Main navigation

ปฏิบัติแล้วจิตเป็นสุขมาก กลัวจะติดสุข ควรทำอย่างไร

Q ถาม :

ท่านอาจารย์คะ เมื่อเราปฏิบัติไปมาก ๆ จิตเป็นสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางครั้งก็เกรงว่าจะติดสุข ครั้นจะออกจากสุขก็เสียดาย จะทำอย่างไรดีคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

1. วิปัสสนาด้วยสุข perspective

เมื่อเราเป็นสุขอยู่ เราจะเห็นทุกข์ได้ชัดมาก เหมือนตอนที่เราดำอยู่ เราจะเห็นดำไม่ชัด เมื่อใดที่เราอยู่กับขาว เราจะเห็นดำชัด เช่นเดียวกัน ตอนที่เราทุกข์ จะเห็นทุกข์ไม่ชัด พอเราอยู่กับสุข เราจะเห็นทุกข์ชัดมาก ตัวอย่างเช่น เสียงรอบกาย ตอนเราเคยชินอยู่กับทุกข์แห่งการเสียดสีที่อายตนะ เราจะไม่รู้สึกทุกข์ แต่พอเราสุขในสมาธิ มีเสียงของหล่นนิดเดียวและเสียดสะท้านระบบประสาทมาก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "เสียงเป็นอุปสรรคของฌาน ๑"  ผู้ทรงสมาธิจึงยินดีในวิเวกอย่างยิ่ง และสลัดทุกข์และเหตุแห่งทุกข์แม้ละเอียดออกได้

2. วิปัสสนาตัวสุข

เมื่อเราเป็นสุขอยู่ด้วยสภาวะใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น วิเวก สมาธิ ญาณ วิโมกข์ แสงสว่าง ให้พิจารณาสุขนี้ยังต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่งหรือไม่

หากเป็นสุขที่ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง แม้เป็นสุขแต่อยู่บนโครงสร้างของจิตตสังขาร (ทุกข์) ให้ละสุขนั้นเสีย แล้วน้อมสู่สุขที่ประณีตกว่า

3. ยกระดับสุข

สุขมีสามระดับ คือ

สุขพื้นฐาน คือ สุขเวทนา อาศัยผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ควรละ

สุขขั้นกลาง คือ สุขสภาวะ อาศัยจิตหมดจดเกิดขึ้น ควรทำจิตให้หมดจดยิ่งขึ้น

สุขขั้นสูง คือ บรมสุข เป็นสุขที่เป็นเช่นนั้นเอง โดยปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง สุขนี้เป็นสุขแห่งพุทธะ เป็นสุขแห่งพระนิพพาน ควรทรงไว้เป็นปกติ

4. Purify สุข

ดังนั้น หน้าที่ของทุกคนคือ 

รู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์

เมื่อละเหตุแห่งทุกข์ ย่อมพบความสุขอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

Purify สุขให้บริสุทธิ์ จนไร้ปัจจัยปรุงแต่ง

ทำให้เสถียร จนเป็นเบิกบานเช่นนั้นเอง สุขอมตะ

5. ควรกลัวติดทุกข์มากกว่ากลัวติดสุข

เมื่อปฏิบัติตามลำดับเช่นนี้ ไม่ต้องกลัวติดสุขเลย ควรกลัวหลุดจากสุขไปหาทุกข์ และไปติดทุกข์เหมือนในอดีตมากกว่า

คำว่า "ติดสุข" ไม่ใช่พุทธบัญญัติ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติยุคนี้ที่ปฏิบัติยังไม่ทะลุสภาวะทั้งปวง บัญญัติขึ้นมาเอง บัญญัติมายึดแล้วก็ปิดกั้นพัฒนาการของตนเอง เพราะเมื่อปฏิเสธสุข ก็เท่ากับปฏิเสธนิพพาน เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า "นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง" ใครปฏิเสธสุข ก็เหมือนคนบอกว่าอย่าขึ้นยอดเขา เดี๋ยวจะติดความสุขสงบ ขณะที่นักธุดงค์แสวงหาที่ปฏิบัติอันสุขสงบในเขาลูกแล้วลูกเล่า และได้สภาวะยอดเยี่ยม

เมื่อเราปฏิบัติพุทธวิธี ก็ควรปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าตรง ๆ จะปลอดภัย และได้ผลสูงสุด

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

การปฏิบัติ จิต ความสุข ทุกข์