สีหเสนาบดี
พระพุทธเจ้าตรัสกับสีหเสนาบดีว่า
พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น เพราะทรงกล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
พระสมณโคดมกล่าวการทำแสดงธรรมเพื่อการทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น เพราะทรงกล่าวการทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดงธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น เพราะทรงกล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ
พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น เพราะทรงรังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น เพราะทรงแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ
พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น เพราะทรงกล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ทรงกล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ผุดเกิด
พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น เพราะทรงเบาใจ ด้วยธรรมที่ให้เกิดความโล่งใจอย่างสูงและแสดงธรรมเพื่อความเบาใจ
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสให้สีหเสนาบดี ทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ เมื่อสีหเสนาบดีประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สีหเสนาบดีก็ประกาศตนเป็นอุบาสกครั้งที่สอง พระพุทธเจ้าชักชวนให้สีหเสนาบดียังบิณฑบาตกับพวกนิครนถ์เพราะเหตุว่าตระกูลของสีหเสนาบดีได้เป็นสถานที่รับพวกนิรนถ์มาก่อน สีหเสนาบดีก็ประกาศตนเป็นอุบาสกครั้งที่สาม
เนื้อที่ทรงห้ามภิกษุฉัน
ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ทรงอนุญาต ปลา เนื้อ ที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ.
อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการ
- ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๑
- สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑
- กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป ๑
- ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑
- ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
กาลทาน ๕ ประการ คือ (กาลที่ควรให้ทาน)
- ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑
- ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑
- ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑
- ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑
- ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑
ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์
ชนเหล่าใดอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้นย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น
แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก
ผลแห่งทานที่ประจักษ์ได้ในปัจจุบัน ๖ ประการ
- พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์คนที่มีศรัทธา เป็นทานบดีก่อน
- เมื่อเข้าไปหาย่อมเข้าไปหา คนที่มีศรัทธา เป็นทานบดีก่อน
- เมื่อรับ ย่อมรับของคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดีก่อน
- เมื่อแสดงธรรมย่อมแสดงแก่ข้าพระองค์ก่อนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดีก่อน
- กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ขจรไปแล้วว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นการกบุคคล เป็นผู้อุปัฏฐากพระสงฆ์
- เข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป
ผลแห่งทาน ๖ ประการที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว สีหเสนาบดีไม่ได้เชื่อเพียงเพราะพระผู้มีพระภาค แต่เพราะตนเองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้
ส่วนผลแห่งทานที่ว่า เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ สีหเสนาบดียังไม่รู้ผลแห่งทานนั้น ในผลแห่งทานข้อนี้ จะทรงขอดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค