พระพุทธบัญญัติจีวร
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคิรีชนบท ทรงทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างด้วยคันนาสั้น ๆ เชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไป ครั้นแล้วรับสั่งกะพระอานนท์ว่าสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับจากทักขิณาคิรีชนบท มายังพระนครราชคฤห์ ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้า ถวายการแต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูปให้ทรงทอดพระเนตร
พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญว่า ท่านพระอานนท์ผู้ฉลาด ซาบซึ้งเนื้อความที่พระพุทธองค์กล่าวย่อได้โดยกว้างขวางว่า พระอานนท์ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่ออนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะก็ได้ และทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้
จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้วเศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ แล้วทรงอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตราสงค์ตัด ผ้าอันตรวาสกตัด
พระพุทธานุญาตไตรจีวร
ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลจากพระนครราชคฤห์ไปทางพระนครเวสาลี ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายรูปหอบผ้าพะรุงพะรัง ทูนขึ้นบนศีรษะบ้าง แบกขึ้นบ่าบ้าง กะเดียดไว้ที่สะเอวบ้าง จึงทรงดำริว่าภิกษุเหล่านี้เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็ว จึงทรงดำริตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ ทรงผ้าจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตอนกลางคืนขณะน้ำค้างตกในคืนเหมันตฤดูกำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔ ต่อกัน ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค
เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สอง ความหนาวไม่ได้มีแก่พระองค์
เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สาม ความหนาวไม่ได้มีแก่พระองค์
เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่งราตรี ความหนาวได้มีแก่พระผู้มีพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สี่ ความหนาวไม่ได้มีแก่พระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน จึงทรงอนุญาตผ้าสามผืนเป็นไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว
พระพุทธบัญญัติอดิเรกจีวร
พระฉัพพัคคีย์ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไตรจีวร จึงใช้จีวรสำรับหนึ่งสำหรับเข้าบ้าน สำรับหนึ่งสำหรับอยู่ในอาราม สำรับหนึ่งสำหรับลงสรงน้ำ จึงเป็นที่โพนทะนาแก่ภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย
พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร รูปใดทรง พึงปรับอาบัติตามธรรม
สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ และท่านประสงค์จะถวายจีวรนั้นแด่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต อีก ๙ หรือ ๑๐ วันจึงจะกลับมา
พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างมาก
พระพุทธานุญาตคหบดีจีวร ๖ ชนิด
เนื่องด้วยภิกษุทั้งหลายมีความปริวิตกว่าจีวรทั้งเนื้อดีและเลวเกิดขึ้นแก่สงฆ์ จีวรชนิดใดที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ชนิดใดไม่ทรงอนุญาต
พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตจีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยของเจือกัน ๑
สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่ยินดีคหบดีจีวรนั้นพากันรังเกียจ ไม่ยินดีผ้าบังสุกุล พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสอนุญาตให้ภิกษุผู้ยินดีคหบดีจีวรยินดีผ้าบังสุกุลได้ แต่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรทั้งสองนั้น
อ่าน พระพุทธบัญบัญติจีวร
อ่าน พระพุทธานุญาตคหบดีจีวร