Main navigation

การมองโลกในแง่ดีด้านเดียว พลาดอย่างไร

Q ถาม :

เรียนถามอาจารย์ค่ะ เนื้อหาที่เป็นการมองโลกในแง่ดีมีอะไรผิดพลาดคะ จึงไม่ผ่าน ทีมงานจะได้เรียนรู้ไว้ค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทั้งปวงมี

กุสลาธัมมา ความจริงที่มีคุณประโยชน์

อกุสลาธัมมา ความจริงที่มีโทษภัย

อัพยากตาธัมมา ความจริงที่มีความเป็นกลาง

ธรรมชาติทั้งหมดอยู่บนโครงสร้างนี้เสมอ เช่นเดียวกับในอะตอมประกอบด้วย อิเลคตรอน (-)  โปรตอน (+) นิวตรอน (0) 

ในจิตใจคนก็เช่นกัน มีคุณธรรม (+) กิเลส (-) ความว่าง (0)

ดังนั้น การพยายามมองแต่แง่ดี ทำให้เห็นความจริงแค่ส่วนเดียว และปฏิเสธที่จะดูความจริงส่วนอื่น ภาวะเช่นนี้ เรียกว่า "ปัญญาพิการ" ทำให้เกิด positive bias มีอาการวาดหวัง หลงเพ้อ หลงใหล ประมาท และตัดสินใจผิดพลาดได้มาก

มองแต่แง่ร้าย ทำให้เห็นความจริงแค่ส่วนเดียว และปฏิเสธที่จะดูความจริงส่วนอื่น ภาวะเช่นนี้ เรียกว่า "ปัญญาพิการ" ทำให้เกิด negative bias มีอาการเพ่งโทษ เห็นแต่ปัญหาไม่เห็นโอกาส ขลาด หวาดกลัว หัวหด ใจห่อเหี่ยว เกียจคร้าน ดักดาน เครียด อมทุกข์โดยไม่จำเป็น

มองแต่แง่เป็นกลาง ทำให้เห็นความจริงแค่ส่วนเดียว และปฏิเสธที่จะดูความจริงส่วนอื่น ภาวะเช่นนี้ เรียกว่า "ปัญญาพิการ" ทำให้เกิด passive bias มีอาการ พยายามทำตัวอยู่เฉย ๆ ปฏิเสธดี ปฏิเสธชั่ว ทำให้ไม่พัฒนาตน และบริหารสถานการณ์ไม่ได้ มักถูกกระแสซัดไป

ปัญญาที่บริบูรณ์ต้องเห็น คุณ โทษ และความเป็นกลางในทุกสิ่ง และบริหารสู่ความบริสุทธิ์ให้ได้ เช่น สังขาร ก็มีทั้งคุณ โทษ และความเป็นกลาง

สังขารมีความเป็นกลาง คือ สังขารคือกลุ่มธาตุธรรม กายสังขารประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตตสังขารประกอบไปด้วย วิญญาณธาตุ และอากาศธาตุ วจีสังขารประกอบไปด้วย สมมติบัญญัติเฉย ๆ

สังขารมีความเป็นคุณ เช่น สามารถเจริญให้เกิดอภิญญาได้ด้วย ฉันทสมาธิปธานสังขาร วิริยสมาธิปธานสังขาร จิตตสมาธิปธานสังขาร วิมังสาสมาธิปธานสังขาร เมื่อเจริญบริบูรณ์ย่อมได้ฤทธิ์ได้ปัญญา และบรรลุธรรมได้

สังขารมีความเป็นโทษ เช่น สัพเพ สังขารา อนิจจา (สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง) สัพเพ สังขารา ทุกขา (สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์) จึงต้องเจริญมรณานุสติกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน และปล่อยวางจนได้ สังขารุเปกขาญาณ

เมื่อเข้าสู่ระบบปฏิบัติ จึงต้องมีทั้ง

ศีล ปราการป้องกันโทษภัย (ต้องเห็นโทษภัยจึงจะป้องกันได้)

สติ ตั้งมั่นอยู่กับรู้ที่เป็นกลาง เป็นอิสระจากโลก

สมถะสมาธิ ตั้งมั่นอยู่กับความดีงามในใจ และลอกสิ่งปนเปื้อนออก จนใจมีพลัง

วิปัสสนาญาณ เมื่อใจมีกำลังแล้ว กล้าเห็นภัยแม้ในโทษเล็กน้อยในระดับวิถีการสัมผัสรู้ วิถีความรู้สึก วิถีความคิด วิธีพูด วิธีทำ ความเป็นไปของธรรมชาติ การเกิด การตาย การมีสังขารอันไม่เที่ยงแท้แน่นอน การปรุงแต่งอันบีบเค้นเป็นมายา

วิราคะ กล้าเลิก ละ สละทั้งคุณและโทษที่ทำให้เกิดทุกข์ได้ทั้งหมด ซึ่งจะทำได้เมื่อมีทั้งกำลังสติ อิสระจากโลก กำลังสมาธิ จิตใจมีอานุภาพแห่งความดีงาม และปัญญาญาณ เห็นภัยแม้ในสิ่งที่เป็นโทษและเป็นคุณ จึงยอมสละทั้งบาปและบุญ

วิมุตติ การก้าวสู่ความบริสุทธิ์ อมตะ

ดังนั้น หากพยายามมองโลกแง่ดีด้านเดียว หรือมองโลกแต่แง่ร้ายด้านเดียว หรือแม้มองโลกในแง่เป็นกลางด้านเดียว จะบริหารชีวิตจิตใจได้ไม่ดี ผิดพลาดเยอะ ปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล และไม่อาจบริสุทธิ์หลุดพ้นได้

ดีที่สุดคือ ใช้มาตรฐานสัจธรรม (Reality Based Management) ทั้งจัดระบบ ทั้งบริหารจัดการไตรคุณอย่างครบถ้วน เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญา ความสำเร็จอย่างไร้ปัญหา (หรือมีก็น้อยที่สุด) และความบริสุทธิ์แท้จริง