Main navigation

ผู้ชนะในสนามรบ ๒

Q ถาม :

นักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๕ จำพวกเป็นไฉน

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

๕ จำพวกเป็นไฉน คือ

นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมฆ่าเขาตายทำลายเขาได้ นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๑

อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ญาติ เขากำลังถูกนำไปยังไม่ถึงหมู่ญาติ ทำกาละเสียในระหว่างทาง นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๒

อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ญาติ หมู่ญาติย่อมพยาบาลรักษาเขา เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ได้ทำกาละด้วยอาพาธนั้น นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก

อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ญาติ หมู่ญาติย่อมพยาบาลรักษาเขา เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ก็ได้หายจากอาพาธนั้น นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๔

อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมชนะสงครามแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม ยึดครองค่ายสงครามไว้ได้ นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๕

บุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุฉันนั้นเหมือนกัน ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอได้เห็นมาตุคามนุ่งห่มลับ ๆ ล่อ ๆ ในบ้านหรือในนิคมนั้น เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่มลับ ๆ ล่อ ๆ ราคะย่อมขจัดจิตของเธอ เธอมีจิตอันราคะขจัดแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความทุรพล เสพเมถุนธรรม นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๑

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอได้เห็นมาตุคามนุ่งห่มลับ ๆ ล่อ ๆ ในบ้านหรือนิคมนั้น เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่มลับ ๆ ล่อ ๆ ราคะย่อมขจัดจิตของเธอ เธอมีจิตอันราคะขจัดแล้ว ย่อมเร่าร้อนกาย เร่าร้อนจิต เธอจึงคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราควรไปอารามบอกพวกภิกษุว่าอาวุโส ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ถูกราคะครอบงำแล้ว ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์สืบต่อไปได้ จักทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอกำลังเดินไปอาราม ยังไม่ทันถึงอาราม ก็ทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ในระหว่างทาง นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๒

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา... เธอไปสู่อารามบอกพวกภิกษุว่า อาวุโส ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ...บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ พวกเพื่อนพรหมจรรย์จึงกล่าวสอน พร่ำสอนเธอว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ เปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยคบเพลิงมีทุกข์มาก... เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงมีทุกข์มาก... เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยของขอยืม มีทุกข์มา... เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยดาบและของมีคม มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยหอกและหลาว มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยโพรงไม้มีงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ขอท่านจงยินดียิ่งในพรหมจรรย์ จงอย่าทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์

เธออันพวกเพื่อนพรหมจรรย์กล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ก็จริง แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์สืบต่อไปได้ จักทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๓

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา... เธอไปสู่อารามบอกพวกภิกษุว่า ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ...บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ พวกเพื่อนพรหมจรรย์จึงกล่าวสอน พร่ำสอนเธอว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ เปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยคบเพลิงมีทุกข์มาก... เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงมีทุกข์มาก... เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยของขอยืม มีทุกข์มา... เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยดาบและของมีคม มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยหอกและหลาว มีทุกข์มาก... เปรียบด้วยโพรงไม้มีงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ขอท่านจงยินดียิ่งในพรหมจรรย์ จงอย่าทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์

เธออันพวกเพื่อนพรหมจรรย์กล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้าพเจ้าจักขะมักเขม้น จักทรงไว้ จักยินดียิ่ง จักไม่กระทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ณ บัดนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๔

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต รักษากาย รักษาวาจา รักษาจิต มีสติตั้งมั่นสำรวมอินทรีย์

เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วย่อมไม่ถือโดยนิมิต ย่อมไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ฟังเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...

รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือโดยนิมิต ย่อมไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ถึงความสำรวมในมนินทรีย์

เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง ย่อมนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

เธอย่อมละอภิชฌาในโลกเสีย ฯลฯ เธอละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพลได้แล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ เธอย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เธอย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตของเธอย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก นี้ชื่อว่าชัยชนะในสงครามของเธอ บุคคลแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๕

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ

 

 

ที่มา
โยธาชีวสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๗๖

คำที่เกี่ยวข้อง :

ความเพียร บวชแล้วสึก