Main navigation

ปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทที่ ๔

ว่าด้วย
การกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม
เหตุการณ์
ภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทากล่าวอวดอุตริมนุสธรรมเพื่อไม่ให้ลำบากด้วยบิณบาต พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทว่าด้วยการกล่าวอุตริมนุสธรรม

สมัยหนึ่ง วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง ภิกษุกลุ่มหนึ่งจำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ออกอุบายกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกัน ทั้งที่ไม่มีคุณวิเศษจริง เพื่อไม่ต้องลำบากด้วยบิณฑบาต

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง ทรงติเตียนการอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องว่าไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ บุคคลผู้กล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นั้น เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการกระทำนี้เป็นเหตุ และการกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
 
แล้วทรงกระทำธรรมมีกถารับเรื่องมหาโจร ๕ จำพวก ว่าดังนี้

มหาโจร ๕ จำพวก 

๑.  ผู้มีความปรารถนาเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่งแวดล้อมเที่ยวจาริกไป มีคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพนับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย 
 
๒.  ภิกษุผู้เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศ แล้วยกตนขึ้น

๓.  ภิกษุผู้ตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้

๔.  ภิกษุผู้สงเคราะห์ เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ (คือ อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กะถางโลหะ กะทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกะต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว เครื่องไม้ เครื่องดิน)

๕. ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง

นี้จัดเป็นยอดมหาโจร เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย

แล้วทรงพระปฐมบัญญัติว่า

ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อย ๆ เป็นเท็จเปล่า ๆ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
 
ต่อมา ภิกษุเป็นอันมากสำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น ยังมิได้ถึงว่าได้ถึง ยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ ยังมิได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ ต่อมาเมื่อภิกษุเหล่าทราบว่าตนอวดอ้างมรรคผลที่ยังไม่มี จึงมีความรังเกียจว่า ตนต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า

ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยต่อจากนั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ 


อ่าน จตุตถปาราชิกสิกขาบท

อ้างอิง
จตุตถปาราชิกสิกขาบท พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อที่ ๒๒๗-๒๓๒ หน้า ๓๒๙-๓๓๔
ลำดับที่
6

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย