พระพุทธดำรัสและพระสารีบุตโตวาท พระนิพพาน คลิก
(๑) ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้วมีอยู่ ถ้าว่าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย
ก็เพราะเหตุที่ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้วมีอยู่ ฉะนั้นการสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏ
ธรรมชาติอันเกิดแล้ว มีแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว อันปัจจัยทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว ไม่ยั่งยืน ระคนแล้วด้วยชราและมรณะ เป็นรังแห่งโรค ผุผัง มีอาหารและตัณหา เป็นแดนเกิด ไม่ควรเพื่อยินดีธรรมชาตินั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาตินั้น เป็นบทอันระงับ จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ยั่งยืนไม่เกิด ไม่เกิดขึ้นพร้อม ไม่มีความโศก ปราศจากธุลีความดับแห่งทุกขธรรมทั้งหลาย คือ ความที่สังขารสงบระงับเป็นสุข
(๒) เมื่อบุคคลผู้เสวยธรรมเป็นที่สิ้นราคะ เป็นที่สิ้นโทสะ เป็นที่สิ้นโมหะ ไม่มีส่วนเหลือ นิพพานย่อมเป็นคุณชาติอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
(๓) นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ ๒ ประการเป็นไฉน คือ
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นยังตั้งอยู่
ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้ของภิกษุนั้นเป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จักเย็น (ดับ)
นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล
นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ พระตถาคตผู้มีจักษุผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว ผู้คงที่ประกาศไว้แล้ว อันนิพพานธาตุอย่างหนึ่งมีในปัจจุบันนี้ ชื่อว่าสอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ
ส่วนนิพพานธาตุ (อีกอย่างหนึ่ง) เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง อันมีในเบื้องหน้า ชื่อว่าอนุปาทิเสส
ชนเหล่าใดรู้บทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งแล้วนี้ มีจิตหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ชนเหล่านั้นยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้นกิเลสเพราะบรรลุธรรมอันเป็นสาระ เป็นผู้คงที่ ละภพได้ทั้งหมด
(๔) ปฏิปทาอันเป็นอุปการะแก่นิพพานนั้นเป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ย่อมเห็นว่า
จักษุไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
รูปทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จักษุวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จักษุสัมผัสไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แม้สุขเวทนา ทุกข์เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
หูไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เสียงทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
โสตวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
โสตสัมผัสไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แม้สุขเวทนา ทุกข์เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จมูกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
กลิ่นทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ฆานวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ฆานสัมผัสไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แม้สุขเวทนา ทุกข์เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ลิ้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
รสทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ชิวหาวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ชิวหาสัมผัสไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แม้สุขเวทนา ทุกข์เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
กายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
โผฏฐัพพะทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
กายวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
กายสัมผัสไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แม้สุขเวทนา ทุกข์เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ธรรมารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
มโนวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
มโนสัมผัสไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ แม้ในรูป แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้ใน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในหู แม้ในเสียง แม้ในโสตวิญญาณ แม้ในโสตสัมผัส แม้ใน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจมูก แม้ในกลิ่น แม้ในชิวหาวิญญาณ แม้ในชิวหาสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในลิ้น แม้ในรส แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้ใน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย แม้ในโผฏฐัพพะ แม้ในกายวิญญาณ แม้ในกายสัมผัส แม้ใน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ แม้ในธรรมารมณ์ แม้ในมโนวิญญาณ แม้ในมโนสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
นี้เป็นปฏิปทาอันเป็นอุปการะแก่นิพพาน
(๕) เหตุปัจจัยเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน
สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า
นี้หานิภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายเสื่อม)
นี้ฐิติภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายดำรงอยู่)
นี้วิเสสภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายวิเศษ)
นี้นิพเพธภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายชำแรกกิเลส)
นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน
เหตุปัจจัยเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ปรินิพพานในปัจจุบัน
สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่า
นี้หานิภาคิยสัญญา
นี้ฐิติภาคิยสัญญา
นี้วิเสสภาคิยสัญญา
นี้นิพเพธภาคิยสัญญา
นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ปรินิพพานในปัจจุบัน
(๖) ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
เธอไม่ประกอบด้วยขันติที่สมควรแล้ว จักก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน ข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อไม่ก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน จักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตผลข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้
เธอประกอบด้วยขันติที่สมควรแล้ว จักก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน จักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตผล ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้
ผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน
(๗) นรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักบิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่
บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน
อนึ่ง นรชนบังคับจิตให้กลับจากสังขารธาตุอันเป็นไปในไตรภูมิทั้งปวง น้อมจิตเข้าไปในอมตธาตะว่า
ธรรมชาติใด คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนแห่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกตัณหา ความดับตัณหา ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ธรรมชาตินี้สงบ ประณีต แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้ทานเพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไป โดยส่วนเดียว
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เจริญฌานเพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ เพื่อภพต่อไป แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเจริญฌานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไปโดยส่วนเดียว
บัณฑิตเหล่านั้นมุ่งนิพพาน มีจิตเอนไปในนิพพานน้อมจิตไปในนิพพาน ย่อมให้ทาน
บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า เหมือนแม่น้ำทั้งหลายไหลไปสู่ทะเล ฉะนั้น
อ้างอิง :
(๑) อชาตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๒๑
(๒) นิพพุตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๙๕ หน้า ๑๕๒-๑๕๔
(๓) ธาตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๒๒ หน้า ๑๙๒
(๔) สัปปายสูตรที่ ๑-๔ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๒๓๒-๒๓๕ หน้า ๑๓๗-๑๔๐
(๕) นิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๗๙ หน้า ๑๖๑-๑๖๒
(๖) นิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๗๒
(๗) อัตตทัณฑสุตตนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๘๒๕