Main navigation

ปัญญาภาวนาด้วยการปฏิบัติตามพระไตรปิฎก

Q ถาม :

อาจารย์ครับ ผมสนใจอ่านพระไตรปิฎก ควรจะอ่านเรื่องไหนก่อนดี เรื่องไหนง่ายที่สุดสำหรับผู้ใหม่ครับ และเรื่องไหนยากที่สุดที่เราไม่ควรอ่านครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ถ้าอ่านแต่เรื่องง่ายที่สุด จะได้แค่สุตมยปัญญา ไม่พอที่จะบรรลุธรรม

ถ้าอ่านแต่เรื่องยากที่สุด ต้องปฏิบัติลึกซึ้งจึงจะเข้าใจได้ และเข้าถึงได้ ถ้ายังปฏิบัติไม่พอ ก็จะรู้สึกว่าธรรมะห่างไกลตนเกินไป แต่หากไม่อ่านเรื่องยากเลย ก็จะพลาดโอกาสได้ปัญญาอันลึกซึ้ง เพราะปัญญาอันลึกซึ้งอยู่ในเรื่องยากนั่นแหละ

แนะนำให้อ่านทั้งหมดก่อน แล้วค่อยเลือกว่า เราจะบรรลุธรรมด้วยธรรมหมวดใด ก็ปฏิบัติธรรมนั้นจริงจัง ปฏิบัติธรรมอื่น ๆ เสริมเพื่อความแข็งแรง และเมื่อยังอยู่ในโลก ก็นำหลักธรรมที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารตน บริหารครอบครัว บริหารการงาน บริหารองค์กร บริหารสังคม บริหารประเทศชาติ บริหารโลก ตามฐานะหน้าที่ที่รับผิดชอบ ก็จะได้ประโยชน์มหาศาล

พระไตรปิฎกเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงสอนมนุษย์และเทวดา ดังนั้น ศึกษาได้ทั้งหมด ทีอ่านหนังสืออื่นยังอ่านกันได้มากมาย พระไตรปิฎกสี่สิบห้าเล่มอ่านไม่ได้ จะเป็นพุทธชนไม่เต็มภูมิ เพียงแต่บางอย่างอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที  บางอย่างอ่านแล้วต้องพิจารณาเนือง ๆ จึงจะเข้าใจได้ บางอย่างอ่านแล้วต้องปฏิบัติจริงจังจึงจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งจริง

1. สิ่งที่เข้าใจได้ด้วยสุตมยปัญญา เช่น

พระพุทธประวัติ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสมัยพุทธกาล
จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
พระวินัย วัตรปฏิปทา และระเบียบปฏิบัติทั้งหลาย
บุญ บารมี
มาตรฐานธรรมสำหรับแต่ละอาชีพ
สัมโพธิปักขิยธรรม
มงคล
เป็นต้น

2. สิ่งที่เข้าใจได้ด้วยจินตามยปัญญา เช่น

ธาตุทั้งหลาย
โลก จักรวาล และชีวิตในโลกธาตุต่าง ๆ
กิเลส คุณธรรม
มาตรฐานธรรมสำหรับระบบต่าง ๆ
กำเนิดชีวิต อาการ ๓๒ และความตาย
เหตุเกิดโรคภัย การป้องกัน และการบำบัด
เหตุแห่งความมั่นคง และไม่มั่นคงแห่งครอบครัว
เหตุแห่งความรุ่งเรือง และความล้มเหลวในชีวิต
เหตุแห่งความเจริญ และความเสื่อมของระบบในโลก
เป็นต้น

3. สิ่งที่เข้าใจได้ด้วยภาวนามยปัญญาขั้นต้น เช่น

ปาริสุทธิศีล
กรรมฐานทั้งหลาย
สมถะ วิปัสสนา วิราคะ
อินทรีย์ห้า
องค์ฌาน และญาณ
อานุภาพแห่งกุศล และอกุศล
ระบบกรรม และกฎแห่งกรรม
เป็นต้น

4. สิ่งที่เข้าใจได้ด้วยภาวนามยปัญญาขั้นกลาง เช่น

ระบบการเกิด การสืบต่อ และการตาย
ระบบภพภูมิ และมิติทั้งหลาย
ความสัมพันธ์ในจักรวาล และระหว่างมิติ
มิติแห่งเวลา และอกาลิโก
ระบบจิตใจ อานุภาพแห่งจิตใจ กลไกการทำงานของจิตใจ การบริหารพัฒนาการจิตใจ
มหาฤทธิ์ มหาปัญญา
เป็นต้น

5. สิ่งที่เข้าใจได้ด้วยภาวนามยปัญญาขั้นสูง เช่น

ปฏิจจสมุปบาท
จิตและเจตสิก
ระบบธรรม อานุภาพแห่งธรรม และกฎแห่งธรรม
สารพัดญาณ และความแจ่มแจ้ง
กำเนิดสรรพสิ่ง ข่ายใยยึดโยงสรรพสิ่ง การสลายของสรรพสิ่ง
มหาอภิญญา
เป็นต้น

6. สิ่งที่เข้าใจได้ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ เช่น

ความดับสูญแล้วซึ่งอวิชชา ตัณหา
ความมีชาติสิ้นแล้ว การพ้นแล้วจากวัฏฏะสงสาร
พระนิพพาน
อมตสภาวะ
ความมีอยู่เป็นอยู่ทั้งปวง
ปัจจัยการกำเนิด การดำรงอยู่ และการสลายไปของสิ่งทั้งปวง
สัจธรรมทั้งปวง และกฎแห่งสัจธรรมในทุกสิ่ง
ปาฏิหาริย์ทั้งปวง
กำลังและอานุภาพของสิ่งทั้งปวง
ความเป็นไปได้ ความเป็นไปไม่ได้ทั้งปวง
ความพอเหมาะพอดีของสิ่งทั้งปวง
ความสำเร็จทั้งปวง
วิมุตติรส บรมสุข บรมว่าง
เป็นต้น

ดังนั้น อย่าอ่านอย่างเดียว อ่านแล้วต้องภาวนาจริงจังด้วย จึงจะแจ่มแจ้งจริง

เมื่อเราอ่านพระไตรปิฎกและปฏิบัติตามไปด้วยโดยตลอด จะเหมือนปฏิบัติกรรมฐานกับพระพุทธเจ้าโดยตรง จะได้สติ สมาธิ ปัญญา และสภาวะดีมาก จนรู้สึกได้ว่า การเกิดชาตินี้ เราได้ทำประโยชน์ตนพอควร คุ้มที่เกิดมาแล้ว ที่เหลือเป็นการทำประโยชน์ท่าน ประโยชน์พระศาสนา สงเคราะห์โลกตามสมควรแก่กำลัง ทำดีได้แค่ไหนก็เป็นกำไรชีวิตทั้งสิ้น

ธรรมสมควรแก่ธรรม

แม้เมื่อเราศึกษาทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจระบบธรรมรวม แต่ก็ควรเข้าใจความเป็นจริงว่า ผู้ที่จะแจ่มแจ้งแทงตลอดธรรมทั้งปวงได้โดยไม่มีส่วนเหลือ มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น เพราะพระพุทธองค์ทรงสัพพัญญุตญาณ 

พระอัครสาวกทางปัญญา ย่อมแจ่มแจ้งธรรมทั้งหลาย แต่ไม่ทั้งปวง

พระมหาสาวก ย่อมแจ่มแจ้งธรรมหลักตลอดทางสู่พระนิพพาน แต่อาจไม่ทั้งหลาย

ที่เหลือนอกนั้น แจ่มแจ้งแค่พอบรรลุธรรมได้ พาคนในรับผิดชอบบรรลุธรรมได้ ก็เป็นการสมควรยิ่งแล้ว

หากยังไม่บรรลุธรรมอีก แจ่มแจ้งการนำหลักธรรมมาใช้ให้เกิดความสงบสุข ความเจริญแก่ตน ครอบครัว ประเทศชาติ และโลกได้ ก็ประเสริฐแล้ว

ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า “ชื่อว่าสัตบุรุษเพราะเป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม”