Main navigation

การให้ที่เป็นกิเลส และการให้ที่เป็นคุณธรรม

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ ผมได้ฟังอาจารย์ที่ท่านสอนมหาปัฏฐานบอกว่า ทำกุศลแล้วอกุศลเกิดขึ้นก็มี การให้ที่เป็นกิเลสก็มี การให้ที่เป็นคุณธรรมก็มี มีด้วยหรือครับ เราจำกันมาตลอดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ขอความกรุณาท่านอาจารย์ไขข้อกังขาให้ด้วยครับ เรื่องนี้ถ้าเป็นจริงจะเปลี่ยนมุมมองเรื่องการทำดีทำชั่วเลย ไม่อยากคิดไปเองครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

การให้ที่เป็นกิเลสมีสองประเภท การให้ที่เป็นคุณธรรมก็มีสองประเภท นอกจากนั้นยังมีการให้ที่ผสมผสานกันระหว่างกิเลสและคุณธรรมอีกหกประเภท

การให้ที่เป็นกิเลส ๑ - ให้เพราะกิเลส

เช่น การทำบุญเอาหน้า (โลภะ) ชอบชวนคนไปเยอะ ๆ (ล่าบริวาร) เยินยอให้เกิดความหลงใหลเกินจริง (โมหะ)

ผล : คนทำบุญเอาหน้า ล่าบริวาร ต้องไปเป็นเปรต แม้จะทำมากแค่ไหนก็ตาม เพราะตั้งจิตผิดตั้งแต่ต้น

หรือ การแจกทรัพย์สิ่งของแก่คนเพื่อให้ฉันเป็นที่รัก โดยไม่ได้ประเมินความเหมาะสมกับคนและผลที่ตามมา

ผล : คนให้เพื่อสร้างตัวตนให้ฉันเป็นที่รัก เป็นการให้ด้วยโมหะ + โลภะ มักไปเป็นสัตว์เลี้ยงที่รักในบ้านที่มีคนดูแลอย่างดี

หรือ การให้เพราะอคติ ได้แก่ ให้เพราะเสน่หา ให้เพราะโกรธที่เขาดูหมิ่นจึงให้เพื่อข่มการดูหมิ่น ให้เพราะกลัวอย่างไม่เป็นธรรมทำให้ตนต้องขมขื่นเครียดต่อเนื่อง ให้เพราะหลงใหลโดยไม่ได้ประเมินผลต่อเนื่อง เห็นเขาให้ก็ให้ตาม ๆ กันไป หรือแข่งกันให้เพื่ออวดดี

ผล : อคติเป็นอกุศลจิต การให้ด้วยด้วยอกุศลจิต วิบากย่อมเป็นอกุศล กิเลสงอกมากขึ้น จิตเสื่อมลง

หรือ การที่นักธุรกิจให้เงินนักการเมืองเพื่อตนจะได้สิทธิพิเศษทางธุรกิจ แม้ได้สิทธิพิเศษนั้นมาจริง แต่ต้องโดนวิบากกรรมโกงชาติ โกงประชาชน

ผล : บาปต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นบาปหนัก ต้องลงอบายทั้งผู้ให้และผู้รับ ส่วนใหญ่ไปเป็นเปรต ส่วนหนึ่งไปนรก


การให้ที่เป็นกิเลส ๒ - ให้เพื่อกิเลส

เช่น การให้แก่ลูกที่เกียจคร้านไร้สำนึกรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ไม่กตัญญู ใช้ชีวิตโหลยโท่ยเหลวไหล การให้แบบนี้เป็นการให้เพื่อกิเลส 

ผล : ยิ่งให้ ลูกยิ่งเสียคน จมอบายลึกนานขึ้น

หรือ การให้เงินแก่คนละโมบโลภมากเห็นแก่เล็กแก่น้อยอย่างไม่ชอบธรรม ยิ่งให้ กิเลสเขายิ่งเติบกล้า กลายเป็นคนโกง

ผล : การให้แบบนี้สร้างโจรในโลกให้เพิ่มขึ้นมาหลายยุคหลายสมัย

หรือ การให้การปกป้องลูกน้องที่ทำผิด (บาป) เพราะอยากเป็นที่รักของลูกน้อง (กิเลส) ทำให้ลูกน้องหลงผิดคิดว่าฉันทำอะไรก็ได้เจ้านายปกป้องฉันเสมอ จิตสำนึกคุณธรรมเขาจะฝ่อหาย ความเอาแต่ใจมากขึ้น ระบบองค์กรจะรวน งานจะเสื่อมทรุด

ผล : การปกป้องคนบาป ตนก็ต้องรับกรรมนั้นด้วย จิตตนและลูกน้องจะเสื่อมทรุด


การให้ที่เป็นคุณธรรม ๑ - ให้เพราะคุณธรรม

เช่น ให้เพราะเห็นว่าประชาชนกำลังเดือดร้อนจริง เราพอให้ได้ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่เขา การให้นี้เป็นการให้สาธารณะเหมาะกับสถานการณ์ โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เปลี่ยนผู้รับจากความลำบากเป็นความสบายขึ้นได้

ผล : ให้แบบนี้ ชีวิตผู้รับและผู้ให้จะดีขึ้น


การให้ที่เป็นคุณธรรม ๒ - ให้เพื่อคุณธรรม

การที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประกาศมอบทรัพย์สิน 99% และวิกรม กรมดิษฐ์ ประกาศมอบมรดก 95% ของทรัพย์สินตนแก่สาธารณะ โดยตั้งมูลนิธิขึ้นมาบริหารทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมจริง ทายาทก็เข้ามาเป็นผู้บริหารมูลนิธิกันตามความสามารถ

ผล : การให้แบบนี้เป็นการมอบมรดกบุญให้ทายาทด้วย มอบประโยชน์สุขให้มหาชนด้วย โดยไม่เป็นไปเพื่อกิเลสของใคร ผู้ให้ก็ลอยสูง ผู้รับก็สูงขึ้นโดยลำดับ มหาชนก็ดีขึ้น โลกก็ดีขึ้น


การให้ที่ผสมผสานกันระหว่างกิเลสและคุณธรรม ๑ - ให้เพราะคุณธรรมเพื่อกิเลส ให้แล้วกิเลสเกิดขึ้น

เช่น บางคนหวังดีต่อคนอื่นจริง ๆ (คุณธรรม) แต่ไปก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคล แทรกแซงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (กิเลส) จนเกิดความไม่ลงตัว ใครบางคนต้องยอมเป็นทาสอารมณ์ใครบางคนจนชีวิตจิตใจเสียหาย สุขภาพทรุด (กรรมกิเลส) เมื่อทนไม่ได้ ก็ต้องกระทบกระทั่ง แตกแยกกันในที่สุด (กิเลสบานปลาย)

ผล : ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของผู้หวังดีที่ไม่เคารพสิทธิ์ จะปั่นป่วนวุ่นวาย

หรือ การที่กัลยาณชนดูแลผู้มีพระคุณที่กำลังเจ็บป่วยด้วยกตัญญู (คุณธรรม) แต่จิตปรุงแต่งความกังวล และป้อนความกังวลให้คนไข้ (กิเลส) ทำให้คนไข้ป่วยหนักยิ่งขึ้น หรือหายช้ายิ่งขึ้น (กิเลสออกผล) เพราะคนป่วยกำลังต้องการความหวังและกำลังใจเพื่อจะหาย ไม่ใช่ความกังวลใจอันเป็น pressure ใด ๆ

ผล : ทำความดีด้วยจิตปรุงแต่ง ความดีจึงไม่ได้ผลดี เวลาตนเจ็บป่วยจะหาทางออกสบาย ๆ ยาก

หรือ บางบริษัทพยายามทำตัวเป็นคนดีจึงพยายามให้ (คุณธรรม) แต่เมื่อให้แล้วเกิดเสียดาย (กิเลส) จึงมีนโยบายตามมาว่า "ทำบุญที่ไหน ต้องเอาคืนให้คุ้ม" (บาป) จึงหาทางเอาสิทธิ์เอาทรัพย์ของผู้รับ มาสร้างประโยชน์ให้ยิ่งกว่าที่ตนให้ไป เมื่อไปฉกฉ้อทรัพย์ที่ถวายพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเป็นการยักยอกทรัพย์ของพระพุทธเจ้า (บาปหนัก) บริษัทนั้นเลยต้องแบกหนี้มหาศาล ผู้บริหารลงทุนอะไรพิเศษก็ขาดทุน

ผล : ตายแล้ว ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์พระพุทธเจ้าต้องไปเป็นเปรตมากกว่าครึ่ง เดรัจฉานบ้าง นรกนิดหน่อย ไม่มีใครอยู่สุคติภูมิได้เลยแม้แต่คนเดียว


การให้ที่ผสมผสานกันระหว่างกิเลสและคุณธรรม ๒ - ให้เพราะกิเลสเพื่อคุณธรรม แต่ให้แล้วกิเลสเกิดขึ้น

เช่น เป็นทุกข์จึงให้สังฆทานเพื่อแก้กรรมตามคำแนะนำหมอดู หวังว่าสิ่งที่ตนให้ พระจะได้ใช้ประโยชน์ แต่สิ่งที่ให้เป็นสิ่งที่พระใช้ไม่ได้จริง เป็นภาระแก่พระในการเก็บรักษา เก็บเยอะเกินธรรมวินัยก็ผิด ติดอาบัติ จะขายก็ขายไม่ได้ ติดกรรม

ผล : เกิดผลเสียทั้งต่อผู้ให้ที่ทำให้พระตกที่นั่งลำบาก และต่อผู้รับที่ไม่รู้จักประมาณตามธรรมวินัย


การให้ที่ผสมผสานกันระหว่างกิเลสและคุณธรรม ๓ - ให้เพราะคุณธรรมเพื่อคุณธรรม แต่ให้แล้วกิเลสเกิดขึ้น

เช่น เจตนาให้ธรรมะเป็นทานเพื่อให้คนเข้าใจธรรม พอให้แล้วลาภสักการะเกิดขึ้น จึงสำคัญตนว่าฉันเก่ง (มานะ) สิ่งที่ฉันสอนถูกต้องที่สุด (ทิฏฐิ) ฉันต้องเป็นที่ยอมรับ (ล่าบริวาร) ฉันต้องได้รับสิทธิพิเศษ (โลภะ) กิเลสและอกุศลกรรมนานาประการจึงเกิดขึ้นตามมา

ผล : ภูมิตกต่ำลง ทั้งนักบวชทั้งฆราวาสที่ตั้งตนเป็นอาจารย์ที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้จึงลงนรกกันไม่น้อย


การให้ที่ผสมผสานกันระหว่างกิเลสและคุณธรรม ๔ - ให้เพราะคุณธรรมเพื่อกิเลส แต่ให้แล้วคุณธรรมเกิดขึ้น

เช่น มานพอุคเสนะตีลังกาโชว์อยู่บนราวไม้สูง คนกำลังชมด้วยความตื่นเต้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา คนก็ไปห้อมล้อมกราบไหว้พระพุทธเจ้า มานพอุคเสนะจึงจิตตกเพราะไม่มีใครสนใจ พระพุทธองค์ทรงตรวจดูด้วยพระญาณแล้ว ทรงทราบว่าสามารถโปรดอุคเสนะได้ในวันนี้ จึงบอกให้อุคเสนะตีลังกาโชว์ต่อตามปรารถนา (กิเลส) พระพุทธองค์ก็ทรงทอดพระเนตรด้วย มานพอุคเสนะตั้งใจตีลังกาโชว์ด้วยสติ เมื่อมานพอุคเสนะตีลังกาจบ ประชาชนปรบมือกันเกรียวกราว จากนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมให้อุคเสนะถอนความอาลัยในภพอดีต ภพอนาคต และภพปัจจุบันเสีย ซึ่งเป็นกิเลสที่อุคเสนะติดอยู่ เมื่อสติสมาธิตั้งมั่นอย่างดีด้วยการตีลังกาบนราวสูง พอได้ฟังธรรมดับภพที่ตนติดมานาน อุคเสนะก็สำเร็จอรหันต์ (คุณธรรม) บนราวสูงนั้นเอง แล้วจึงลงมาก้มกราบพระพุทธเจ้า ขอบวชตามพระองค์

ผล : หากมีญาณรู้ผลที่จะเกิดต่อเนื่องจริง อาจใช้กิเลสเล็กน้อย (สติในการโชว์) เพื่อล้างกิเลสที่ใหญ่กว่าก็ได้


การให้ที่ผสมผสานกันระหว่างกิเลสและคุณธรรม ๕ - ให้เพราะกิเลสเพื่อคุณธรรม แต่ให้แล้วคุณธรรมเกิดขึ้น

เช่น ให้การปกป้องลูกน้องที่เผลอทำผิดอย่างมีเงื่อนไขเพราะไม่อยากสูญเสียลูกน้องไป (กิเลส) โดยให้แก้ไขปรับปรุงข้อผิดพลาดโดยเร็ว (คุณธรรม) นั่นเป็นการให้โอกาสและการพัฒนาคน กุศลจึงจะเกิดขึ้น (คุณธรรม)

ผล : เมื่อให้อย่างสมเหตุสมผล เป็นธรรม และเปลี่ยนคนได้จริง ยิ่งเป็นที่เคารพ หมู่คณะยิ่งอบอุ่น


การให้ที่ผสมผสานกันระหว่างกิเลสและคุณธรรม ๖ - ให้เพราะคุณธรรมเพื่อคุณธรรม ให้แล้วคุณธรรมเกิดขึ้น

เช่น การที่พระมหาปันถกสละมอบทรัพย์ทางโลกให้น้องชายเพื่อออกบวช และน้องชายก็สละทรัพย์ทางโลกให้ญาติต่อเพื่อตนจะได้ออกบวชเช่นกัน

ผล : จิตเป็นอิสระไร้ความกังวลทางโลก มุ่งทางธรรมเต็มตัวจึงบรรลุธรรมได้

หรือการให้แก่บุคคลที่เขาเป็นคนดีจริง คนสะอาดจริง ที่กำลังทำความดีเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมอย่างหมดจดจริง

ผล : การให้แบบนี้ทำให้เราได้ร่วมอานิสงส์แห่งความดีเหล่านั้นด้วย แม้ไม่ได้ลงมือทำเอง


สรุป

ดังนั้น อย่าหลงใหลการให้

เมื่อพร้อมให้ ดำริที่จะให้ ให้ประเมินว่า

1. จิตที่จะให้นี้เป็นกิเลสหรือคุณธรรม

หากเป็นกิเลส ให้ดับจิตนั้นทันที อย่าตาม
หากเป็นคุณธรรม จึงพิจารณาต่อ

2. จิตผู้รับเป็นคุณธรรมสะอาดจริงหรือไม่

หากจิตผู้รับไม่สะอาดจริง ให้ดับอยากนั้นทันที แม้เจตนาดี (ยกเว้นบรรเทาสาธารณภัยโดยรวม)
หากจิตผู้รับสะอาดจริง จึงพิจารณาต่อ

3. กิจที่เขาทำนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงหรือไม่

หากเป็นกิจเพื่อประโยชน์ส่วนตนล้วน ๆ ไม่ต้องสนใจ สร้างประโยชน์ส่วนตนก็ต้องสร้างด้วยตนเอง
หากเป็นกิจสร้างประโยชน์ส่วนรวม จึงพิจารณาต่อ

4. สิ่งที่เขาทำนั้น มีความถูกต้องตามกฎหมาย กฎแห่งกรรม และธรรมวินัยหรือไม่

หากผิดกฎหมาย หรือผิดกฎแห่งกรรม หรือผิดธรรมวินัย ให้ถอยห่างทันที
หากถูกกฎหมาย และถูกกฎแห่งกรรม และถูกธรรมวินัย จึงพิจารณาต่อ

5. กระบวนการทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อความหลงโลกมากขึ้น หรือการบรรลุธรรมมากขึ้น

หากกระบวนการนั้นทำให้หลงโลกวนเวียนในวัฏฏะมากขึ้น ให้ถอยห่างทันที
หากกระบวนการนั้นทำให้บรรลุธรรมมากขึ้น ให้พิจารณาทำตามความพอเหมาะพอดีกับ
5.1 ศรัทธาของตน
5.2 ฐานะของตน
5.3 ปัญญาของตนที่เห็นผลดีต่อเนื่องที่เป็นไปได้มากที่สุด

การให้เช่นนี้ จึงเป็นการให้ด้วยสติปัญญา สะอาด หมดจด แม่นยำ เกิดผลดีต่อผู้ให้ ผู้รับ และผู้รับผลต่อเนื่องตลอดกาลมากที่สุด

ผลแห่งการไม่ให้

เมื่อเข้าใจผลแห่งการให้โดยนัยต่าง ๆ แล้ว ต่อไปมาดูผลแห่งการไม่ให้บ้าง จะได้บริหารชีวิตจิตให้ลงตัวสมดุล ณ จุดพอเหมาะพอดี พิจารณาเรื่องจริงกันทีละเรื่อง

เรื่องที่ ๑ การไม่ให้แก่ใครเลย

อานันทเศรษฐี รวยมาก ตระหนี่มาก สอนลูกหลานว่าเราหาทรัพย์มาด้วยความยากลำบาก ดังนั้นอย่าให้ทรัพย์แก่ใครทั้งนั้น ให้เก็บไว้ใช้เอง ตายแล้วไปเกิดเป็นขอทานกาลกิณี เมื่อแม่ (ขอทานปกติ) อุ้มไปขอทานด้วยไม่เคยได้อาหารหรือทรัพย์ใด ๆ เลย อดอยาก ให้เด็กไปกับขอทานกลุ่มใด ขอทานกลุ่มนั้นก็ไม่ได้อาหารหรือทรัพย์ใด ๆ เลย อดอยาก เป็นเด็กกาลกิณีที่ไม่มีใครต้องการ พอเริ่มเดินได้ แม่จึงให้ออกขอทานด้วยตนเองก็ไม่ได้อาหารหรือทรัพย์ใด ๆ เลย อดอยาก วันหนึ่งซมซานไปอยู่ที่หน้าบ้านของตนเองในอดีต อดีตบุตรชายในชาติที่แล้วก็ออกมาไล่ บอกว่าเป็นนโยบายของบ้านนี้ที่จะไม่ให้ใคร พ่อสั่งไว้ ไล่เด็กไปให้พ้น

พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปพอดี เห็นเป็นโอกาสดีที่จะแก้มิจฉาทิฏฐิทั้งตระกูล จึงเข้าไปบอกอดีตบุตรของเด็กขอทานว่า เด็กคนนี้เคยเป็นพ่อของท่าน เศรษฐีปัจจุบันก็ไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าจึงใช้พระญาณช่วยให้เด็กขอทานระลึกถึงที่ฝังสมบัติที่ตนไม่เคยบอกใคร (แม้ลูก) แล้วตรัสบอกเศรษฐีว่า ถ้าท่านไม่เชื่อลองให้เด็กนี้ชี้ที่ซ่อนสมบัติลับก็ได้ เศรษฐีจึงลองดูอย่างไม่เชื่อแต่เผื่อได้ทรัพย์เพิ่ม จึงบอกให้เด็กพาไปดู เด็กพาไปชี้ที่แล้ว ก็พบทรัพย์ที่ซ่อนไว้ที่ไม่เคยบอกใครมาก่อนจริง เศรษฐีจึงยอมอุปการะเด็กนั้นไว้ พระพุทธองค์ทรงสอนทาน ศีล ภาวนา แก่เศรษฐีและครอบครัว ตระกูลก็เจริญผาสุกขึ้น

ผล : ไม่ให้อะไรแก่ใครเลย ก็ไม่มีสิทธิ์ได้อะไรจากใครเลย

เรื่องที่ ๒ บุญอยู่ที่ไหน อานิสงส์ก็อยู่ที่นั่น ไม่ทำบุญที่ใด อานิสงส์ก็ไม่มี ณ ที่นั้น

ราธะพราหมณ์ เป็นผู้มีทิฏฐิกล้ามานะจัด ชอบให้แก่พวกพราหมณ์ด้วยกัน ไม่ชอบทำบุญกับพระ ครั้นฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธา อยากบวช แต่ไม่มีพระเถระใดยอมบวชให้เลย พระพุทธเจ้าจึงถามพระเถระว่าใครเคยได้รับข้าวแม้ก้อนหนึ่งจากราธะพราหมณ์บ้าง ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่าท่านเคยได้รับข้าวทัพพีหนึ่งจากราธะพราหมณ์ พระพุทธองค์จึงทรงมอบให้พระสารีบุตรบวชให้ พระราธะได้บวชแล้ว ตั้งใจปฏิบัติจริง ก็สำเร็จอรหันต์ได้

ผล : บุญอยู่ที่ไหน อานิสงส์ก็อยู่ที่นั่น ไม่ทำบุญที่ใด อานิสงส์ก็ไม่มี ณ ที่นั้น ทางเดินนั้นก็ขลุกขลัก

เรื่องที่ ๓ การให้และไม่ให้ตามปวารณา

พระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายขาดทุน บางคนไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ บางคนได้กำไรตามที่ประสงค์ บางคนได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า 

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์ เขากลับไม่ถวายปัจจัยที่เขาปวารณา ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใด ๆ เขาย่อมขาดทุน 

บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์ แต่เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ไม่เป็นไปตามประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใด ๆ เขาย่อมไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์

บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ต้องประสงค์ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ตามที่ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใด ๆ เขาย่อมได้กำไรตามที่ประสงค์ 

บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ต้องประสงค์ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ยิ่งกว่าที่ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใด ๆ เขาย่อมได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์

ดูกรสารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายขาดทุน นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายได้กำไรตามที่ประสงค์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์


สรุปรวบยอด

ดังนั้น ในระบบการให้ 

สิ่งที่ต้องดับ คือ ความตระหนี่ อสัจจะ และกิเลสนานา ที่มาปนเปื้อนแอบแฝงอยู่ในการให้แต่ละครั้ง

สิ่งที่ต้องเจริญ คือ สติปัญญาประเมินผลต่อเนื่องที่จะเกิดตามมารอบด้าน ความเหมาะสมของผู้ให้และผู้รับและกิจที่เกิดขึ้น ความถูกระบบโลก ถูกระบบกรรม และถูกระบบธรรมวินัย จิตหมดจด ความเลื่อมใสจริง ก่อนให้ ระหว่างให้ และหลังให้

แม้การทำความดีอื่น ๆ ก็ใช้เกณฑ์นี้ได้เช่นกัน

เอาไป set เป็น standard of giving and goodness นะ จะได้หมดจดยิ่งขึ้น


 

 

ที่มา
8 April 2023