Main navigation

จิตกับใจต่างกันอย่างไร

Q ถาม :

กราบเรียนท่านอาจารย์ จิตกับใจแตกต่างกันอย่างไรครับ ในความคิดส่วนตัว จิตคือธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา ใจคือธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์รวม ๆ ที่ประกอบด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน บัญญัติ

จึงขอเรียนถามท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ ด้วยความเคารพอย่างสูง

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เพื่อจะเข้าใจจิตใจแจ่มแจ้ง เรามาดูทั้งภาพรวม และเจาะลึกโดยละเอียดตามลำดับการเกิด และการทำงานกันดู

ระดับ vision

เวลาเรามองสิ่งใดโดยภาพรวม มักจะเห็นเป็นก้อน เช่น ก้อนชำนาญ แต่พอเรามองลึกในรายละเอียด จะเห็นว่าก้อนเดียวนั้น มีก้อนย่อย ๆ ประกอบกันอยู่มากมาย เป็นอวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่ต่างกัน แต่ผสานร้อยร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ฉันใด "รู้" ก็เช่นกัน มองภายนอกโดยภาพรวม ก็คือรู้ทั้งหมด แต่พอมองละเอียดจะเห็นหลายปรากฏการณ์ เช่น วิญญาณก็รู้ สัมปชัญญะก็รู้ เวทนาก็รู้สึก สัญญาก็รู้ สติก็รู้ มนสิการก็รู้ สมาธิก็รู้ เจตนาก็รู้ วิปัสสนาก็รู้ ปัญญาก็รู้ จิตสำนึกก็รู้ น้อมก็รู้ วิมุตติก็รู้ พุทธะก็รู้ ทำงานร่วมกันบ้าง แยกกันบ้าง ระดับเดียวกันบ้าง ต่างระดับบ้าง


วิวัฒนาการแห่งรู้

รู้แรกคือ "วิญญาณธาตุ" ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ ปรากฏแจ้งในวิญญาณัญจายตนฌาน จะเห็นวิญญาณธาตุอันไร้ขอบเขต

รู้ที่สองคือ "อายตนวิญญาณ" ทันทีที่มีการประกอบชีวิต วิญญาณก็ปรากฏรู้พร้อม เช่น ในไวรัส แบคทีเรียเกิดขึ้นมีกายปรากฏ วิญญาณธาตุก็ประกอบรู้ เรียกว่า "กายวิญญาณ" (แม้ยังไม่มีใจ)

รู้ที่สามคือ "เวทนา" สิ่งใดมีวิญญาณธาตุ สิ่งนั้นรับรู้ได้ (แม้จุลชีพ ต้นไม้ สัตว์) ผลการรับรู้คือ "รู้สึก"

รู้ที่สี่ คือ "สัญญา" ผลการรับรู้จะมีการบันทึกอัตโนมัติ ระดับสัญญาขึ้นอยู่กับระดับความเข้มของเวทนา สัญญาประเภทเดียวกันก็จะรวมกลุ่มกัน เมื่อหนาแน่นได้ที่ก็กลายเป็นเจตสิก

รู้ที่ห้า คือ "จิตตสังขาร" อันประกอบด้วย อายตนวิญญาณ สัญเจตนา (สัญญา + เจตนา) มนสิการ (น้อมรู้สู่) 

รู้ที่หก คือ "ใจ" ผลการรู้ตลอดกระบวนการวิวัฒนาการหล่อหลอมเป็นดวงใจ ใจจึงเป็นที่รวมของรู้ทั้งห้านั้น และยังสร้างรู้ใหม่ ๆ ขึ้นอีกมากมาย เช่น โสมนัส โทมนัส ความปรารถนา ความรังเกียจ อารมณ์ มโนสำนึก จิตสำนึก อธิษฐาน กรรม เป็นต้น 

รู้ที่เจ็ด คือ "ปัญญา" เมื่อรู้ทั้งหมดข้างต้นพัฒนามาโดยมาก ก็เกิดการเรียน และการสรุปการเรียนรู้เป็นความรู้ และวิจัยวิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้เป็นปัญญา ทั้งพัฒนาใจให้ตกผลึกตั้งมั่น จนเกิดสติขึ้น ทั้งชำระสติให้หมดจดจนเป็นสมาธิ พัฒนาสมาธิให้ผ่องใสจนเกิดญาณขึ้น

รู้ที่แปด คือ "จิตสำนึก" เมื่อวิวัฒนาการสูงขึ้น จะหล่อหลอมให้เกิด จิตสำนึกแห่งการเลือกเฟ้นคุณค่า เป็นมาตรฐานการคิด การพูด การกระทำ และพัฒนาการต่าง ๆ

รู้ที่เก้า คือ "พุทธะ" เมื่อจิตสำนึกพัฒนาจนประเสริฐเต็มรอบ กลั่นความประเสริฐจนบริสุทธิ์จนถึงที่สุด ก็จะปรากฏรู้ใหม่ คือ "พุทธะ" เป็นที่สุดแห่งวิวัฒนาการ


Focus ที่จิตและใจ

จิต คือผลการรับรู้ของอายตนวิญญาณ จิตคือผลการการประกอบเจตสิกแห่งสัญญาในใจ จิตคือผลการทำงานของใจ

ใจ คือแหล่งรวมวิวัฒนาการฝ่ายนาม มีสารพัดรู้ในใจ และใจยังสร้างรู้ลึกซึ้งได้อีกมากมาย 

ปกติจิตกับใจจะทำงานร่วมกัน จึงมักเรียกรวม ๆ ว่า "จิตใจ" บางครั้งมองรวม ๆ เป็นก้อนรู้ ก็เรียกจิตว่าใจบ้าง เรียกใจว่าจิตบ้าง

เมื่อส่องรายละเอียดจนเห็นกลไกการทำงาน จึงรู้ชัดว่าเป็นคนละอย่างกัน เช่น เมื่อเข้าสมาธิลึกจนดับอายตนะและความคิดได้หมดแล้ว สนิทอยู่ในสมาบัติลึก ครั้นจะออก จะเห็นว่ามีพลังประณีตเคลื่อนออกมาจากใจ จากนั้นจิตจึงรับรู้ จากนั้นสมองจึงทำงาน จากนั้นกายจึงขยับ เป็นต้น ทำให้แจ่มแจ้งชัดเจนว่า ใจเป็นสิ่งหนึ่ง จิตเป็นสิ่งหนึ่ง สมองเป็นสิ่งหนึ่ง อายตนะบนเรือนกายเป็นสิ่งหนึ่ง โดยทำงานผสานต่อเนื่องกัน


โดยสรุป

วิญญาณธาตุ เป็นอิสระจาก จิต ใจ แต่ทำงานร่วมกับ จิต และใจได้

จิต ไม่เป็นอิสระจาก วิญญาณธาตุ และใจ เพราะเป็นผลการประกอบของวิญญาณธาตุ และผลการทำงานของใจ

ใจ เป็นอิสระจาก วิญญาณธาตุ และจิต  แต่ทำงานร่วมกับวิญญาณธาตุและจิตได้ ทั้งสามารถทำงานโดยไม่มีวิญญาณธาตุ และจิตได้ เช่น อนุสัย สังโยชน์ ความเข้าใจ นิพพานสัญญา อธิษฐาน อิสรภาพแห่งใจ

"พุทธะ" เป็นอิสระจากทั้งวิญญาณธาตุ ทั้งจิต ทั้งใจ แต่สั่งให้ทั้งสามธาตุทำงานได้ ทั้งสั่งให้ดับได้ พุทธะคือวิวัฒนาการสูงสุดของ "รู้" ไม่มีอะไรยิ่งกว่า บริสุทธิ์ อิสระ อมตะ ว่าง ตื่น เบิกบาน ตลอดกาล


 

คำที่เกี่ยวข้อง :

วิญญาณธาตุ จิต ใจ พุทธะ