ ใจ-ธรรมารมณ์ เป็นสังโยชนียธรรม (ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์)
๒ ฉันทราคะเป็นสังโยชน์