Main navigation

อะไรทำงานเมื่อวิญญาณดับ

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ เมื่อเราดับวิญญาณธาตุในวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว น้อมเข้าสู่อากิญจัญญายตนฌาน อะไรเป็นผู้น้อมครับ เมื่อดับวิญญาณแล้ว จิตที่ยังทำงานได้นั่นคือ "จิตใต้สำนึก" ที่ซิกมันด์ ฟรอยด์พูดถึงใช่ไหมครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เพื่อแจ่มแจ้งภาพรวมทั้งระบบ เข้าใจสิ่งที่ซีคมุนท์ ฟร็อยท์พูดถึงก่อน แล้วมาดูสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้ง

ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ สังเกตว่าการที่มนุษย์แต่ละคนแสวงหาต่างกันนั้น น่าจะมี drive (ตัวขับเคลื่อน) ในจิตที่แตกต่างกัน เขาจึงพยายามวิเคราะห์วิจัยเข้าไปในจิตของตนเองว่า มีอะไรเป็น drive ที่ทำให้เขาปรารถนา และแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เขาก็พบว่าแรงขับสำคัญในจิตของเขาคือ "กาม" เขาจึงบัญญัติจิตที่กำลังทำงานรู้สึกตัวอยู่ชั้นนอกนี้เรียกว่า "จิตสำนึก" แต่ drive ตัวขับเคลื่อนที่แท้จริงข้างใน คือ "จิตใต้สำนึก" ซึ่งผลักดันให้จิตสำนึกแสวงหาเพื่อสนอง drive จากจิตใต้สำนึก

ถ้าจะเทียบเฉพาะส่วนที่ฟร็อยท์พบ กับการรู้แจ้งของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเรียกแรงขับเหล่านี้ว่า "อนุสัย" คือกิเลสที่นอนเนื่องในความทรงจำมายาวนาน ประกอบด้วย 

1. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความอยากได้ติดใจในการเสพผัสสะทั้งหลาย)

2. ปฏิฆะ (ความขัดใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ พยาบาท)

3. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด, การถือเอาความคิดเห็นว่าเป็นความจริง)

4. วิจิกิจฉา (ความลังเล, ความสงสัย)

5. มานะ (ความถือตัวว่าสูง ว่าต่ำ ว่าเสมอกับคนอื่น)

6. ภวราคะ (ความกำหนัดในความเป็น อยากดัง อยากยิ่งใหญ่ อยากเป็นที่ยอมรับ อยากยั่งยืน)

7. อวิชชา (ความไม่รู้สัจจะ และความรู้ผิดทั้งหลาย)

เหล่านี้ คือ drive ที่ผลักดันจิตใจให้ดิ้นรนไปอย่างเหน็ดเหนื่อย นานแสนนาน

  

การรู้แจ้งของพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสรู้ "สัพพัญญุตญาณ" คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวง แต่ญาณที่ทรงสอนและนำสาวกปฏิบัติมากที่สุดคือ "โพธิญาณ" คือญาณเพื่อการบรรลุธรรมพ้นทุกข์

ในเรื่องจิต พระพุทธองต์ทรงรู้แจ้งตั้งแต่ 1) จิตธาตุ 2) การเกิดแห่งจิต 3) การประกอบแห่งจิตธาตุกับธาตุอื่น 4) กลไกการทำงานของจิต 5) อาการของจิต 6) ความเสื่อมแห่งจิต 7) เหตุแห่งความเสื่อมของจิต 8) ความเจริญแห่งจิต 9) กระบวนการพัฒนาจิต 10) ความปกติของจิต 11) ความผิดปกติของจิต 12) การแก้ไขความผิดปกติของจิต 13) รสของจิต 14) ความเศร้าหมองแห่งจิต 15) ความผ่องใสแห่งจิต 16) ความจำกัดคับแคบแห่งจิต 17) ความไร้ขอบเขตแห่งจิต 18) ความไม่รู้แห่งจิต 19) ความรู้ผิดแห่งจิต 20) ความเป็นโทษแห่งจิต 21) ความหลงแห่งจิต 22) ความรู้จริงแห่งจิต 23) ความรู้แจ้งแห่งจิต 24) ความเป็นคุณแห่งจิต 25) อานุภาพแห่งจิต 26) ปาฏิหาริย์แห่งจิต 27) ความอิสระแห่งจิต 28) สภาวะต่าง ๆ ของจิต 29) วิหารธรรม ที่อยู่แห่งจิตต่างสภาวะ 30) ภพภูมิ สังคมแห่งจิตต่างคุณธรรม 31) การสืบต่อแห่งจิต 32) ความเป็นภาวะปรุงแต่งบีบคั้นกันเองแห่งจิต 33) ความไม่เที่ยงแห่งจิต 34) ความไม่เป็นตนแห่งจิต 35) การพักจิต 36) การดับจิต 37) ความบริสุทธิ์แห่งจิต 38) ความหลุดพ้นแห่งจิต 39) ความหลุดพ้นจากจิต และ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ ปรากฏอยู่ในอภิธรรมปิฏก

เปรียบความเข้าใจ

ดังนั้น สิ่งที่ฟร็อยท์พบ เป็นแง่งหนึ่งของเสี้ยวหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแจ่มแจ้ง แต่ก็เป็นการพยายามที่ดีของฟร็อยท์ ที่จริงอาจารย์จิตแพทย์คนหนึ่งของฟร็อยท์ก็เป็นชาวพุทธ

อะไรทำงานเมื่อวิญญาณดับ 

เมื่อวิญญาณดับ ใจทำงานต่อได้ แต่การทำงานของใจในอากิญจัญญายตนฌานก็ดี ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ดี ไม่ใช่จิตใต้สำนึก (drive ขับเคลื่อน) ของฟร็อยท์ เพราะจิตใต้สำนึกของฟร็อยท์หมายถึงแรงขับของกิเลส ซึ่งดับไปตั้งแต่ก่อนเข้าฌาน ๑ แล้ว

ใจที่ทำงานต่อหลังวิญญาณดับ คือ "มโนสำนึก" เป็นผลรวมของวิวัฒนาการที่บุคคลพัฒนา มโนสำนึกยังคง "มนสิการ" ได้ด้วยอำนาจใจเอง เพราะใจเป็นประธานในชีวิตทั้งปวง แม้ลูกน้องวิญญาณไม่อยู่ ประธานใจก็ยังคงทำงานได้

ระดับการ "รู้" ของชีวิต

1. รู้ด้วยวิญญาณธาตุ เช่น การรับรู้ด้วยระบบประสาททั้งหมด และใจที่มีวิญญาณเกาะ

2. รู้ด้วยสังขาร เช่น การปรุงความคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ คาดคะเนไปตามความหมายต่าง ๆ ถูกบ้างผิดบ้าง 

3. รู้ด้วยจินตนาการ ด้วยการเพ่งจิตดู เห็นเป็นภาพตามจินตนาการ

4. รู้ด้วยจิต เมื่อประกอบกับเจตสิกต่าง ๆ จำแนกภาวะใหญ่ ๆ ได้ 121 ภาวะ จำแนกละเอียดจะได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าภาวะ

5. รู้ด้วยใจ เมื่อประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ ในธรรมชาติ ซึ่งมี 24 ปัจจัย ประกอบกันแล้วในสัดส่วนต่าง ๆ กัน สามารถผันแปรไปได้ 9,800,000 ภาวะ ดังปรากฏอยู่ในมหาปัฏฐาน อภิธรรมปิฏก

6. รู้ด้วยจิตที่ไม่ประกอบกับอะไรเลย นอกจากจิตธาตุเอง เป็น "จิตรู้จิต" เป็นสภาวะพร้อมรู้สิ่งต่างอย่างเที่ยงตรง

7. รู้ด้วย "จิตสำนึก" ที่พัฒนาปัญญามาพอควรแล้ว รู้ชัดใน คุณ-โทษ บุญ-บาป สิ่งที่ควร-สิ่งที่ไม่ควร จนหล่อหลอม set of value เป็นหลักในการรับรู้ พิจารณาตัดสินสิ่งต่าง ๆ ในจิตใจ ชีวิต สังคม โลก และธรรมชาติ

8. รู้ด้วยใจที่กลั่นบริสุทธิ์ ออกจากปัจจัยปรุงแต่งแล้วพอควร เป็นผลรวมแห่งวิวัฒนาการ เหลือรู้เป็น "มโนสำนึก" ลึกกว่าจิตสำนึก เป็นศักยภาพเฉพาะบุคคล ต่างกันไปตามระดับวิวัฒนาการที่ไม่เท่ากัน

9. รู้ด้วยญาณ เป็นการรู้เห็นแจ่มแจ้ง ปรากฏเมื่อจิตหมดจด ใจหมดจด ปรากฏแสงบริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่นได้ที่ จะรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องพยายาม อริยชนชั้นเลิศสามารถรู้ได้ 67 ญาณ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถรู้ 73 ญาณ ดังปรากฏอยู่ในปฏิสัมภิทามรรค

10. รู้ด้วยพุทธะ เป็นรู้ ตื่น เบิกบาน เมื่อเป็นอิสระหลุดพ้นจากปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวง

11. รู้ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นปัญญาญาณสูงสุดที่บุคคลเข้าถึงได้ จักรู้ความจริงแท้แห่งความมีอยู่เป็นอยู่ทั้งหลาย และรู้ความบริสุทธิ์อย่างอมตะ รู้นี้จะไม่เหมือนรู้ทั้งหมดที่ร่ำเรียนและประสบมาตลอดกระบวนการวิวัฒนาการ เป็นรู้ใหม่ที่หมดจด เที่ยงตรง ลึกซึ้ง แทงตลอด อย่างที่ไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อน ไม่มีรู้ใด ๆ ในจักรวาลเทียบได้

12. รู้ด้วยสัพพัญญุตญาณ รู้แจ้งสิ่งทั้งปวงโดยทันใด อย่างไม่มีอะไรปิดกั้นได้ ญาณนี้ปรากฏกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น 

นี่คือตัวอย่าง "รู้" ที่สำคัญ ๆ  


สรุป

ดังนั้น 

ในรู้ยังมีรู้อีก  

เหนือรู้ยังมีรู้อีก  

พัฒนารู้ให้บริสุทธิ์

อย่าหยุดที่รู้เล็กน้อย 

อย่ายึดรู้ที่หลงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่สุดของ "รู้" ต้อง ตื่น เบิกบาน บริสุทธิ์ อมตะ  

เมื่อนั้นก็จบกิจวิวัฒนาการ ไม่ต้องแสวงหารู้ใด ๆ อีก

 

 

ที่มา
10 March 2023

คำที่เกี่ยวข้อง :

วิญญาณ ญาณ ใจ