สติและวิปัสสนา ควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะบรรลุธรรม
สติคือวิปัสสนาใช่ไหมครับ เมื่อกำหนดสติมามากแล้วควรทำอย่างไรต่อครับ หรือให้กำหนดไปเรื่อย ๆ แล้วเมื่อไรจะบรรลุธรรม
พระสารีบุตรบอกว่า วิปัสสนาคือเห็น
พระมหากัจจายนะบอกว่า ให้เข้าไปเห็นธรรมทั้งปวง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เห็นด้วยญาณในสมาธิ มีสติ พึงเว้นรอบ
เมื่อเราฝึกมาดี สติคม สะอาดหมดจดดีแล้ว สติก็จะทำหน้าที่ตัดกระแส เมื่อตัดกระแสได้หมด ก็เว้นรอบ เว้นรอบอะไรล่ะ ท่านก็ให้ธรรมอยู่บทหนึ่ง ซึ่งทำให้มีผู้บรรลุธรรมมากที่สุดก็คือ เมื่อมีสติแล้วพึงเว้นการเกิดดับให้รอบด้าน เมื่อเว้นรอบแล้วก็สงบสุขได้สมาธิโดยธรรมชาติ ต่อมา ตั้งสติให้ดี ทำสติให้หมดจดไม่ต้องแข็ง เพราะสติในสมาธิจะเป็นสติที่บริสุทธิ์ สติไม่บริสุทธิ์เข้าสมาธิไม่ได้ สติจะบริสุทธิ์เมื่อเว้นออกมาให้หมดจากการปรุงแต่งทั้งปวงจนรอบด้าน ยิ่งเว้นมากเท่าไร จิตก็ยิ่งใสสงบเท่านั้น
ถ้าเรากล้าปล่อยวางทุกสิ่งที่เกิดดับได้ ทั้งข้างนอกทั้งข้างใน ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งหนึ่งหน่วยทั้งสัพเพ ก็จบ อะไรดับได้ ปล่อย ปล่อย ปล่อยให้หมด
จะดูได้อย่างไรว่าจบหรือไม่จบ ดูที่เครื่องรัดรึงจิต ได้แก่ สักกายทิฏฐิ (เห็นว่ามีบางสิ่งบางอย่างเป็นตน) วิจิกิจฉา (สงสัยในความบริสุทธิ์หรือผู้บริสุทธิ์) สีลัพพตปรามาส (ประมาทในศีลพรต) กามราคะ (ยังมีความติดใจเสพติดอยู่) ปฏิฆะ (หงุดหงิดรำคาญ) รูปราคะ (ยึดถือในรูปฌาน) อรูปราคะ (ยึดถือในอรูป) มานะ (สำคัญตน) อุทธัจจะ (ฟุ้งซ่าน) อวิชชา (หลงผิดไป) ถ้าดับสังโยชน์เหล่านี้ได้หมดเป็นอันว่าจบ เป็นอเสขบุคคล อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หรือถึงที่สุดของวิวัฒนาการแล้ว ไม่มีอะไรยิ่งกว่านี้แล้ว ถ้าใครยังปล่อยวางเว้นรอบสังโยชน์ได้ไม่หมด ยังเหลือเป็นบางตัวก็ศึกษาต่อไป ปฏิบัติต่อไป เจริญสัจฉิกิริยา ความเพียรให้ยิ่งขึ้นไป
เมื่อรู้วิธีปฏิบัติแล้ว ก็ตัวใครตัวมัน ทำกันเอา