Main navigation

เราต้องปฏิบัติกรรมฐานทั้ง ๔๐ กองไหม ถ้าปฏิบัติหมดจะเกิดคุณวิเศษมากไหม

Q ถาม :

เรียนถามท่านอาจารย์ครับ ที่พระพุทธเจ้าให้กรรมฐานไว้ ๔๐ กอง เราต้องปฏิบัติทั้งหมดไหมครับ มีวิธีเดียวบรรลุธรรมได้เลยไหมครับ แล้วถ้าปฏิบัติหมดจะเกิดคุณวิเศษมากไหมครับ ผมกำลังชั่งใจอยู่ว่าจะเดินทางไหนดี

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานกี่วิธี

เมื่อเราถอดพุทธกิจทั้งหมดที่พระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมและพาชนบรรลุธรรม พบว่าพระพุทธองค์ทรงสอนกรรมฐานมากมายวิธี 

ซึ่งมีทั้ง

๑. กรรมฐานที่มีแบบแผน

นี่ก็กว่า ๑๐๐ วิธีแล้ว เช่น

วิราคภาวนา ๑ ซึ่งทรงตรัสว่าเลิศกว่าภาวนาทั้งปวง ก็ทรงสอนวิธีให้

วิเวก ๓ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

ธรรมสังคณี ๓ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

วิโมกข์ ๓ ฐานของปัญญาวิมุตติ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

ธรรมจักร ๔ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อิทธิบาทปธานสังขาร ๔ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อาหารเรปฏิกูลสัญญา ๔ ทั้งรูปและนาม ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

สติปัฏฐาน ๔ ทั้งรูปทั้งนามทั้งธรรม ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อัปปมัญญา ๔ ฐานของเจโตวิมุติ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

ปฏิสัมภิทา ๔ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติให้

อรูป ๔ หรือความว่างสี่ระดับ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อนุปุพพิกธรรม ๕ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อนัตตลักขณะ ๕ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

การบริหารจริต ๖ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อาทิตตปริยาย ๗ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

โพชฌงค์ ๗ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

วิโมกข์ ๘ เพื่อจิตอิสระ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

วิชชา ๘ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อนุสติ ๑๐ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

กสิณ ๑๐ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

อสุภ ๑๐ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

สัมมัตตะ ๑๐ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

การดับสังโยชน์ ๑๐ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

การดับปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

จรณะ ๑๕ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

วิปัสสนาญาณ ๑๖ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติครบถ้วน

ธาตุววัฏฐาน ๒๔ ทั้งรูปและนาม ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติให้

เจตสิกวิภังค์การบริหารเจตสิก ๕๒ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติให้

จิตตวิภังค์การบริหารจิต ๑๒๑ ภาวะ ก็ทรงสอนวิธีปฏิบัติให้

การปฏิบัติเหล่านี้ ล้วนมีผู้บรรลุธรรมทั้งหมด จึงเป็นกรรมฐานหลักที่พระพุทธองค์ทรงสอนแล้ว มีสาวกปฏิบัติแล้ว บรรลุธรรมแล้ว จึงเป็นกรรมฐานที่มีแบบแผน

๒. กรรมฐานที่เหมาะกับสถานการณ์ เช่น

เมื่อทรงแสดงสัจธรรมแก่สัทธิวิหาริกรูปหนึ่งของพระสารีบุตร ทรงหยิบดอกบัวมาหนึ่งดอก แล้วทรงทำให้ดอกบัวเปล่งปลั่ง แล้วค่อย ๆ ร่วงโรย ภิกษุรูปนั้นเกิดอนิจญาณ ก็บรรลุธรรมเลย (สัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ)

เมื่อทรงโปรดมหาโจรองคุลิมาล ทรงตรัสว่า "เราหยุดจากการฆ่าและการเบียดเบียนแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด" ทรงกระชากจิตสำนึกองคุลิมาลอย่างแรงและอย่างฉับพลัน องคุลิมาลพลิกจิต หลั่งศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า และพระธรรม ก็สำเร็จโสดาบันเลย

เมื่อทรงโปรดพกพรหม ทรงให้พรหมหายตัว แต่พกพรหมจะซ่อนตนอย่างไร พระพุทธองค์ก็ทรงเห็นโดยไม่ต้องตามหา ครั้งพระพุทธองค์ทรงหายตัวบ้าง พกพรหมไม่สามารถหาได้ พกพรหมจึงยอมรับว่ามีสภาวะที่ละเอียดกว่าบริสุทธิ์กว่าและอยู่นอกเหนืออำนาจของพรหม จึงสิโรราบต่อพระพุทธองค์ น้อมพระนิพพาน บรรลุโสดาบันเลย

เมื่อทรงแสดงธรรมแก่พระนางรูปนันทา ทรงเนรมิตสาวงามกว่าพระนางรูปนันทา แล้วค่อย ๆ ทำให้ชรา เสื่อม และสลายไปต่อหน้าต่อตา จนพระนางรูปนันทาสลดใจ คลายราคะในความงามของตนและของคนอื่น บรรลุโสดาบันเลย

เมื่อทรงโปรดท่านพาหิยะ ทรงตรัสว่า "ดูกรพาหิยะ เมื่อเธอเห็น พึงสักว่าเห็น เมื่อเธอได้ยิน พึงสักว่าได้ยิน เมื่อเธอรู้ พึงสักว่ารู้ ไม่ใส่ใจโดยพยัญชนะ (ภาษาสมมติ) และอนุพยัญชนะ (นิยามละเอียด ความนิยม ไม่นิยม) อยู่เถิด" ด้วยการปล่อยวางสมมติ ทำให้พระพาหิยะวิมุตติ สำเร็จอรหันต์เลย

เมื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาและเทพพรหมบนสวรรค์ ทรงแสดงอภิธรรมซึ่งเป็นการวิปัสสนาสัจจะที่ลึกซึ้ง ทำให้เทพพรหม แปดหมื่นโกฏิ (แปดแสนล้าน) บรรลุธรรม

เมื่อทรงแสดงธรรมโปรดเทพพรหมจากหมื่นโลกธาตุในมหาสมัย ทรงแสดงวิธีขูดอนุสัยแก่ทุกจริต ทำให้เทพพรหม แสนโกฏิ (ล้านล้าน) บรรลุธรรม

และอีกมากมายหลายปรากฏการณ์ ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานนับไม่ถ้วนวิธี เพราะพระองค์ทรงสามารถหยิบสัจจะทุกอย่างมาเป็นกรรมฐานได้หมด แม้กระทั่งภูเขา แม้กระทั่งฟองน้ำที่แตกกระจายในลำธาร แม้กระทั่งมหาสมุทร แม้กระทั่งศพของหญิงที่งามที่สุดในเมือง แม้กระทั่งการเปิดนรกสวรรค์ในวันเสด็จกลับจากดาวดึงส์ และอีกมากมาย ซึ่งล้วนมีผู้บรรลุธรรมทั้งสิ้น

ที่นี่เราสร้างถวายพระพุทธเจ้า จึงพยายามรักษาพุทธวิธีปฏิบัติธรรมของพระองค์ไว้ให้มากเท่าที่เป็นไปได้ ให้เป็นมรดกธรรมจากพระพุทธองค์เพื่อประโยชน์สุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และเป็นการน้อมคารวะพระอาจารย์ใหญ่พุทธโฆษาจารย์ ทำปณิธานของท่านให้บริบูรณ์

ที่มาของกรรมฐาน ๔๐

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ตอนนั้นการถ่ายทอดเป็นการสาธยายธรรม (สวด) ต่อ ๆ กันมา และเป็นการสอนจากอาจารย์สู่ศิษย์ต่อ ๆ กันมา อาจารย์ท่านใดบรรลุธรรมด้วยวิธีใด ก็จะสอนวิธีนั้นเป็นสำคัญ วิธีใดที่มีคนปฏิบัติน้อย ก็ค่อย ๆ สูญความนิยม และสูญหายไป 

พอมา พ.ศ. ๙๐๐ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ปรารถนารวบรวมวิธีปฏิบัติจากคัมภีร์ และจากครูบาอาจารย์ยุคนั้นให้เป็นหมวดหมู่ รวบรวมได้ ๔๐ วิธี รจนามาเป็นคัมภีร์ "วิสุทธิมรรค" คนเลยเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐาน ๔๐ วิธี ความจริงถ้าจะพูดให้ถูก ควรบอก ท่านพระพุทธโฆษาจารย์กรุณารวบรวมกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและที่ครูบาอาจารย์สอนต่อ ๆ กันมาได้ ๔๐ วิธี จะได้ไม่เป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า กล่าวตู่ หมายถึงพูดถึงพระพุทธเจ้าไม่ตรงจริง

จำเป็นต้องปฏิบัติกรรมฐานทั้งหมดไหม

กรรมฐาน ๑๐๐ กว่าวิธีต้องปฏิบัติหมดไหม คำตอบคือ ไม่จำเป็น

ถ้าจะปฏิบัติทั้งหมด ดีไหม คำตอบคือ ดี

ดีเพราะจะแตกฉานในจิต แตกฉานในธรรม แตกฉานในประโยชน์ แตกฉานในปฏิภาณ แตกฉานในคุณวิเศษ

กรรมฐานวิธีไหนทำให้บรรลุธรรมได้เลย

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูกรภิกษุ ในบรรดาภาวนาทั้งหลาย วิราคะภาวนา (การปล่อยวาง) เป็นเลิศ" 

ผู้ที่บรรลุธรรมด้วยวิราคะภาวนา เช่น ท่านพระพาหิยะ ท่านพระสีวลี ท่านพระทัพพมัลละ ท่านพระกุมารกัสสปะ ซึ่งล้วนเป็นผู้บรรลุธรรมง่ายและเร็วทั้งสิ้น

กรรมฐานอื่นทั้งหมดล้วนบรรลุธรรมได้ทั้งสิ้น เมื่อปฏิบัติถูกผล (ไม่ใช่ปฏิบัติถูกพิธีกรรม)

ปฏิบัติหลายวิธีจะได้คุณวิเศษไหม

คุณวิเศษเป็นผลของระดับบารมีเป็นสำคัญ ไม่ว่าบรรลุธรรมด้วยวิธีใด เมื่อบรรลุแล้ว ก็ได้คุณวิเศษตามบารมีทั้งสิ้น

ส่วนการปฏิบัติหลายวิธีจะได้ความแตกฉานในคุณวิเศษ ในจิต ในธรรม ในประโยชน์ ในปฏิภาณ ในการสอน ในการพาชนบรรลุธรรม 

ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานหลายวิธีที่สุดสมัยพุทธกาล คือ ท่านพระราหุล ได้ความแตกฉานมาก จนเทวดามาอัญเชิญไปอยู่ประจำที่ดาวดึงส์เพื่อเป็นพระอาจารย์สอนเทพพรหมทั้งหลาย กระทั่งปรินิพพานบนสวรรค์อย่างแสนสบาย ไร้เวทนา

แล้วเราจะเดินทางไหนดี

เดินทางสายกลางดีที่สุด

สายกลางอยู่ตรงไหน

อยู่ตรงความพอเหมาะพอดีกับความสำเร็จผล และพอเหมาะพอดีกับความเป็นไปได้ของตน