Main navigation

ปัญญา กรุณา บริสุทธิ์ ควรให้ความสำคัญกับคุณธรรมใดก่อน

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ ถ้าเราจะดำเนินชีวิตด้วยปัญญา กรุณา บริสุทธิ์ เราควรเลือกให้ความสำคัญกับคุณธรรมใดก่อนครับ กราบขอบพระคุณครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ลึกซึ้งมาก ดีมากที่ถามคำถามเช่นนี้

การให้ความสำคัญกับคุณพิเศษเหล่านี้ต่างกัน มีผลต่อวิถีจิต วิถีสัมพันธ์ วิถีวิวัฒนาการ และวิถีบรรลุธรรมต่างกันมาก


หากเลือกกรุณาก่อน 

กรุณาเป็นคุณธรรมที่ปฏิบัติได้โดยง่าย คนดีส่วนใหญ่เริ่มตรงนี้ แต่ข้อเสียคือจะผ่านขั้นตอนยาวนานมากกว่าจะบรรลุธรรม ต้องเรียนรู้และผ่านให้ได้ซึ่งบทเรียนแห่ง

๑. ความดีที่หน่อมแน้ม ดีจนไร้เดียงสา จนกลายเป็นเหยื่อของคนเลว

๒. ความดีที่มักง่ายประมาท จนพลัดตกไปสู่ความเลวเนือง ๆ

๓. ดีจนล้น เสพติดความดี อยากแต่จะทำดี จนไม่เห็นความเหมาะสม

๔. ดีจนหลาม บ้าดี อยากให้ความดีของตนไหลบ่าไป จนเกินความพอเหมาะพอดีที่ให้ผลดีไปมาก

๕. ดีจนปั้นตัวตนแห่งคนดี มานะกิเลสเกิดขึ้น

๖. ดีจนทนถึก เมาดี สามารถอดทนต่อกิเลสของคนอื่นได้ด้วยความภูมิใจ แต่ระบบขันธ์เสียหาย 

๗. ดีจนเสียสละได้ทุกสิ่งเพื่อดี หลงดี แม้ชาวโลกจะยกย่อง แต่ระบบความเป็นธรรมเสียหาย กลายเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดระบบบาปในโลก

ดังนั้น กรุณาอย่างเดียว อันตราย คนดีส่วนใหญ่จะตกหลุมนี้กันยาวนานหลายอสงไขย แม้โลกก็ยอมรับว่าดี แต่ผลเสียก็ตามมามาก


หากเลือกปัญญาก่อน

ปัญญาเป็นคุณธรรมจำเป็นที่ผู้คนปรารถนากันมาก ปฏิบัติได้ยากกว่ากรุณา แต่ข้อเสียคือจะผ่านขั้นตอนโลดโผนมากกว่าจะบรรลุธรรม ต้องเรียนรู้และผ่านให้ได้ซึ่งบทเรียนแห่ง

๑. ความอยากรู้อยากเห็นไปทั่ว ต้องแสวงหาแล้วแสวงหาอีก เพื่อสนองความอยากรู้นั้น มีภาระมากกว่าคนทั่วไป จนชีวิตมักขาดสมดุล

๒. ยิ่งแสวงหามาก ก็ยิ่งสะสมข้อมูลมาก จนสัญญาบวม (ความทรงจำบวม)

๓. ยิ่งรู้มาก ยิ่งสงสัยมาก กลายเป็นคนขี้สงสัย (สัญญาไม่ลงตัว) เจออะไรก็ไม่เชื่อไว้ก่อน ความสัมพันธ์กับผู้คนคับแคบ 

๔. ยิ่งสงสัย ก็ยิ่งคิดมาก คิดมากก็ฟุ้งซ่านมาก จิตใจไม่สงบ อ่อนแอ เข้าสมาธิยาก

๕. ยิ่งฟุ้งซ่านมาก โมหะก็งอกงามมาก เพราะความฟุ้งซ่านเป็นการทำงานของโมหะโดยตรง

๖. ยิ่งโมหะงอกงามมาก ความหลงผิดก็มาก

๗. ยิ่งความหลงผิดมาก ทิฏฐิ (การยึดความเห็นเฉพาะด้านก็มาก)

๘. ยิ่งทิฏฐิ การยึดความเห็นเฉพาะด้านมาก อาจทำให้รู้ลึก แต่โง่กว้าง

๙. ยิ่งรู้ลึก แต่โง่กว้าง ก็ยิ่งกระทบกระทั่งกับทิฏฐิต่างความเห็นมาก

๑๐. ยิ่งกระทบกระทั่งมาก ปฏิฆะ ความหงุดหงิดรำคาญก็แตกตัวบานปลาย

๑๑.  ยิ่งปฏิฆะ หงุดหงิดรำคาญบานปลายมาก ก็ยิ่งอยากเอาชนะคะคานกัน มานะกิเลสเกิด

๑๒. ยิ่งมานะกิเลสเกิดมาก ก็ยิ่งสร้างศัตรูมาก

๑๓. ยิ่งสร้างศัตรูมาก บาปกรรมก็เกิดมาก ความสัมพันธ์พินาศไปทีละหย่อม ๆ

๑๔. ยิ่งบาปกรรมเกิดมาก ชีวิตก็ทุรเข็ญ

๑๕. ตกหลุมมายาแห่งปัญญาชนที่ตนและคนพวกเดียวกันปั้นกันขึ้นมาเอง ทั้ง ๆ ที่อวิชชายังบานเบอะแต่ตั้งตนเป็นปัญญาชน เป็นการหลอกตน หลอกคนอื่น โดยไม่รู้ตัว

๑๖. ยิ่งตกหลุมมายาแห่งปัญญาชนลึก ชีวิตก็ยิ่งเสียสมดุล เพราะค่าของคนมีมากกว่าความรู้หลายเท่า

๑๗. แม้คนที่ปัญญาน้อยกว่ายอมรับบ้างหรือมาก แต่ก็พากันวนเวียนอยู่ในวัฏฏะทุกข์ต่อไป

ดังนั้น ปัญญาอย่างเดียว เหมือนคนบ้าความโลดโผน ขึ้นเขาลงห้วย รถไฟตีลังกาครั้งแล้วครั้งเล่าเพียงเพื่อจะหาความรู้นิดเดียวที่ไม่ได้พาตนพ้นทุกข์เลย มีแต่เพิ่มทุกข์ให้แก่ตน


หากเลือกความบริสุทธิ์ก่อน

ความบริสุทธิ์คือที่สุดของทุกสิ่ง เป็นที่ยอมรับยกย่องให้ค่ามาก ปฏิบัติได้ยากกว่ากรุณาและปัญญา แต่หากตั้งความบริสุทธิ์ขึ้นมาก่อน ต้องเรียนรู้และผ่านจุดอ่อนให้ได้ซึ่งบทเรียนแห่ง

๑. ความบริสุทธิ์ที่ซื่อบื้อ เจตนาบริสุทธิ์จนไร้วิจารณญาณ ขาดปัญญาประเมินผลต่อเนื่อง

๒. ความบริสุทธิ์ที่เซ่อซ่า เจตนาบริสุทธิ์จนเหมาเอาเองว่าคนอื่นต้องจริงใจบริสุทธิ์เหมือนตน ในขณะที่ทุกคนไม่เหมือนกัน จึงตกเป็นเหยื่อของผู้มีเจตนาไม่หมดจดมีกิเลสแอบแฝงอยู่เนือง ๆ

๓. ความบริสุทธิ์ที่อ้าซ่า เจตนาบริสุทธิ์จนเข้าใจไปว่าตนจะรับได้ทุกอย่างโดยไม่ปนเปื้อนกิเลสของใคร แต่กิเลสเป็นลูกหลานอวิชชาที่ครองโลกมานาน มีสารพัดเล่ห์กลยุทธ์ที่จะล่อให้จิตติดกับดัก จึงตกเป็นเหยื่อของผู้มีกิเลสแอบแฝงอยู่เป็นระยะ ๆ

๔. ความบริสุทธิ์ที่ไม่มีปราการ เจตนาบริสุทธิ์จนลืมตั้งปราการแห่งปาริสุทธิศีลไว้ป้องกันภัย กรรมจึงไหลเข้าบ้าง รั่วออกบ้าง 

๕. ความบริสุทธิ์ที่ยึดปราการ เจตนาบริสุทธิ์และตั้งปราการแห่งปาริสุทธิศีลไว้ป้องกันภัยแล้ว แต่ยึดปราการเอาเป็นเอาตาย กลายเป็นสีลัพพตุปาทาน จึงได้แค่ศีลบริสุทธิ์ อย่างอื่นไม่บริสุทธิ์ จนเป็นแค่ความบริสุทธิ์คับแคบเฉพาะส่วน

๖. ความบริสุทธิ์ที่ไม่มีฐานที่มั่น เจตนาบริสุทธิ์แต่ไม่สถาปนาสติหมดจดแห่งสมาธิเป็นฐานที่มั่น ความบริสุทธิ์จึงเลื่อนลอย ผันไปตามสถานการณ์

๗. ความบริสุทธิ์ที่ปัญญาตามไม่ทัน เพราะเน้นความบริสุทธิ์ก่อน แต่ในการกลั่นบริสุทธิ์ต้องใช้สมาธิและปัญญามาก แม้ชาวโลกจะยกย่องแล้วว่าเป็นคนสะอาด เมื่อพัฒนาปัญญาไม่ทัน ไม่เพียงพอ ความบริสุทธิ์จึงไม่สะอาดจริง

ดังนั้น เน้นความบริสุทธิ์อย่างเดียวก็ฉลาดขึ้น เพราะความบริสุทธิ์คือเป้าหมาย แต่เจตนาบริสุทธิ์ก็ดี มุ่งบริสุทธิ์ก็ดี ยังไม่ใช่จิตบริสุทธิ์ ยังไม่ใช่ Absolute Purity แห่งพระนิพพาน


แล้วจะทำอย่างไรดี

ดีที่สุดคือ พัฒนา บริหาร ปรับความพอเหมาะพอดี ของความบริสุทธิ์ ปัญญา กรุณา ให้สมดุลกันไปตลอดทางจนบริบูรณ์ไปพร้อมกัน จะได้ผลดีที่สุด บริบูรณ์ที่สุด เร็วที่สุด ทรงตัวดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ประสิทธิภาพสูงสุด ประสิทธิผลสูงสุด คุ้มค่าสูงสุด ซึ่งทำให้ได้กรุณาแท้จริง ปัญญาแท้จริง บริสุทธิ์แท้จริง

ทำอย่างไร มีกระบวนการประณีตที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นมาก

ตอนนี้พวกเราจำนวนหนึ่งยังติดอยู่กับกรุณาเทียม ปัญญาเทียม บริสุทธิ์เทียม แบบชาวโลกทั่วไปอยู่ 

ดังนั้น ให้พวกเราเตรียมความพร้อมด้วยการปฏิบัติกันให้จริงจังอย่างพอเหมาะพอดีสู่ผล อย่าย่อหย่อน อย่าให้กิเลสของใครรุกเข้ามาในจิตใจ หรือในระบบ หากพบต้องเด็ดขาดทันที และสัมมัปปธาน อย่าให้กิเลสมาแอบอิงอาศัยในจิตและในกิจใด ๆ เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ต้องละขาด หลายคนที่ต้องออกไปเพราะเอากิเลสมาแพร่ระบาด 

และเมื่ออยู่ในหมู่ จงหันคุณธรรมที่ลงตัวกันโดยธรรมเข้าหากัน เพราะคุณธรรมเป็นคุณที่ต้องใช้มาก ทั้งในการล้างกิเลส ทั้งในการดำรงอยู่โดยชอบและปลอดภัย ทั้งในธรรมสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งในการบรรลุธรรม ทั้งในการส่งสู่สุคโต ผู้ที่เจริญที่นี่คือผู้ที่มีคุณธรรมโดดเด่น

ต่อไปนี้ มูลนิธิจะสอนเข้ม ฝึกเข้ม วัดผลเข้ม พัฒนาเข้ม ในคุณเหล่านี้ยิ่งขึ้น คนจริง ปฏิบัติจริงตรงตามพุทธวิธี จักได้กรุณาแท้จริง ปัญญาแท้จริง บริสุทธิ์แท้จริง ตามมาตรฐานพระพุทธองค์
 

 

 

ที่มา
23 May 2023