Main navigation
ธรรมให้เป็นที่รัก ที่เคารพ
Share:

ธรรมให้เป็นที่รัก

(๑) ภิกษุพึงเทียบเคียงตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า

บุคคลที่มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก

บุคคลที่ยกตนข่มผู้อื่นก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนยกตนข่มผู้อื่นบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น

บุคคลที่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ให้ความโกรธครอบงำ

บุคคลที่เป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ

บุคคลที่เป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุบ้างเล่า เราก็คงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ

บุคคลที่เป็นคนมักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ

บุคคลที่ถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์บ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง จักไม่โต้เถียงโจทก์

บุคคลที่ถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์บ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง จักไม่รุกรานโจทก์

บุคคลที่ถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์บ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง จักไม่ปรักปรำโจทก์

บุคคลที่ถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง จักไม่เอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ

บุคคลที่ถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติ เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราถูกบุคคลผู้เป็นโจทก์ฟ้อง พอใจตอบในความประพฤติ

บุคคลที่เป็นคนลบหลู่ ตีเสมอ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนลบหลู่ตีเสมอบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนลบหลู่ ตีเสมอ

บุคคลที่เป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่บ้างเล่าเราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนริษยา ไม่เป็นคนตระหนี่

บุคคลที่เป็นคนโอ้อวด เจ้ามายาก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนโอ้อวด เจ้ามายาบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่มีมายา

บุคคลที่เป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น นี้ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่นบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนกระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น

บุคคลที่ถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยาก ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยากบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น

ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น ถอนได้ง่าย ดังนี้


ธรรมให้เป็นที่รัก ที่เคารพของเพื่อนพรหมจรรย์

(๒) ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระย่อมกำหนัดในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ๑
ย่อมขัดเคืองในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ๑
ย่อมหลงในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๑
ย่อมโกรธในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ๑
ย่อมมัวเมาในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ๑

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระย่อมไม่กำหนัดในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ๑
ย่อมไม่ขัดเคืองในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ๑
ย่อมไม่หลงในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๑
ย่อมไม่โกรธในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ๑
ย่อมไม่มัวเมาในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ๑


(๓) ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ๑ 
เป็นผู้ไม่ปราศจากความขัดเคือง ๑
เป็นผู้ไม่ปราศจากความหลง ๑
เป็นผู้ลบหลู่ ๑
เป็นผู้ตีเสมอ ๑

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ๑
เป็นผู้ปราศจากความขัดเคือง ๑
เป็นผู้ปราศจากความหลง ๑
เป็นผู้ไม่ลบหลู่ ๑
เป็นผู้ไม่ตีเสมอ ๑


(๔) ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นผู้พูดหลอกลวง ๑
เป็นผู้พูดหวังลาภ ๑
เป็นผู้พูดเลียบเคียงหาลาภ ๑
เป็นผู้พูดคาดคั้นให้บริจาค ๑
เป็นผู้แสวงหาลาภด้วยลาภ ๑

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระไม่เป็นผู้พูดหลอกลวง ๑
ไม่เป็นผู้พูดหวังลาภ ๑
ไม่เป็นผู้พูดเลียบเคียงหาลาภ ๑
ไม่เป็นผู้พูดคาดคั้นให้บริจาค ๑
ไม่เป็นผู้แสวงหาลาภด้วยลาภ ๑


(๕) ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
เป็นผู้ไม่มีหิริ ๑
เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑
เป็นผู้เกียจคร้าน ๑
เป็นผู้มีปัญญาทราม ๑

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นผู้มีศรัทธา ๑
เป็นผู้มีหิริ ๑
เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๑
เป็นผู้ปรารภความเพียร ๑
เป็นผู้มีปัญญา ๑


(๖) ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุเถระเป็นผู้ไม่อดทนต่อรูปารมณ์ ๑
เป็นผู้ไม่อดทนต่อสัททารมณ์ ๑
เป็นผู้ไม่อดทนต่อคันธารมณ์ ๑
เป็นผู้ไม่อดทนต่อรสารมณ์ ๑
เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพารมณ์ ๑

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นผู้อดทนต่อรูปารมณ์ ๑
เป็นผู้อดทนต่อสัททารมณ์ ๑
เป็นผู้อดทนต่อคันธารมณ์ ๑
เป็นผู้อดทนต่อรสารมณ์ ๑ 
เป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพารมณ์ ๑


(๗) ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นผู้บรรลุอัตถปฏิสัมภิทา ๑

เป็นผู้บรรลุธรรมปฏิสัมภิทา ๑

เป็นผู้บรรลุนิรุตติปฏิสัมภิทา ๑

เป็นผู้บรรลุปฏิภาณปฏิสัมภิทา ๑

เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกรณียกิจน้อยใหญ่ของเพื่อนพรหมจรรย์ที่ควรจัดทำ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องใคร่ครวญวิธีการในกิจนั้น เป็นผู้สามารถเพื่อทำ เป็นผู้สามารถเพื่อจัดแจง ๑


(๘) ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวรถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑

เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ  แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑

เป็นผู้มีวาจาไพเราะ พูดวาจาอ่อนหวาน ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองที่สละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้ความหมายได้ ๑

เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ 

กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑


(๙) ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มุ่งลาภ ๑
มุ่งสักการะ ๑
มุ่งความมีชื่อเสียง ๑
ไม่รู้จักกาล ๑
ไม่รู้จักประมาณ ๑
ไม่สะอาด ๑
ชอบพูดมาก ๑
มักด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ ๑

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้มุ่งลาภ ๑
ไม่เป็นผู้มุ่งสักการะ ๑
ไม่เป็นผู้มุ่งความมีชื่อเสียง ๑
เป็นผู้รู้จักกาล ๑
เป็นผู้รู้จักประมาณ ๑
เป็นคนสะอาด ๑
ไม่ชอบพูดมาก ๑
ไม่ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ ๑


(๑๐) ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้สรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก ๑
ติเตียนผู้เป็นที่รัก ๑
มุ่งลาภ ๑
มุ่งสักการะ ๑
ไม่มีความละอาย ๑
ไม่มีความเกรงกลัว ๑
มีความปรารถนาลามก ๑
มีความเห็นผิด ๑

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สรรเสริญผู้ที่ไม่เป็นที่รัก ๑
ไม่ติเตียนผู้ไม่เป็นที่รัก ๑
ไม่มุ่งลาภ ๑
ไม่มุ่งสักการะ ๑
มีความละอาย ๑
มีความเกรงกลัว ๑
มักน้อย ๑
มีความเห็นชอบ ๑


ภิกษุที่ไม่เป็นที่รักของสกุล

(๑๑) ภิกษุผู้เข้าสู่สกุลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญในสกุล ธรรม ๕ ประการ คือ

เป็นผู้วิสาสะกับผู้ไม่คุ้นเคย ๑
เป็นผู้บงการต่าง ๆ ทั้งที่ตนไม่เป็นใหญ่ในสกุล ๑
เป็นผู้คบหาผู้ไม่ถูกกับเขา ๑
เป็นผู้พูดกระซิบที่หู ๑
เป็นผู้ขอมากเกินไป ๑

ภิกษุผู้เข้าสู่สกุลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่สรรเสริญในสกุล ธรรม ๕ ประการ คือ

ไม่เป็นผู้วิสาสะกับผู้ไม่คุ้นเคย ๑
ไม่เป็นผู้บงการต่าง ๆ ทั้งที่ตนไม่เป็นใหญ่ในสกุล ๑
ไม่เป็นผู้คบหาผู้ไม่ถูกกับเขา ๑
ไม่เป็นผู้พูดกระซิบที่หู ๑
ไม่เป็นผู้ขอมากเกินไป ๑

 

 

อ้างอิง:
(๑) อนุมานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๒๔
(๒) รัชนียสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๘๑
(๓) วีตราคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๘๒
(๔) กุหกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๘๓
(๕) อสัทธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๘๔
(๖) อักขมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๘๕
(๗) ปฏิสัมภิทาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๘๖
(๘) สีลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๘๗
(๙) อัปปิยสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๙๓
(๑๐) อัปปิยสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๙๔
(๑๑) กุลุปกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๑๑
 

 

คำต่อไป