Main navigation
ธาตุลม
Share:

วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็น ๑ ใน มหาภูตรูป ๔ 

ก็วาโยธาตุเป็นไฉน คือ

(๑) วาโยธาตุที่เป็นไปภายในก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายนอกก็มี

วาโยธาตุที่อยู่ภายในคือ

สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความเป็นของพัดไปมา คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่ในลำไส้ ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความเป็นของพัดไปมา อย่างอื่น นี้เรียกว่า วาโยธาตุที่อยู่ภายใน

วาโยธาตุภายนอกเป็นไฉน

ความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูปเป็นภายนอกเป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก ได้แก่ ลมตะวันออก ลมตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ลมมีฝุ่นละออง ลมไม่มีฝุ่นละออง ลมหนาว ลมร้อน ลมอ่อน ลมแรง ลมดำ ลมบน ลมกระพือปีก ลมครุธ ลมใบตาล ลมเป่าปาก หรือ ความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า วาโยธาตุภายนอก

วาโยธาตุภายใน วาโยธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า วาโยธาตุ


คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกแห่งวาโยธาตุ

(๒) ผู้ใดย่อมชื่นชมวาโยธาตุ ผู้นั้นชื่อว่าชื่นชมทุกข์ ผู้ใดชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่หลุดพ้นจากทุกข์

ผู้ใดไม่ชื่นชมวาโยธาตุ ผู้นั้นชื่อว่าไม่ชื่นชมทุกข์ ผู้ใดไม่ชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นหลุดพ้นจากทุกข์

(๓) ความเกิด ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งวาโยธาตุ นั่นเป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชรามรณะ

ก็ความดับ ความสงบ ความสูญสิ้นแห่งวาโยธาตุ นั่นเป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความสงบแห่งโรค เป็นความสูญสิ้นแห่งชรามรณะ

(๔) ถ้าวาโยธาตุนี้จักมีทุกข์โดยส่วนเดียว อันทุกข์ติดตามถึง อันทุกข์หยั่งลงถึง อันสุขไม่หยั่งลงถึงแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงยินดีในวาโยธาตุ แต่เพราะวาโยธาตุ อันสุขติดตามถึง อันสุขหยั่งลงถึง อันทุกข์ไม่หยั่งลงถึง ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีในวาโยธาตุ

วาโยธาตุนี้จักมีสุขโดยส่วนเดียว อันสุขติดตามถึง อันสุขหยั่งลงถึง อันทุกข์ไม่หยั่งลงถึงแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายจากวาโยธาตุ แต่เพราะวาโยธาตุมีทุกข์ อันทุกข์ติดตามถึง อันทุกข์หยั่งลงถึง อันสุขไม่หยั่งลงถึง ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายจากวาโยธาตุ

(๕) สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยวาโยธาตุ นี้เป็นความแช่มชื่นแห่งวาโยธาตุ

วาโยธาตุเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวาโยธาตุ

การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวาโยธาตุ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งวาโยธาตุ

(๖) ถ้าว่าความแช่มชื่นแห่งวาโยธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงยินดีในวาโยธาตุ ก็เพราะความแช่มชื่นแห่งวาโยธาตุมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีในวาโยธาตุ

ถ้าว่าโทษแห่งวาโยธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ

ถ้าว่าเครื่องสลัดออกแห่งวาโยธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงสลัด (ตน) ออกจากวาโยธาตุ ก็เพราะเครื่องสลัดออกแห่งวาโยธาตุมีอยู่แล ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงสลัด (ตน) ออกจากวาโยธาตุ


สมถภาวนาเสมอด้วยลม

(๗) เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้

เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น

เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้


วิปัสสนาภาวนาวาโยธาตุ

(๘) ก็วาโยธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด วาโยธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุเหมือนกัน

บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่เป็นตนของเรา

บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในวาโยธาตุ

สมัยที่วาโยธาตุอันเป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้ วาโยธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง ย่อมพัดเอานิคมไปบ้าง ย่อมพัดเอานครไปบ้าง ย่อมพัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบทไปบ้าง

สมัยที่ชนทั้งหลายแสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วยพัดสำหรับพัดไฟบ้าง ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลายก็ไม่ไหว ย่อมมีได้

ความที่วาโยธาตุอันเป็นไปภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง ปรากฏได้ สิ้นไปเป็นธรรมดา ปรากฏได้ เสื่อมไปเป็นธรรมดา ปรากฏได้ แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นได้.

ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้ายึดถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่เกิดขึ้นเล่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถของตัณหา มานะ และทิฏฐิในวาโยธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย

 

 

อ้างอิง:
(๑) ธาตุวิภังค์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๑๑๘
(๒) อภินันทนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๒-๔๑๓
(๓) อุปปาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๔-๔๑๕
(๔) ทุกขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๐-๔๑๑
(๕) ปุพพสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๐๔
(๖) โนเจทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๐๘-๔๐๙
(๗)​ มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๓ ข้อที่ ๑๔๓
(๘)​ มหาหัตถิปโทปมสูตร วาโยธาตุ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๔๕ หน้า ๒๕๐-๒๕๑
  
 
 พระสูตรหลักเกี่ยวกับเรื่องธาตุ ธาตุวิภังคสูตร มหาราหุโลวาทสูตร  มหาหัตถิปโทปมสูตร
 
 
 

คำต่อไป