การรับที่ควร และการรับที่ไม่ควร
ท่านอาจารย์ครับ ผมได้อ่านธรรมกระจ่างเรื่องการให้ที่เป็นกิเลส และการให้ที่เป็นคุณธรรม และที่ผสมผสานกันแล้ว รู้ความจริงที่ลึกซึ้งมากขึ้น เข้าใจความดีที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น ทั้งเห็นกิเลสที่แอบแฝงมากับความดี ซึ่งคนส่วนใหญ่เลือกจะมองข้ามกัน จึงผิดพลาดทั้งผลที่ตามมา เห็นภาพเลยว่า ทำไมบางคนทำดีได้ดี บางคนทำดีไม่ได้ดี ดีมากเลยครับ แต่นั่นเป็นฐานะของผู้ให้ แล้วในฐานะของผู้รับหล่ะครับ การรับอย่างไรที่เราควรรับ การรับอย่างไรที่เราไม่ควรรับ พวกเราอยู่ในสังคมที่ชอบให้กันมากด้วย
หากท่านอาจารย์จะกรุณาเรื่องนี้ด้วย ระบบความเข้าใจของพวกเราน่าจะบริบูรณ์ขึ้นมากทีเดียว กราบขอบพระคุณครับ
เป็นคำถามที่ฉลาดมาก มองรอบด้านดี
ในฐานะผู้รับ มีทั้งการรับที่ควร และการรับที่ไม่ควร
การรับที่ควร
1. เป็นการรับจากผู้ที่หวังดีต่อเราจริงอย่างหมดจด
เช่น บิดามารดาที่หวังดีต่อเราอย่างบริสุทธิ์ และการรับนั้นทำให้ท่านปลาบปลื้ม ไม่เดือดร้อนใด ๆ หากเราไม่รับ ใจท่านคงเสีย น้อยใจว่าสิ่งที่ท่านให้ไม่มีค่าสำหรับเรา
การน้อมรับที่ดี ก็เป็นการให้ความสุขที่ดีแก่ผู้มีพระคุณ หรือผู้ให้ที่หมดจดได้
2. เป็นจิตรับที่หมดจด ปราศจากราคะ โลภะ ในสิ่งที่รับ
หากมี โลภะหรือราคะต่อสิ่งนั้น การรับนั้นจะกลายเป็นหนี้กรรมที่ต้องชดใช้กลับในอนาคตกาล
3. สิ่งที่รับนั้นเป็นประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจและสุขภาพ เพื่อจะทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้จริง
4. การรับเพื่อสงเคราะห์ความเจริญแก่ผู้ให้
เช่น พระที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ ๆ ท่านจะพิจารณาว่า ท่านควรจะโปรดใครดี เพราะผู้ทำบุญกับท่านเป็นคนแรก ชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในเจ็ดวัน ปกติท่านจะเลือกคนที่สามารถทำประโยชน์ต่อเนื่องแก่สังคมได้ดี เมื่อพบแล้ว ท่านก็จะเข้าไปโปรด รับภัตตาหารจากบุคคลนั้น
หรือท่านที่เข้าวิเวกและปฏิบัติดีปฏิบัติจนได้สมาบัติก็เช่นกัน เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว การรับของท่านเป็นการสงเคราะห์ความเจริญแก่ผู้ให้
หรือกรณีที่พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรับบิณฑบาต ก็เช่น เป็นการสงเคราะห์ญาติโยมให้เป็นผู้ให้ ตนจะได้มีเวลาบำเพ็ญธรรมให้เต็มที่ โยมก็ได้อานิสงส์ด้วย
การรับด้วยจิตสงเคราะห์เช่นนี้ ควรรับ
หากจิตยังไม่ยิ่งใหญ่ แล้วรับตามประเพณีสังคม พระพุทธองค์ทรงสอนว่า เมื่อรับแล้ว ต้องบำเพ็ญเพียรจริงจัง และอุทิศความดีที่เราทำแล้วตอบแทน เพื่อความเจริญสุขแก่ผู้ให้ การรับอย่างนี้จึงไม่มีหนี้พัวพันติดตามไปในชาติต่อ ๆ ไป
การรับที่ไม่ควร
1. การรับที่มีการพูดเลียบเคียงเพื่อให้ได้มา ไม่ควรรับ
หากเผลอพูดเลียบเคียงไปแม้ไม่เจตนา ให้ปฏิเสธการรับนั้นทันที เช่น ท่านพระสารีบุตรกำลังปวดท้อง ท่านพระโมคคัลลานะเข้าไปถามว่า เมื่อก่อนเวลาท่านปวดท้อง โยมแม่ของท่านปฏิบัติต่อท่านอย่างไร ท่านพระสารีบุตรบอกว่า โยมแม่จะทำข้าวมธุปายาสให้กิน ชั่วครู่ก็หาย เทวดาได้ยินจึงไปดลใจให้โยมหุงข้าวมธุปายาสถวายพระโมคคัลลานะ ท่านพระโมคคัลลานะจึงเอาข้าวมธุปายาสไปถวายพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรไม่ยอมรับข้าวนั้น เพราะตนได้พูดก่อนหน้านั้นจึงได้มา ด้วยอานุภาพของศีลบริสุทธิ์นั้น ทำให้ท่านพระสารีบุตรหายปวดท้องทันทีโดยไม่ต้องกินข้าวมธุปายาสเลย
2. การรับสิ่งของที่ตนจะไม่ได้นำไปใช้จริง หรือไม่เหมาะที่จะมอบให้ใครต่อเลย ไม่ควรรับ
เพราะเป็นการเพิ่มขยะแก่ตน ความรกขยะทุกชนิดรบกวนจิตใจ ทำให้ไม่สงบสุข ไม่ปลอดโปร่ง
3. สิ่งที่รับนั้นอาจใช้ได้ แต่ไม่เหมาะกับสุขภาพของเรา เพราะแสลง ไม่ควรรับ
หากรับ ผู้รับบริโภคไปก็ทำร้ายตนเอง ผู้ให้ก็ทำร้ายผู้อื่นโดยไม่เจตนา
4. การรับเพราะเกรงใจผู้ให้ ไม่ควรรับ
เพราะเราต้องเกรงใจตนให้เสมอกับเกรงใจผู้อื่น ความสัมพันธ์จึงจะ noble, balanced คนจึงจะเคารพเชื่อถือเราเท่ากับที่เราเคารพให้กียรติผู้อื่น หาวิธีปฏิเสธอย่างสุภาพดีกว่า
หากรับเพราะเกรงใจ คนให้จะเห็นว่าการให้ของเขามีอิทธิพลเหนือเรา เขามีบุญคุณกับเราที่ให้สิ่งนั้น ๆ ความเคารพในตัวเราจะไม่เกิด
5. การรับจากผู้ให้มีเจตนาไม่หมดจด ไม่ควรรับ
เช่น มีบางคนมาขอเป็นเจ้าภาพต่าง ๆ ในมูลนิธิเพื่อตนจะได้มีสิทธิ์อยู่ที่นี่ด้วย การให้เช่นนี้ รับไม่ได้ เพราะเราสร้างถวายพระพุทธเจ้า ไม่ได้สร้างเพื่อขายสิทธิ์ให้ใคร ไม่ว่าบริษัทใหญ่แค่ไหน ผู้บริหารระดับสูงแค่ไหน คนรวยแค่ไหน คนมีชื่อโด่งดังแค่ไหน คนเก่งแค่ไหน หรือคนมีสภาวะดีแค่ไหนก็ตาม ขืนรับจะเป็นการทำผิดต่อพระพุทธเจ้าทันที ฐานเอาสมบัติของพระพุทธเจ้าไปขายสิทธิ์ให้ผู้อื่น
เราจึงรับแต่ผู้ให้อย่างหมดจดเท่านั้น และนั่นจะทำให้เขาได้อานิสงส์สูงรอบด้านเอง
6. การให้อย่างมีเงื่อนไขว่า เราต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้เขา
หากเป็นธุรกิจก็ว่ากันไปตามหลักการแลกเปลี่ยนอย่างชอบธรรม แต่หากเป็นบุคคลกับบุคคล ไม่ควรรับ เพราะจะทำให้ตกเป็นทาสความต้องการของเขา ความคาดหวังของเขาจะครอบงำจิต มากเข้า เขาก็จะสั่งใช้ตามอำเภอใจ
พระพุทธเจ้าหลวงทรงปลดปล่อยทาสมาร้อยกว่าปีแล้ว อย่ากลับไปเป็นทาสอีก จะเสียชาติเกิด
7. การรับจากคนที่สร้างอัตตาแห่งผู้ให้ ไม่ควรรับ
เพราะการรับนั้นจะกลายเป็นการบริการกิเลสผู้อื่นให้งอกงาม ทุกข์เบ่งบาน เช่น มีบางคนอาสาทำโน่นทำนี่ให้ แต่ขอให้เขาเป็นคนสำคัญที่สุด มีอาญาสิทธิ์ที่จะสั่งคนอื่นได้ เราก็ปฏิเสธ
8. การรับจากคนที่ทำเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น ไม่ควรรับ
เช่น มีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งขอพาคนมาบริจาค 1 ล้าน เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ขอทำป้ายบริษัทมาติดในฐานะผู้บริจาค เราจึงปฏิเสธไป เพราะทั้งเป็นบุญไม่สะอาด ทั้งไม่ชอบธรรม พวกนี้จะได้บุญผสมบาปตลอด
ขณะที่คนบริจาคอย่างสะอาด บริจาคหลายสิบล้าน ไม่ขออะไรสักอย่าง คนเช่นนี้จึงจะได้อานิสงส์ back up ทั้งส่วนตัวและธุรกิจที่ทำทันที เช่นนี้จึงจะรับได้ เพราะบุญนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้จริง
9. การรับจากผู้มีมิจฉาธรรมมาด้วย ไม่ควรรับ
เช่น มีบางบริษัทตั้งใจจริงที่จะร่วมงานกับเรา และพยายามช่วยโน่นนี่ด้วยความจริงใจ แต่ให้ทำอะไร ก็มีมิจฉาธรรมติดมาด้วยทุกงาน มิจฉาธรรมเป็นผลงานของอวิชชา หากรับ ก็เท่ากับรับอวิชชาเข้ามาไว้ในระบบ จะเสียหายระยะยาว จึงค่อย ๆ ปฏิเสธความร่วมมือไป
10. การรับที่จะสร้างปัญหาต่อเนื่อง ไม่ควรรับ
เช่น มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะมอบสิทธิ์การใช้ที่ภูเขาย่อม ๆ ให้มูลนิธิลูกหนึ่ง หมู่คณะไปดูแล้วก็พอพัฒนาได้ แต่หน่วยงานรัฐระดับล่างที่ดูแลพื้นที่นั้นมาหลายสิบปี อิดออดที่จะยินยอมตามผู้ใหญ่ เราจึงไม่รับเขาลูกนั้น เพื่อตัดปัญหากับคนในพื้นที่
11. การรับจากคนที่หวังดีเทียม ไม่ควรรับ
เช่น คนที่บอกว่าหวังดีต่อเราอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขอให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามความคิดเห็นของเขา คนเช่นนี้คือคนหวังดีเทียม
คนหวังดีแท้ จะสนใจว่าเราต้องการอย่างไร อะไรคือ the best สำหรับเรา และจะพยายามช่วยให้เราบรรลุสิ่งนั้น หวังดีแท้อย่างนี้ จึงควรรับ
12. การรับที่ผิดกฎหมายทุกชนิด ไม่ควรรับ
13. การรับที่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ควรรับ
14. การรับที่ผิดกฎแห่งกรรม ไม่ควรรับ
เช่น มีคนเอาปลาเป็น ๆ มาให้ ให้เอาไปฆ่าทำอาหาร รับแล้วต้องทำบาปตามมา ไม่ควรรับ (แต่หากรับไปปล่อยลงน้ำก็รับได้)
15. การรับที่ผิดธรรมวินัย ไม่ควรรับ
เช่น การรับของปริมาณมากมาสะสมไว้เกินความจำเป็น เป็นต้น
สิทธิ์ในการปฏิเสธ
มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ในการปฏิเสธการรับสิ่งที่ไม่เหมาะกับตน ทั้งความคิดเห็น คำพูดจา สิ่งของ แม้อากัปกริยา ได้โดยเสรี การไม่กล้าปฏิเสธ เป็นการสละสิทธิ์พื้นฐานของตน คนอื่นจะละเมิด รุกราน สาดทุกอย่างเข้ามาในชีวิตจนเละเทะได้
หากเราประกาศสิทธิ์แล้วว่า สิ่งนี้เราไม่รับ หากเขายังละเมิด ยัดเยียดให้เราอีก ก็ผิดทั้งกฎหมาย ทั้งกฎแห่งกรรม ทั้งกฎแห่งธรรม บาปหนักจะตกแก่เขาเอง
เช่น ผมขอประกาศให้รู้ทั่วกันว่า
"ผมไม่รับกิเลสของใคร ไม่ว่าในรูปความคิด คำพูด การกระทำ บุคคล สมมตินานา สิ่งของ หรืออื่นใด ใครเอากิเลสในรูปแบบต่าง ๆ มาให้ เป็นการละเมิดสิทธิ์ ผิดทั้งกฎหมาย กฎแห่งกรรม กฎแห่งธรรม สิ่งที่ผมยินดีรับคือ ความบริสุทธิ์ ธรรมเที่ยงตรง พุทธวิธีปฏิบัติธรรม นิโรธ (absolute prevention) มรรค (smart process solution) จิตหมดจด บุญสะอาด การร่วมธรรมกิจอย่างลงตัว สิ่งของที่พอเหมาะพอดีแก่สุขภาวะ หรืออื่นใดที่จำเป็นตามกาลหรือกรณีไป"
นี่คือตัวอย่างของการประกาศสิทธิ์ ทุกคนก็สามารถทำได้ จะได้เกิดบรรยากาศของความเคารพสิทธิ์ให้เกียรติซึ่งกันและกันในสังคม และสานสร้างอารยธรรมแห่งสุขอย่างยิ่ง ว่างอย่างยิ่ง ธรรมชาติอย่างยิ่ง พอเหมาะพอดีอย่างยิ่ง สุคติสุคโตอย่างยิ่ง ให้แข็งแรงมั่นคง
ขณะเดียวกัน สังคมก็คอยดูแลกันและกัน อย่าปล่อยให้ใครทำอะไรตามอำเภอใจไปละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น เพราะนอกจากผิดทั้งสามกฎ ต้องลงอบายแล้ว ยังเป็นความหยาบถ่อย หากมี ให้อยู่ในสังคมไม่ได้ ต้องให้ออกไป
สรุป
จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ควรรับ มีน้อยกว่าสิ่งที่ไม่ควรรับมาก หากปฏิบัติได้ดังนี้ ชีวิตจะโล่ง จิตใจจะโล่ง บ้าน (กุฎี) จะโล่ง
ความโล่งเป็นปัจจัยแก่กรรมฐานและการบรรลุธรรม
ความรกเป็นอุปสรรคแก่กรรมฐานและการบรรลุธรรม
ดังนั้น ต่อไปนี้ บริหารการรับให้พอเหมาะพอดี สะอาด และพาบรรลุธรรมให้ได้ นะ ชีวิตจิตใจจะเบาและปฏิบัติธรรมง่ายขึ้นเยอะ