Main navigation

ธรรมะสร้างความสำเร็จของพระพุทธเจ้า

Q ถาม :

ท่านอาจารย์คะ เคยไปอบรมหลักสูตรของฝรั่ง เขาสอนว่า จะทำอะไรให้สำเร็จต้องมี passion กับสิ่งนั้น แต่ลองเอามาใช้กับชีวิตจริงแล้วมันเครียดมาก บางครั้งก็รู้สึกว่าเรากำลังหลอกตัวเองให้ทำในสิ่งนั้นหรือเปล่า เลยอยากขอท่านอาจารย์เมตตาว่า passion สร้างความสำเร็จได้ไหมคะ และพระพุทธเจ้าสอนเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างไหมคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

พระพุทธองค์ทรงสอนความเป็นจริงในทุกมิติของชีวิต จิตใจ โลก และจักรวาลเพื่อวิวัฒนาการที่เจริญอย่างปลอดภัย

ในการสร้างความสำเร็จ พระพุทธองค์ทรงสอนไว้อย่างเป็นระบบ ลึกซึ้ง พอเหมาะพอดี และได้ผลจริง คืออิทธิบาทสี่

เริ่มด้วยจะทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จต้องมี "ฉันทะ" ความยินดีในการทำสิ่งนั้นเพื่อผลปลายทางของสิ่งนั้น ดังนั้น ฉันทะของพระพุทธองค์คือปัญญาผสานใจโสมนัสจึงทำอย่างเป็นสุข ซึ่งต่างกับ passion ของฝรั่งที่เป็นตัณหาจึงพาเครียด

เมื่อเราจะตั้งฉันทะ เราควรเจริญความยินดีในสิ่งเหล่านี้ คือ

1. ยินดีในผลที่เป็นความเจริญจริงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

2. ยินดีในเหตุปัจจัยที่มีแล้ว 

3. ยินดีในการทำกิจนั้นเต็มกำลังสามารถ

4. ยินดีเฉพาะสิ่งที่เหมาะสมพอเหมาะพอดีกับชีวิตเราและภารกิจ

เมื่อเจริญความยินดีด้วยปัญญาแล้ว ขั้นต่อไปคือ "เพียรทำจริง" อย่างต่อเนื่อง โดย

1. ไม่หวั่นไหวย่อท้อกับอุปสรรคใด ๆ 

2. ปัญหาใดก้าวข้ามได้ ก็ก้าวข้ามเลย อย่าเสียเวลา

3. ปัญหาใดจำเป็นต้องแก้ไขจึงจะไปต่อได้ก็แก้ไขเลย อย่าวนเวียนมีอารมณ์กับปัญหา

4. จัดระบบ ป้องกันปัญหาที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น 

5. ตลอดทางแห่งความเพียร ให้ประคองจิต ประคองกิจให้เป็นสายกลางเสมอ ไม่ใช่สายกาม (ปรนเปรอ) ไม่ใช่สายกู (เอาแต่ใจ)

เมื่อมีความเพียรสายกลางแล้ว ก็มี "จิตตะ" มีสติ focus คือ

1. Focus ในผล จำไว้ เราทำกิจเพื่อผล 

2. Focus ในกิจ ณ ปัจจุบันขณะ เพราะทุกกิจคือการก้าวขึ้นบันไดสู่ความสำเร็จทีละขั้น ดังนั้น โฟกัสทุกย่างก้าวให้แม่นเหมาะ อย่าตกบันไดเสียก่อนที่จะถึงผล

3. Focus ในจิต ทั้งจิตตนและผู้เกี่ยวข้องให้สบาย ๆ ขยัน รับผิดชอบ มีสติ สมาธิ ปัญญา ความสุข ในการกอปรกิจ

4. Focus ความรู้สึก และความสัมพันธ์ที่ดี ให้มีกรรมดีต่อกัน ไม่เกิดบาประหว่างกัน

เมื่อมีสติ Focus ดีแล้ว ต่อไปพึงใช้ปัญญา "วิมังสา" พิจารณาปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้นเสมอ คือ

1. สร้าง และผสานเหตุ ปัจจัย เงื่อนไข กลไกแห่งความสำเร็จให้ถูกส่วน

2. Spot และสลายเหตุ ปัจจัย เงื่อนไข กลไกแห่งความล้มเหลวให้ถูกจุด

3. พิจารณาพัฒนาวิธีการให้ smart และมีความชอบธรรม

4. พิจารณาปรับปรุงกระบวนการให้คุ้มค่าเสมอ

5. พิจารณาพัฒนาคุณภาพให้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสมอ

นี่คือระบบการสร้างความสำเร็จทั้งปวงของพระพุทธเจ้า 

หากเราทำได้ตามนี้ครบ เราจะสร้างความสำเร็จใด ๆ ก็ได้ ถ้าคุ้มค่าพอที่จะทำ
 

ผู้ถาม

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะ ดีกว่าของฝรั่งมากเลยค่ะ ขออนุญาตนำไปใช้เลยนะคะ

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

อิทธิบาท ๔ ความสำเร็จ