พระเมฆิยเถระ
ธรรม ๕ ประการ เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า
1. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
2. เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
3. เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิต เพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา ศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา
4. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
5. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา ความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ
- ตนจักเป็นผู้มีศีล
- ตนจักสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย
- ตนจักได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส...วิมุตติญาณทัสสนกถา
- ตนจักเป็นผู้ปรารภความเพียร...ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
- ตนจักเป็นผู้มีปัญญา...ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เมื่อภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ
- พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
- พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท
- พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
- พึงเจริญอนิจจสัญญา เพื่อเพิกถอนอัสมิมานะ
- อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบัน
วิตกอันเลวทราม วิตกอันสุขุม ตั้งมั่นแล้วทำให้ใจเย่อหยิ่ง
บุคคลผู้มีจิตหมุนไปแล้วไม่ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้ ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่
ส่วนบุคคลผู้มีความเพียร มีสติ ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้แล้ว ย่อมปิดเสีย
พระอริยสาวกผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมละได้เด็ดขาดไม่มีส่วนเหลือ ซึ่งวิตกเหล่านี้ที่ตั้งมั่นแล้ว ทำให้ใจเย่อหยิ่ง
อ่าน เมฆิยสูตร