Main navigation

การตามรู้จิต ควรดูด้วยสติหรือสมาธิจะดีกว่ากัน

Q ถาม :

เมื่อจะดูจิตตัวเอง เหมือนกับว่าจิตดวงที่หนึ่งคือมีอารมณ์จิตขึ้นมา จิตดวงที่สองขึ้นมาก็จะไปรู้อารมณ์ดวงที่หนึ่ง คือไม่ใช่ดวงเดียวกันใช่ไหมครับ เราจะใช้สติดูหรือสมาธิดู อันไหนดีกว่ากันครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ในทุกขณะแห่งรู้อันสั้น ๆ เสี้ยววินาที มีชวนะจิตเกิดขึ้นสิบเจ็ดขณะ วับ วับ ต่อเนื่อง

สติกับสมาธิเป็นช่วงต่อกัน คือ คนจะมีสมาธิได้ต้องมีสติ การฝึกสติเบื้องต้นเป็นการฝึกแบบจดจ่อ ถ้าคนทั่วไปมักจะฟุ้ง ฟุ้งนี่คือสติมันอ่อนมาก จึงให้สติจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น อิริยาบถของการจงกรม เช่นมุทรา หรือลมหายใจ แต่สติที่จดจ่อนั้นจะเป็นสติที่มีคุณภาพต่ำ มีคุณภาพต่ำคือมันจะรู้เฉพาะสิ่งที่มันจดจ่ออยู่ มันจะไม่รับรู้สิ่งอื่น เหมือนเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ใครมาข้างหลัง สะดุ้งเลย เพราะมันไม่พร้อมรับรู้อย่างอื่น มันจะรู้เฉพาะสิ่งที่มันกำลังจดจ่ออยู่

ดังนั้น สติที่เกาะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงเป็นสติคุณภาพต่ำแต่ความเข้มสูง มันมี focus เราจะต้อง refine สติตัวนี้ให้เป็นสติมีคุณภาพสูง โดยไม่สูญเสียความเข้ม ทำอย่างไร ก็ให้มันไปอยู่กับรู้เอง แทนที่จะให้รู้ไปอยู่กับลมหายใจ กับอิริยาบถ ก็ให้รู้ไปอยู่ในรู้เอง แล้วทำรู้นั้นให้กว้าง ๆ ใหญ่ ๆ สตินี้แหละจะเป็นสติที่มีคุณภาพสูง สติคุณภาพสูงที่ต่อเนื่องตั้งมั่นดีแล้วก็กลายเป็นสมาธิ ดังนั้น สมาธิก็คือการ refine สติให้เป็นสติคุณภาพดี สมาธิคือพัฒนาการต่อยอดแห่งสตินั่นเอง
           
เวลาดูจิต ใช้สติดูก็ได้ เป็นจิตตานุปัสสนาจะเห็นอาการต่าง ๆ ของจิต ใช้สมาธิดูก็ดีจะบริหารจิตได้ตามปรารถนา
           
ขณะที่เราเข้าสมาธิแห่งความว่างได้ เช่น อากาสานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ สุญญตาสมาบัติ เหลือแต่จิตกับว่าง เราจะเห็นอาการของจิตชัดและละเอียด ความว่างมันไร้ขอบเขต โดยธรรมชาติของอวกาศมันไม่มีขอบ เพราะมันคือสุญญากาศ สุญญากาศมันไม่มีขอบ มันไม่มีมวลอยู่ข้างใน ความว่างก็เหมือนกันมันไม่มีมวลอยู่ข้างใน พอมันไม่มีมวลอยู่ข้างใน รู้ตรงนั้นมันก็เลยกลายเป็นสติบริสุทธิ์ สมาธิตั้งมั่นอยู่กับว่าง อะไรเกิดขึ้นนิดเดียวมันจะเห็น ตรงนั้นแหละที่เราจะเห็นชวนะจิตของเราเอง ว่าจิตมันทำงานอย่างนี้เองหนอ มันปรุงขึ้นมาเป็นคลื่นแสงแปล๊บและมันต่อเนื่องไป เราจะเห็นจิตชัดตรงนั้น