ปีติจากฌานและญาณ
ปีติที่เกิดจากการได้ฌาน กับปีติที่เกิดจากการเห็นญาณต่างกันอย่างไรครับ
ปีติที่เกิดจากการได้ฌานมันจะมีความซาบซ่านอยู่ตามตัวด้วย แต่ปีติอันเกิดจากการได้ปัญญาญาณมันจะมีความร่าเริงในจิต มันเหมือนจิตหัวเราะ จิตมันใหญ่มันบานขึ้นมา มันคนละรสกัน
ปีติเป็นจิตตสังขารชนิดหนึ่ง แต่เป็นจิตตสังขารที่มีประโยชน์เพราะเป็นธรรมโอสถ ถ้าใครเกิดปีติก็ไม่ต้องไปรังเกียจนะ เพราะเป็นยาโดยธรรมชาติ มาเยียวยาร่างกาย มาเยียวยาจิตใจได้ ก็ควรใช้ประโยชน์
เราจะได้ยินคำว่าปีติเป็นวิปัสสนูปกิเลส ท่านบอกว่าอย่าไปติดมัน อย่าไปติดไม่ได้หมายความว่าอย่าไปใช้ คนละอย่างกันนะ คือให้ใช้แต่อย่าไปติด วิปัสสนูปกิเลสไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย เพียงแต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้วิปัสสนาช้าถ้าแช่อยู่นาน มันเป็นสิ่งที่จะต้องมีต้องใช้ อย่างอุปัฏฐาน (สติ) ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส แต่มันต้องใช้ ไม่ใช้ไม่ได้ แต่อย่าเอาสติไปยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป คุณภาพรู้มันไม่ใหญ่ มันเป็นรู้ที่จดจ่อแต่เข้มข้น ก็ต้องพัฒนาต่อไป แต่ไม่มีสติก็ไม่ได้อีกเช่นกัน สติที่ดีที่สุดต้องหยั่งลงสู่วิมุตติ
สุขเป็นวิปัสสนูปกิเลสต้องเกิด เพราะไม่มีสุขมันไม่ได้สมาธิ และใจจะกรอบ ไม่มีกำลังปล่อยวาง ดูช่วงที่เราเป็นทุกข์มาก ๆ มันปล่อยอะไรไม่หลุด มันมีแต่พัวพันเข้าไป ถลำเข้าไป ดังนั้นใจต้องเป็นสุข จึงมีกำลังปล่อยวาง แต่จะไปเกาะสุขแล้วติดสุขเฉพาะชั้นเดียวก็ไม่ได้ เพราะสุขอื่นที่ยิ่งกว่ายังมีอีก สุขที่สุดคือ นิพพานัง ปรมัง สุขขัง ดังนั้นสุขต้องมี แต่อย่าแช่แค่สุขชั้นต้น ไปให้สุดสุข
ญาณเป็นวิปัสสนูปกิเลสก็ต้องได้ ต้องใช้มากที่สุดในการบรรลุธรรรม อาสวักขยญาณ ญาณในการดับอาสวะนั่นแหละญาณบรรลุธรรม ไม่มีญาณ บรรลุธรรมไม่ได้ เพียงแต่ญาณมีหลากหลายสิบที่มนุษย์สามารถเจริญได้ หากยังไม่ถึงวิมุตติญาณก็อย่าไปหลงญาณชั้นต้น เดินขึ้นบันไดญาณไปให้สุด
ดังนั้น วิปัสสนูปกิเลสเป็นสิ่งที่เกิดแก่นักปฏิบัติทุกคนโดยธรรมชาติ อย่าปฏิเสธ หากปฏิเสธก็ไม่บรรลุธรรม เมื่อได้ผลแล้วก็ใช้ประโยชน์ อย่าหลง ไม่ให้แช่ ไม่ให้ยึด แค่นั้นเอง..ไปให้สุด