Main navigation

ดับวิญญาณแล้วจะเข้าสู่ความมืด กลายเป็นอวิชชาไหม

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ มีการปฏิบัติธรรมประเด็นหนึ่งที่ผมสงสัยมานานมากแต่ยังไม่ได้เรียนถามท่านอาจารย์สักที พอมาพิจารณาขันธ์ พยายามลอกขันธ์ออก พอมาถึงวิญญาณก็ไม่รู้จะลอกอย่างไร เพราะวิญญาณเป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติ ถ้าเราดับวิญญาณ ก็ไม่เหลือรู้อะไรเลย เกรงว่าจะเข้าสู่ความมืด กลายเป็นอวิชชาไป เลยไปต่อไม่ได้ครับ ขอท่านอาจารย์กรุณาแนะนำด้วยครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เป็นคำถามที่ลึกซึ้งดีมาก เมื่อถามเรื่องลึกซึ้ง คำตอบก็หลีกเลี่ยงความลึกซึ้งไม่ได้ ดังนั้นค่อย ๆ  พิจารณาไปนะ

ธรรมชาติวิญญาณ

วิญญาณเป็นอรูปมีสภาพเป็นแสง ทำหน้าที่รู้ วิญญาณจะอยู่และเกิดและรู้ 3 ที่ คือ

1. วิญญาณเกิดและรู้ที่อายตนะ ได้แก่ วิญญาณที่จักษุประสาท วิญญาณที่โสตประสาท วิญญาณที่ฆานประสาท วิญญาณที่ชิวหาประสาท วิญญาณที่กายประสาท วิญญาณที่มโนทวาร วิญญาณทั้งหกนี้เป็นวิญญาณที่เกิดรู้ในระบบมนุษย์ 

2. วิญญาณเกิดและรู้ที่สังขาร จำได้ไหมในปฏิจจสมุปบาท เพราะสังขารมี วิญญาณจึงมี เมื่อมีจิตตสังขาร (อารมณ์, เจตนา) วิญญาณก็เกิดรู้ทันทีทันใด เมื่อจิตตสังขารสร้างวจีสังขาร (คิดตามความหมาย แล้วประกอบวาจา) วิญญาณก็เกิดรู้ตลอดกระบวนการ เมื่อจิตตสังขารและวจีสังขารขับเคลื่อนอากัปกิริยาทางกาย (ความทรงกาย, การจดจ่อของอายตนะ, การเคลื่อนไหวกาย) วิญญาณก็เกิดรู้ทุกขณะ วิญญาณทั้งสามเซ็ทนี้เป็นวิญญาณที่เกิดรู้ในการปรุงสังขาร และใช้สังขารทำกิจของมนุษย์ 

3. เมื่อชีวิตมีการพัฒนามาพอควร พลังนามธาตุทั้งหมดจะตกผลึกรวมกันเป็นมโน (ดวงใจ) วิญญาณธาตุก็เกาะรู้อยู่ที่ใจตลอด เนื่องจากใจทำงานไม่หยุด ความรู้สึกเป็น identity เฉพาะของแต่ละดวงใจจึงเกิดขึ้น เป็นบุคคลต่าง ๆ ครั้นกายหมดสภาพตายไป แต่ใจไม่ยอมตาย วิญญาณธาตุก็เกาะรู้ต่อเนื่อง และพากันไปเกิดในภพภูมิใหม่ หรือภพภูมิเดิมแต่มีชีวิตใหม่

แล้วที่มาของวิญญาณเหล่านั้นมาจากไหน

วิญญาณธาตุในธรรมชาติมีอยู่ในธรรมชาติทุกหนแห่งในจักรวาล เป็นแสงที่ละเอียดกว่าโฟตอน เหมือนอิเล็กตรอนที่มีอยู่ทุกหนแห่งในจักรวาล 

การเกิดและทำงานของวิญญาณในชีวิตก็คล้ายการเกิดของแสงโฟตอน ครั้นอิเล็กตรอนมีการเคลื่อนไหวเมื่อใด แสงโฟตอนก็เกิดขึ้นเรียกว่าฟ้าแลบ วิญญาณในชีวิตก็เช่นกัน ครั้นมีการประกอบสังขารเมื่อใด แสงวิญญาณก็เกิดขึ้นรู้ทันที ดังนั้นสังขารเป็นอย่างหนึ่ง วิญญาณเป็นอย่างหนึ่ง  

แม้จุลินชีพก็มีวิญญาณธาตุแต่ไม่มีมโนธาตุ ต้นไม้ก็มีวิญญาณธาตุแต่ไม่มีมโนธาตุ ดังนั้น วิญญาณธาตุเป็นอย่างหนึ่ง มโนธาตุเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อมโนทำงาน ก็มีวิญญาณธาตุเกาะรู้อยู่ที่มโนเสมอ เรียกว่ามโนวิญญาณ แต่วิญญาณสามารถอยู่ได้แม้ไม่มีมโน และมโนเมื่อไม่ทำกิจก็สามารถอยู่ได้แม้ไม่มีวิญญาณ

มนุษย์ เทวดา พรหม เดรัจฉาน เปรต นรก ทุกจักรวาล มีมโน ชีพอื่น ๆ ไม่มีมโน 


ขั้นของสภาวะ

1. ในชีวิตปกติ สัตว์โลกใช้วิญญาณรับรู้การทรงอยู่ และการเสพโลก ตัวเสพคืออายตนะ ตัวอยากเสพคือตัณหา วิญญาณเช่นนี้มีการเสียดสีมาก เกิดความร้อนโดยธรรมชาติ (อาทิตตปริยายสูตร)

2. ในดวงใจสัตว์ มีการปรุงอารมณ์ในการเสพ และมีการบันทึกไว้เป็นสัญญา (ความทรงจำ) ความทรงจำเดิมหล่อหลอมให้เกิดเจตนารูปแบบด้านต่าง ๆ ในทุกเจตนาก็มีวิญญาณเกิดรู้

หากเจตนาร้าย อารมณ์ก็ร้อน วิญญาณก็ร้อน (อกุศล)

หากเจตนาดี อารมณ์ก็เย็น วิญญาณก็เย็น (กุศล)

หากเจตนาสงัด อารมณ์ก็สงบ วิญญาณก็สงบ (สมาธิ)

เราจะเห็นได้ว่า วิญญาณเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาเป็นอย่างหนึ่ง เจตนาเป็นอย่างหนึ่ง

3. ในการพัฒนาจิตใจ สัตว์ทุกโลกในจักรวาล เมื่อมีประสบการณ์เรียนรู้ได้ที่แล้ว ก็จะพยายามพัฒนาจิตใจให้สงบสุขมากขึ้น

ขั้นสติ ใช้มนสิการ + วิญญาณรู้ตั้งมั่น ณ ปัจจุบันขณะ

ชั้นอุปจารสมาธิ ใช้สติ + วิญญาณรู้ + เจตนาลอก ละ ล้าง นิวรณ์ (อาการอกุศลอันเร่าร้อน) ออก

ชั้นรูปฌาน ใช้สติ + วิญญาณรู้ + มนสิการ ดับวจีสังขาร ลอก ละ ล้าง การปรุงแต่งกายสังขารแม้ประณีตออก ชำระจิตให้หมดจด

ชั้นอรูปฌาน ๑ ใช้สติ + วิญญาณรู้ + มนสิการ ลอกรูป และการเกาะเกี่ยวรูปออก น้อมเข้าสู่ความว่าง (อากาศธาตุ)

ชั้นอรูปฌาน ๒ ใช้สติ + วิญญาณรู้ + มนสิการ ลอกความว่าง และการเกาะเกี่ยวความว่างออก น้อมเข้าสู่รู้ล้วน ๆ (วิญญาณธาตุ) ในชั้นนี้จะเห็นวิญญาณธาตุธรรมชาติอันไร้ขอบเขต (วิญญาณังอนันตัง)

ชั้นอรูปฌาน ๓ ใช้สติ + มนสิการ (ใจ) ลอกวิญญาณออก น้อมเข้าสู่ความไร้อันไร้ขอบเขต (อากิญจัญญายตะ) ในชั้นนี้เมื่อไม่รู้ด้วยวิญญาณแล้ว ก็รู้ด้วยมโนธาตุโดยตรง การรู้ด้วยมโนธาตุจะบางเบากว่าการรู้ด้วยวิญญาณธาตุมาก

ชั้นอรูปฌาน ๔ ใช้มนสิการ (ใจ) ลอกความไร้ออก น้อมเข้าสู่สภาวะที่ละเอียดยิ่งกว่า ปรากฏว่า เหลือแต่สัญญาที่ไม่ทำงานอยู่ เพราะไม่มีวิญญาณรู้ (เนวสัญญานาสัญญายตนะ)

ชั้นนิโรธสมาบัติ ดับสัญญา ดับอทุกขมสุขเวทนา ดับใจ เข้าสู่นิโรธ สถิตย์เสถียร อยู่อย่างนั้น ไม่รับรู้อะไร ๆ ในโลก ในกาย ในใจ สมาบัตินี้ เป็นที่พักจากขันธ์สัมบูรณ์ เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้นเข้าได้ 

 

สิ่งที่เหลืออยู่หลังดับวิญญาณ

มีสอง scenarios 

สภาวะที่ ๑ เมื่อวิญญาณธาตุในอายตนะและสังขารดับ จะเหลือความไร้ และสัญญาในใจที่ไม่ทำงาน เมื่อสัญญาละเอียดเวทนาประณีตดับสนิทด้วย ก็เข้านิโรธ

สภาวะที่ ๒ เมื่อวิญญาณธาตุในใจดับพร้อมอวิชชาดับ จะเหลือพุทธะ "รู้ ตื่น เบิกบาน"

พุทธะคืออะไร

พุทธะเป็นผลสำเร็จของพุทธการกธรรม

จำได้ไหม ช่วงที่เราใช้ขันธ์พัฒนาสานสร้างกุศลมาเพื่อให้มโนสบาย วิญญาณเย็น หากการสร้างกุศลนั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ถึงขั้นปรมัตถปารมี ปรมัตถปารมีทั้งหมดเป็นพุทธการกธรรม พุทธการกธรรมจะกลั่นเป็นพุทธะ ที่สุดวิวัฒนาการของแต่ละบุคคล

พุทธะ ไม่ใช่ขันธ์ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ใจ เพียงใช้ขันธ์และจิตใจในการบ่มเพาะ เหมือนกับทารกไม่ใช่มดลูก แต่อาศัยมดลูกในการบ่มเพาะ ครั้นเติบโตแข็งแรงได้ที่ก็จะหลุดออกมาจากขันธ์ เรียกว่า "การหลุดพ้น"

กระนั้น เพื่อความเชื่อมโยงกับความเข้าใจเดิม บ้างก็เรียกพุทธะว่า "จิตสุดท้าย" บ้าง "จิตบริสุทธิ์" บ้าง "จิตหลุดพ้น" บ้าง พวกที่ไม่เกาะสัญญาเดิมก็เรียกว่า "พุทธะ" จะเรียกอย่างไรก็ได้ เพราะภาษาเป็นเพียงสมมติบัญญัติ เข้าถึงสภาวะให้สุดถึงจริง ก็ใช้ได้


สรุป

ดังนั้น สิ่งที่เหลืออยู่หลัง ดับวิญญาณแต่อวิชชายังไม่ดับ คือ ความไร้ ใจประณีตสุด และสัญญา

สิ่งที่เหลืออยู่หลัง ดับวิญญาณและอวิชชาดับพร้อม คือ "พุทธะ"

พุทธะคือ "รู้ ตื่น เบิกบาน บรมสุข ในบรมว่าง อันอมตะ" เป็นที่สุดแห่งวิวัฒนาการ


 

คำที่เกี่ยวข้อง :

ขันธ์ ๕ วิญญาณ สังขาร พุทธะ