Main navigation

วิญญาณไปเกิดตามอะไรและจะดับวิญญาณได้อย่างไร

Q ถาม :

เรียนถามท่านอาจารย์ครับ วิญญาณที่ไปเกิดนี่ไปเกิดตามอะไรครับ เราจะดับวิญญาณได้อย่างไรครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เป็นคำถามที่ดีนะ

ก่อนอื่นเข้าใจความจริงก่อนว่า วิญญาณไม่ได้ไปเกิด เพราะวิญญาณเกิดดับตลอดเวลาตามสังขาร เหมือนไฟฟ้าเกิดดับตามการเปิด-ปิดสวิตช์

สวิตช์ที่เปิดปิดวิญญาณ คือ สังขาร เวลาพูดถึงสังขาร คนจำนวนมากเข้าใจว่าคือร่างกาย ก็ใช่ส่วนหนึ่ง นั่นเป็นเปลือกของสังขาร สังขารละเอียดที่เปิดปิดบ่อย คือ จิตตสังขาร ทันทีที่มีความใส่ใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จิตตสังขารก็เปิด วิญญาณก็ปรากฏ พอไม่ใส่ใจอะไรเลย จิตตสังขารก็ปิด วิญญาณก็ดับ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า วิญญาณเกิดเพราะเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิญญาณคือสังขาร เมื่อสังขารดับ วิญญาณก็ดับ

แล้วอะไรไปเกิด

ถ้าดูจากสิ่งที่ปรากฏในภพภูมิต่าง ๆ ก็เหมือนว่าจะเป็นสังขาร เพราะจากมนุษย์ไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง เปรตบ้าง นรกบ้าง เทวดาบ้าง รูปพรหมบ้าง อรูปพรหมบ้าง ซึ่งล้วนมีสังขารต่างกัน แต่พอดูเข้าไปในกลไกการทำงานของสังขาร สังขารไม่ได้เป็นอิสระโดยตัวเอง สังขารเกิดจากเหตุปัจจัยมาประกอบสร้างมันขึ้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สังขารเกิดเพราะอวิชชาปรุง ตามสูตรของตัณหา โดยมีกรรมแต่งลักษณะ เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ

ดังนั้น ถ้ายังมีการเกิดอีก ก็แสดงว่ายังมีอวิชชาปรุงสังขาร เมื่อจะพูดให้ถูกตามพุทธธรรม ตัวไปเกิดคืออวิชชา เป็นผู้ปรุงสังขารขึ้นมาตามสูตรของตัณหาต่าง ๆ แล้วกรรมล่ะ กรรมเป็นตัวแต่งสังขารเฉย ๆ ไม่ใช่ผู้ปรุง เปรียบเหมือนกับเชฟเป็นคนปรุงอาหาร โดยเอาส่วนประกอบมาผสมตกแต่งรสชาติต่าง ๆ ตามสูตรที่ตัณหากำหนด ดังนั้น ผู้ปรุง (อวิชชา) กับสูตร (ตัณหา) และปัจจัยตกแต่ง(กรรม) จึงเป็นคนละอย่างกัน ถ้าจะดับการเกิด ก็ต้องดับอวิชชา หรือดับสูตรตัณหาให้หมด

สูตรตัณหามาจากไหน

สูตรตัณหาทั้งหลายมาจากการผสมส่วนความยินดียินร้ายในสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ในชีวิต ในความสัมพันธ์ ในรูปธรรม นามธรรมทั้งหมด ยิ่งมีหลายสูตรมากเท่าใด ก็ยิ่งแต่งกรรมมากเท่านั้น อวิชชาก็ปรุงสังขารได้มากมายสารพัดภพ เมื่อดับสูตรตัณหาหมด อวิชชาก็ไม่มีสูตรให้ปรุง ก็ฝ่อหายสลายไป 

แต่ถ้าสูตรตัณหาเยอะเหลือเกิน ดับเท่าไรก็ดับไม่หมดสักที ดับที่อวิชชาเลยได้ไหม ได้ เด็ดขาดไปเลย

แล้วอวิชชาอยู่ที่ไหน

อวิชชาอยู่ก่อนกลไกการปรุง ก็ยอกย้อนการปรุงเข้าไปเรื่อย ๆ จนสุดก็พบอวิชชา พระพุทธองค์จึงทรงให้เข้าสมาธิ สมาธิคือการกลั่นสังขาร โดยลอกสังขารหยาบ ๆ ออก แล้วสำรวมจิตเข้าภายใน แล้วลอกสังขารละเอียดออกอีกเรื่อย ๆ จนสุด ทุกระดับที่ลอกสังขารออกได้ เรียกว่า ฌาน เช่น

ฌาน ๑ ลอกกาม พยาบาท ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย ง่วงงุนออก เหลือแต่สติรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีหรือเป็นกลาง มีสังขารบ้างเพียงวิตก วิจาร ปีติ สุข จิตตั้งมั่น

ฌาน ๒ ลอกวิตก วิจารออก เหลือแต่สติรู้ ปีติ สุข จิตตั้งมั่น

ฌาน ๓ ลอกปีติออก เหลือแต่สติรู้ สุข จิตตั้งมั่น และอุเบกขา

ฌาน ๔ ลอกสุขออก เหลือแต่สติรู้บริสุทธิ์ และอุเบกขา ตั้งมั่นอยู่

เมื่อลอกสังขารจนสะอาดแล้ว ก็ใช้สติบริสุทธิ์ส่องดูรากเหง้าแห่งการปรุงจิต ก็จะพบอวิชชา จากนั้นใช้ธรรมปัญญาดูความจริงว่า พลังอวิชชานี้ ที่แท้ไม่เที่ยง ไม่เป็นตน ปรุงสังขารอันมีธรรมชาติเป็นทุกข์ หากอวิชชายังอยู่ก็ยังสร้างทุกข์ได้ไม่รู้จบ น่าเบื่อหน่าย แล้วปล่อยวางพลังอวิชชา ปล่อยวางจนอวิชชาสลายไป การปรุงจิตก็หายไปสิ้น เหลือแต่ปัญญาแจ่มแจ้งสรรพสิ่งทั้งปวง อันเป็นที่สุดแห่งวิวัฒนาการ เรียกว่า "พุทธะ"

ถามว่าเมื่อถึงพุทธะแล้ว วิญญาณยังอยู่ไหม  

หากชีวสังขารที่กรรมครองยังไม่หมดอายุขัย ยังไม่สลาย วิญญาณก็ยังเกิดดับ รับรู้แต่ไม่มีการปรุงแต่งแล้ว เพราะอวิชชาดับไปแล้ว เมื่อสังขารอันกรรมครองหมดอายุขัย สังขารใหม่ไม่เกิดอีกเพราะไร้ผู้ปรุง ตัณหาสูตรต่าง ๆ ก็ไม่มีแล้ว เพราะเชฟผู้สร้างสูตรตายไปแล้ว วิญญาณก็ไม่ปรากฏอีก จบกิจวิวัฒนาการ


รู้แล้ว ก็รีบปฏิบัตินะ เอาให้ได้ผลก่อนตาย จะได้สบาย พ้นทุกข์ถาวร