Main navigation

ความคิด จิต ใจ นิพพาน

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ ตอนที่ผมอยู่บริษัท เขาสอนแนวคิดกัน มันก็ตื่นตาตื่นใจว่าทำไมช่างฉลาดคิดจัง แต่สังเกตว่าเข้าสมาธิไม่ได้เลย พออาจารย์วิปัสสนามาสอน ก็เน้นกำหนดสติไม่ให้เข้าสมาธิ ก็ดี จิตอยู่กับเนื้อกับตัวดี มันเกร็ง ๆ แต่สติแข็งดี พอพระป่ามาสอน ท่านก็ให้เข้าสมาธิเป็นกำลัง ผมก็ทำเต็มที่ ใครให้ปฏิบัติอะไรก็ไม่มีปัญหาครับ ดี ชอบ แต่มีปัญหาเดียว ยังไม่พบพระนิพพานสักที

จึงขอถามท่านอาจารย์ว่า นิพพานอยู่ตรงไหนครับ มีทางตรงเข้านิพพานไหมครับ ตอนนี้ก็แก่แล้ว

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ความคิดที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นจุดเริ่มต้นของความถูกทิศ ต้องมี ไม่มีไม่ได้ แต่ความคิดยังไม่ใช่นิพพาน ท่านพระสารีบุตรสอนท่านพระอนุรุทธะ หากยังคิดมากแม้ในความถูกต้องก็เป็นอุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่นิพพาน

ตามพุทโธวาท สติเป็นจิตที่ตั้งมั่นอยู่กับรู้ สติเป็นเครื่องกั้น คือ กั้นรู้ไม่ให้ไหลไปตามกระแสของสิ่งเร้า จึงทรงให้ตั้งรู้อยู่ที่รู้ แล้วรู้ในสิ่งที่จิตสัมผัสทั้งหมด เช่น สติรู้กายที่เกิดดับ สติรู้ความรู้สึกที่เกิดดับ สติรู้อารมณ์ในจิตที่เกิดดับ สติรู้ในธรรมที่เกิดดับ หมวดสุดท้ายของธรรมานุปัสสนาคืออริยสัจ หมวดสุดท้ายของอริยสัจคือมรรค ข้อสุดท้ายของมรรคคือสัมมาสมาธิ ดังนั้นเมื่อเจริญสติบริบูรณ์ย่อมได้สมาธิ ด้วยเหตุนี้ สัมมาสติจึงเป็นมรรคที่เจ็ด สัมมาสมาธิจึงเป็นมรรคที่แปด ต้องมีสติจึงจะเข้าสมาธิได้ สติจึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเสมอ แต่หากอยู่แค่สติกำหนดรู้อย่างเดียวโดยไม่ยอมเข้าสมาธิ ก็เหมือนกับเด็กที่กำหนดว่า “แม่จ๋า แม่จ๋า แม่จ๋า” อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้อยู่ในอ้อมอกของแม่ฉันใด  การกำหนดรู้ รู้ รู้ อยู่ตลอด ยังไม่ใช่นิพพานฉันนั้น

สมาธิคือใจที่ตั้งมั่น เพ่งสติที่อ่อนโยนแผ่ไปในธาตุ คือรูปธาตุ และอรูปธาตุ ก็จะได้สมาธิ ต้องอ่อนโยนนะ แข็งกระด้างจะตึง แผ่ไม่ออก สมาธิเป็นฐานที่เกิดอานุภาพ ปัญญา ฤทธิ์ ความสำเร็จ ความสุขลึกซึ้ง และเป็นประตูสู่นิพพานดังที่ท่านพระอานนท์สอนไว้ในอัฏฐกนาครสูตร ดังนั้นสมาธิต้องมีต้องทรงให้ได้มั่นคง ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่มีอานุภาพ ไม่มีปัญญา ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีความสำเร็จ ไม่มีความสุขลึกซึ้ง และไม่ถึงประตูสู่นิพพาน แต่สมาธิก็ยังไม่ใช่นิพพาน

นิพพานอยู่ที่ไหน เรามาดูการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแล้วจะแจ่มแจ้ง เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพาน ทรงเข้ารูปฌาน ๑ รูปฌาน ๒ รูปฌาน ๓ รูปฌาน ๔  อรูปฌาน ๑ อรูปฌาน ๒ อรูปฌาน ๓ อรูปฌาน ๔ แล้วถอยกลับมาที่อรูปฌาน ๓ อรูปฌาน ๒ อรูปฌาน ๑ รูปฌาน ๔ รูปฌาน ๓ รูปฌาน ๒ รูปฌาน ๑ จากนั้น ทรงเข้ารูปฌาน ๑ รูปฌาน ๒ รูปฌาน ๓ รูปฌาน ๔ พอออกจากรูปฌาน ๔ ไม่ทรงเข้าอรูปฌาน ทรงเสด็จปรินิพพาน ณ ระหว่างรูปกับอรูป นั่นเอง ดังนั้น นิพพานไม่ใช่ส่วนใด ๆ ในรูป ไม่ใช่ส่วนใด ๆ ในอรูป ต้องปล่อยวางในสมาธิ ย้ำ ต้องปล่อยวางในสมาธินะ ปล่อยวางนอกสมาธิไม่ถึงนิพพาน ปล่อยวางทั้งรูปธาตุ (กาย) ทั้งอรูปธาตุ (ใจ) จึงพบอมตธาตุอันบริสุทธิ์ มีแต่รู้ ตื่น เบิกบาน ว่างอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่ง เรียกว่า “พุทธะ ณ พระนิพพาน”

ปรารถนานิพพานเดียวกับพระพุทธเจ้า ก็ปฏิบัติแบบพระพุทธเจ้า ปฏิบัติแบบอื่นก็ได้นิพพานอื่น

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

ความคิด จิต ใจ นิพพาน