Main navigation

เมื่อยังมีความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ การดูแต่ตนเอง ไม่ดูคนอื่น ยังทำได้ไหม

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ เวลาไปขอธรรมะเรื่องคนในครอบครัวหรือบริษัท ท่านไม่ให้เราดูคนอื่น ให้ดูแต่ตนเอง แต่ในชีวิตจริง เราต้องอยู่กับคนอื่น รับผิดชอบร่วมกับคนอื่น พอมองแต่ตัวเองก็เหมือนคนไม่มีความรับผิดชอบ บริหารไม่ได้ จะมีวิธีใดที่เราปฏิบัติธรรมได้แม้ในท่ามกลางความรับผิดชอบไหมครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

พุทธวิธีปฏิบัติธรรมมีหลายมิติ คือ

1. มิติของศีล

ในมิติศีล ต้องคำนึงว่า 

ความคิด นี้จะทำให้ตนเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ผู้อื่นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หากเป็นสุขทั้งคู่ ควรคิด หากเป็นทุกข์ทั้งคู่ ไม่ควรคิด หากเป็นสุขฝ่ายหนึ่งเป็นทุกข์ฝ่ายหนึ่ง ต้องประเมินผลธรรม-ผลกรรมให้ลึกซึ้งรอบด้าน แล้วจึงเลือกคิด โดยหาวิธีป้องกันผลกระทบให้น้อยที่สุด

คำพูด นี้จะทำให้ตนเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ผู้อื่นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หากเป็นสุขทั้งคู่ ควรพูด หากเป็นทุกข์ทั้งคู่ ไม่ควรพูด หากเป็นสุขฝ่ายหนึ่งเป็นทุกข์ฝ่ายหนึ่ง ต้องประเมินผลธรรม-ผลกรรมให้ลึกซึ้งรอบด้าน แล้วจึงเลือกพูด โดยหาวิธีป้องกันผลกระทบให้น้อยที่สุด

การกระทำ นี้จะทำให้ตนเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ผู้อื่นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หากเป็นสุขทั้งคู่ ควรทำ หากเป็นทุกข์ทั้งคู่ ไม่ควรทำ หากเป็นสุขฝ่ายหนึ่งเป็นทุกข์ฝ่ายหนึ่ง ต้องประเมินผลธรรม-ผลกรรมให้ลึกซึ้งรอบด้าน แล้วจึงเลือกทำ โดยหาวิธีป้องกันผลกระทบให้น้อยที่สุด

ในขั้นนี้ ต้องดูผลทั้งต่อตนและคนอื่น

2. มิติของสติ

ในกรรมฐานสติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ปฏิบัติดังนี้ 

"พิจารณาเห็นกายในกาย
ทั้งภายใน (ตน) ทั้งภายนอก (ตน) บ้าง

พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
ทั้งภายใน (ตน) ทั้งภายนอก (ตน) บ้าง

พิจารณาเห็นจิตในจิต
ทั้งภายใน (ตน) ทั้งภายนอก (ตน) บ้าง

พิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งภายใน (ตน) ทั้งภายนอก (ตน) บ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้น ในกาย เวทนา จิต ธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อม ในกาย เวทนา จิต ธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อม ในกาย เวทนา จิต ธรรมบ้าง ย่อมมีอยู่

อนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม มีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก"

ในขั้นนี้ ต้องรู้ทั้งตนและคนอื่น จึงเห็นกลไกธรรมชาติที่แท้จริง เหมือนงานวิจัย เราต้องศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด จึงจะสรุปผลได้ถูกต้อง หากศึกษาแต่ในตนไม่ศึกษาคนอื่น หรือศึกษาแต่คนอื่นไม่ศึกษาตน จะสรุปเป็นความจริงสากลไม่ได้

3. มิติของสมาธิ

เมื่อเรารู้ความจริงสากลแล้ว เราก็เลือกที่จะบริหารจิตใจภายในให้ตั้งมั่นที่สุด เมื่อจะทำให้ตั้งมั่นที่สุด ต้องให้มีตัวแปรน้อยที่สุด เมื่อจะทำให้มีตัวแปรน้อยที่สุด ต้องระคนให้น้อยที่สุด เข้าวิเวกให้มากที่สุด แล้วจัดการกับจิตใจภายในอย่างเพื่อการปฏิบัติง่าย สำเร็จง่าย  

ในขั้นนี้ ไม่ต้องสนใจคนอื่น ไม่ดูคนอื่น ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น เพราะจะทำให้ฟุ้ง การที่เราจะไม่สนใจคนอื่นได้ เพราะเราแจ่มแจ้งในชั้นสติแล้วว่า ทั้งจิตใจตนและคนอื่น อยู่บนธรรมชาติเดียวกัน คือวิญญาณเสพอายตนะ วิญญาณเสพเวทนา วิญญาณเสพสัญญา สัญญากับเวทนาปรุงเป็นสังขาร ทั้งหมดหลอมรวมกันเป็นจิตใจ ที่วุ่นกันไปเพราะปรุงเยอะ เราจะเข้าสมาธิต้องหยุดปรุงหยุดเสพหยุดรับรู้ตัวแปร โฟกัสไปที่จิตธาตุ และจัดการกับมโนธาตุตรง ๆ ให้หมดจดที่สุด

ยิ่งหมดจดก็ยิ่งตั้งมั่น ยิ่งตั้งมั่นก็ยิ่งได้สมาธิ ยิ่งได้สมาธิก็ยิ่งได้กำลังฤทธิ์ กำลังญาณ อันเป็นฐานสำคัญสู่การบรรลุธรรม

4. มิติของวิปัสสนา

การวิปัสสนาที่ได้ผลเบ็ดเสร็จ ต้องพิจารณาทั้งความเป็นจริงในตน ทั้งความเป็นจริงในคนอื่น จนแจ่มแจ้งสัจจะทั้งปวง คือ

"สัพเพสังขารา อนิจจา - สังขารทั้งปวง (ทั้งของตนและคนอื่น) ไม่เที่ยง

สัพเพสังขารา ทุกขา - สังขารทั้งปวง (ทั้งของตนและคนอื่น) เป็นทุกข์

สัพเพธัมมา อนัตตาติ - ธรรมทั้งปวง (ทั้งภายในภายนอก) ไม่เป็นตน"

ต้องแจ่มแจ้งความจริงทั้งภายในภายนอก จึงเป็นการปฏิบัติที่ครบถ้วน

หากจะดูแต่ของตน ไม่ดูของคนอื่น จะหลุดแต่ไม่พ้น เหมือนพ่อแม่ที่ปลงสังขาร สละความต้องการของตนได้ แต่ไม่ยอมสละสังขารและความต้องการของลูกหลาน เอาความต้องการของลูกหลานมาแบก นี่เรียกว่า หลุดแต่ไม่พ้น

หากจะดูแต่ของคนอื่น ไม่ดูของตน จะพ้นแต่ไม่หลุด เหมือนคนที่ดูข่าวมาก เห็นกิเลสของคนในโลกมาก ทำให้เบื่อหน่าย หลีกเร้น ปล่อยวางโลกได้ แต่ไม่ดูของตน จึงมาวนเวียนอยู่กับสังขารและกิเลสในตนอยู่คนเดียว นี่เรียกว่า พ้นแต่ไม่หลุด   

ต้องพิจารณาสัจธรรมทั้งภายในภายนอก แล้ววางทั้งภายนอกภายใน เช่น เห็นใบไม้ร่วง ก็น้อมมาใส่ตนว่า ในที่สุด ชีวิตเราก็ร่วงเหมือนใบไม้ จึงปล่อยวางทั้งภายนอกภายใน ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก จึงทั้งหลุดทั้งพ้น 

5. มิติของการนำไปใช้

หนึ่งในวิชชาแปด หรืออภิปัญญาที่นักปฏิบัติพึงได้ และใช้ดีมีประโยชน์ คือ "เจโตปริยญาณ วิชชาล่วงรู้จิตใจผู้อื่น" ว่า 

โลภะมูลจิต เขากำลังทำงานก็ "รู้" รู้แล้วก็ปล่อยวาง หรือบริหารตามควรแก่ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ

โทสะมูลจิต เขากำลังทำงานก็ "รู้" รู้แล้วก็ปล่อยวาง หรือบริหารตามควรแก่ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ

โมหะมูลจิต เขากำลังทำงานก็ "รู้" รู้แล้วก็ปล่อยวาง หรือบริหารตามควรแก่ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ

หรือจิตดวงไหนกำลังทำงานร่วมกับจิตดวงไหน ก็ "รู้" เช่น โมหะจะทำงานร่วมกับอกุศลจิตทุกดวง โลภะกับโทสะก็ทำงานร่วมกันได้บางกรณี แยกกันก็ได้ รู้แล้วก็ปล่อยวาง หรือบริหารตามควรแก่ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ

กามาวจรโสภณจิต เขากำลังทำงานก็ "รู้" รู้แล้วก็ปล่อยวาง หรือบริหารตามควรแก่ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ

วิบากจิต เขากำลังทำงานก็ "รู้" รู้แล้วก็ปล่อยวาง หรือบริหารตามควรแก่ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ

มหัคคจิต เขากำลังทำงานก็ "รู้" รู้แล้วก็ปล่อยวาง หรือบริหารตามควรแก่ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ

โลกุตตรจิต เขากำลังทำงานก็ "รู้" รู้แล้วก็ปล่อยวาง หรือบริหารตามควรแก่ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ

นี่พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักบุคคลอื่นให้ลึกซึ้งถึงสภาวะจิตและองค์ธรรมในใจเขา รู้ถึงใจอย่างนี้จึงเรียกว่า "เข้าใจ" กันอย่างแท้จริง ถ้าดูจากภายนอกจะเข้าไม่ถึงใจ จะการแต่งกายก็ตาม ถ้อยคำก็ตาม ตระกูลก็ตาม การงานก็ตาม ตำแหน่งก็ตาม ทั้งหมดนั้นเป็นสมมติ เป็นมายาหลอกให้หลงไป ไม่ใช่จิตใจ ต้องรู้จักคนให้ทะลุสมมติถึงจิตใจอันเป็นปรมัตถ์ จึงเป็น "วิชชา" ใช้การได้

ใช้การได้ คือ เมื่อเรารู้จักคนถึงจิตใจ เราจึงจะบริหารได้แม่น ง่าย ได้ผลจริง บริหารได้ก็อยู่ในวิสัยที่รับผิดชอบได้ บริหารไม่ได้ก็เกินวิสัยที่จะรับผิดชอบได้ ก็ควรปล่อยไปสู่ที่ชอบที่ชอบ อย่าดันทุรัง

6. มิติของการบริหารและการนำ

หลักธรรมสำหรับการบริหารคือสัปปุริสธรรม "รู้จักความจริง รู้จักประโยชน์ รู้จักตน รู้จักประมาณความพอเหมาะพอดี รู้จักกาลอันควร รู้จักบริษัทหรือหมู่คณะ รู้จักบุคคล" นี่คือเจ็ดสิ่งที่ผู้นำและผู้บริหารต้องรู้ดี รู้ชัด จึงจะนำหรือบริหารได้ คนที่รู้แต่ตนอย่างเดียวไม่รู้ผู้อื่น จะบริหารไม่ได้ นำใครไม่ได้

นี่เป็นพุทธวิธีการรู้ความจริง บริหารความจริง หรือปล่อยวางความจริง หรือทั้งบริหารทั้งปล่อยวางความจริงพร้อมกันอย่างเป็นระบบครบถ้วน จะบริหารก็ตาม จะปล่อยวางก็ตาม ต้องรู้จริงตรงจริงก่อนจึงจะบริหารได้ ปล่อยวางได้

 

สรุป

ชาวพุทธแท้ควรศึกษาพุทธธรรมให้ถ่องถ้วนทุกระดับ และปฏิบัติพุทธวิธีอย่างเที่ยงตรงสู่ผลที่ปรารถนาตามฐานะหน้าที่ของตน

หากทำได้มิติเดียวก็พอโอเค เป็นคนดีในโลกได้

หากทำได้สองมิติก็ใช้ได้ เป็นคนดีและเก่งในโลก

หากทำได้สามมิติก็ดี เป็นคนดี เก่ง และมีกำลังในโลก

หากทำได้สี่มิติก็ดีมาก เป็นคนดี เก่ง มีกำลัง และแจ่มแจ้งในโลก

หากทำได้ห้ามิติก็ดีเยี่ยม เป็นคนดี เก่ง มีกำลัง แจ่มแจ้ง และน่าเกรงขามในโลก

หากทำได้ทั้งหกมิติก็ยอดดี เป็นคนดี เก่ง มีกำลัง แจ่มแจ้ง น่าเกรงขาม และเป็นที่พึ่งหลักในโลกได้

     

 

ที่มา
15 March 2023