Main navigation

ทำไมคนจึงมองปัญหาเดียวกันไม่เหมือนกัน

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ ทำไมคนจึงมองปัญหาเดียวกันไม่เหมือนกันครับ ทำให้ผมสงสัยว่าจริง ๆ แล้วปัญหาอยู่ที่ตัวปัญหา หรืออยู่ที่ตัวคนกันแน่ครับ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างด้วยครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เป็นคำถามที่ลึกซึ้งดีมากครับ 

คนเห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกันเพราะภูมิจิตต่างกันครับ เช่น

1. Habit Base

ราคจริต 

คนมีอัธยาศัยรักสวยรักงาม พอเห็นอะไรไม่สวยงาม ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จะเห็นว่าเป็นปัญหาด้อยคุณภาพ หงุดหงิดได้

สัทธาจริต 

คนมีอัธยาศัยศรัทธา พอเห็นใครไม่ศรัทธา มีความเห็นแตกต่าง ก็จะเห็นว่าเป็นปัญหาดื้อรั้น นอกคอก หงุดหงิดได้

โมหจริต 

คนมีอัธยาศัยโมหะ หลงใหลหรือหลงผิด พอเห็นใครตรวจสอบความถูกต้อง ก็จะเห็นว่าเป็นศัตรูบ่อนทำลายกัน หงุดหงิดได้

โทสจริต 

คนมีอัธยาศัยโทสะ พอเห็นใครไม่ตามใจ หรือไม่ได้ดั่งใจ ก็จะเห็นว่าเป็นศัตรู เป็นคนไม่ได้เรื่อง หงุดหงิดได้

พุทธจริต 

คนมีอัธยาศัยพุทธะ ทำอะไรก็ต้องมีเหตุผลก่อนเสมอ พอเห็นใครทำตามความเชื่อก็จะเห็นว่างมงาย หรือใครทำตามความชอบ ก็จะเห็นว่าเขาเหลวไหล หงุดหงิดได้ เป็นต้น  

จะเห็นได้ว่า นิสัยต่างกันก็ก่อให้เกิด Habit Bias ตามนิสัยของแต่ละคน พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า "จริต"

2. Professional Base

นักการศึกษา ก็บอกว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ชาติจะเจริญได้ด้วยการศึกษา แต่พอประเทศชาติมีปัญหา ก็โทษว่าการเมืองไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี (ซึ่งแสดงว่าการศึกษาไม่ได้มี impact ที่สุดจริง)

นักการเมือง ก็บอกว่า การเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ชาติจะเจริญได้ด้วยการเมือง แต่พอประเทศชาติมีปัญหา ก็โทษว่าการสื่อสารมวลชนไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี (ซึ่งแสดงว่าการเมืองไม่ได้มี impact ที่สุดจริง)

นักเศรษฐศาตร์ ก็บอกว่า เศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ชาติจะเจริญได้ด้วยเศรษฐกิจ แต่พอประเทศชาติมีปัญหา ก็โทษว่าการศึกษาไม่ดี การเมืองไม่ดี (ซึ่งแสดงว่าเศรษฐกิจไม่ได้มี impact ที่สุดจริง)

และอีกมากมายหลายวิชาชีพ 

จะเห็นได้ว่าพอเป็นความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ทุกวิชาชีพล้วนมี Professional Bias (พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า "มานะ") ซึ่งแสดงว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะกับปัญญาเป็นคนละอย่างกัน

ในโลกความเป็นจริง วิกฤติการเมืองแม้สงครามทั้งหมดก็เกิดจากนักการเมืองผู้เชี่ยวชาญนั่นเอง วิกฤติเศรษฐกิจทั้งหมดก็เกิดจากนักการเงินผู้เชี่ยวชาญนั่นเอง แต่คนที่มีปัญญาน้อยกว่าก็มีแนวโน้มจะเชื่อ เพียงเพราะเข้าใจว่าเขาเป็น Professional จึงมี bias อีกชั้นเพราะความเชื่อในบุคคลเฉพาะวิชาชีพ

3. Dhamma Base

จิตจมทุกข์

จิตจมทุกข์เป็นปกติ จะเห็นปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ชินแล้ว ทน ๆ มันไป เดี๋ยวก็ตายกันแล้ว โวยวายไปก็ทำอะไรไม่ได้ ยินดีที่จะยอมจำนน เพราะดูแคลนตนเองเป็นประจำ จิตเช่นนี้ลงอบายเพราะจิตตนเองเป็นส่วนใหญ่

จิตเมาสมุทัย

จิตเมาสมุทัย จะเห็นทุกสิ่งเป็นปัญหาไปหมดแม้ในสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าไม่เป็นปัญหาเลย จิตแบบนี้ แม้อยู่คนเดียวก็สามารถปรุงแต่งปัญหาแม้จากสิ่งที่ไม่มีปัญหาจริง แล้วร้องแรกแหกกระเชอโชว์ปัญหาเพราะเข้าใจผิดคิดว่ารู้ปัญหาคือปัญญา แท้จริงแล้วการรู้ปัญหายังเป็นอวิชชาอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสในปฏิจจสมุปบาทว่า เพราะอวิชชามี สังขารการปรุงแต่งทั้งปวงจึงมี ปรุงเป็นกิเลสนานา ทั้งฟุ้งซ่าน ทิฏฐิ มานะ อิจฉา แข่งดี หลงผิด หลงใหล ห่วงหวง กิเลสเหล่านี้และสารพัดกิเลสสามารถสร้างปัญหามายามาหลอนตนและคนอื่นได้มากมาย ลองดูจิตเวลาห่วง หวง หรือหึงสิ สามารถปรุงแต่งเรื่องราวและปัญหาได้อัศจรรย์พันลึก สร้างความยุ่งยากล้มเหลวให้กับตน ควมสัมพันธ์ การงาน และหมู่คณะมากมาย จิตกิเลสเช่นนี้ลงอบายเพราะจิตตนเองและกรรมที่ตนสร้างเกือบทั้งหมด จนกว่าจะละออกจากปัญหาได้ จึงเริ่มมีปัญญาและเปลี่ยนภูมิ

จิตนิโรธ

จิตนิโรธจะเห็นทุกอย่างในโลกว่างเปล่าจากตน ไม่มีอะไรเป็นอะไรจริง แม้ปัญหาก็ไร้แก่นสาร ไม่ควรที่จะยึดถือ ท่านโฟกัสที่สภาวะบริสุทธิ์เป็นหลัก ด้วยจิตเช่นนั้น ทำให้สิ่งที่คนคิดว่าเป็นปัญหาไม่เป็นปัญหาสำหรับท่าน และท่านก็ไม่มีปัญหากับโลก เพียงเนื่องด้วยท่านได้ดับวางกิเลสของตนได้หมดสิ้นแล้ว จึงไม่อาจยอมรับกิเลสใด ๆ ของใครได้อีก นั่นทำให้คนเมาสมุทัยยังยึดกิเลสว่าดีอยู่ ไม่เข้าใจท่านไปบ้าง ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "ตถาคตย่อมไม่มีปัญหากับโลก แต่โลกย่อมมีปัญหากับตถาคต" เรื่องนี้ชัดว่า อรหัตผลจิต ไม่มีปัญหาใด ๆ ปัญหาทั้งหลายเป็นเรื่องของจิตปุถุชนเท่านั้น จิตนิโรธเช่นนี้ ไม่เกิดในโลกอีกแล้ว

จิตเจริญมรรค

จิตที่อยู่ในมรรคเจริญด้วยดี จะเห็นสิ่งต่าง ๆ ในโลกเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่กำลังเป็นไปไหลเลื่อนตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยต่างกันก็นำสู่ผลที่ต่างกัน เมื่อต้องการผลที่ดี ก็เอาเหตุปัจจัยที่ไม่ดีออก ใส่เหตุปัจจัยที่ดีใหม่เข้าไป เช่น เมื่อปรารถนาสุข ก็เอาเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ออก ใส่เหตุปัจจัยแห่งสุขเข้าไป เมื่อปรารถนาความอมตะ ก็เอาเหตุปัจจัยแห่งอนิจจังออก ใส่เหตุปัจจัยสู่อมตธาตุเข้าไป เป็นต้น จิตเช่นนี้จะมี solution ให้กับเกือบทุกสถานการณ์ และจะยินดีกับ solution choices ที่ smart ทั้งหลาย และเบื่อหน่ายอย่างยิ่งกับจิตใจที่ไม่มี solution เพราะเมื่อไม่มี solution ก็จะสร้างปัญหาให้ตัวเอง และสร้างปัญหาให้คนอื่นโดยไม่จำเป็นเลย เพียงเพราะไปจมอยู่กับอวิชชาอันไร้ประโยชน์ แต่เมื่อเปิดปัญญาทำงานก็จะเห็น solution สารพัดสำหรับทุกสถานการณ์ และจะสนุกในการบริหารพอควร มรรคจิตเช่นนี้ไปสู่สุคติสุคโตเกือบทั้งหมด 

พระพุทธองค์ทรงเรียกการจมในทุกข์ การปรุงสมุทัย การไม่รู้นิโรธภาวะปลอดภัย การไม่มีไม่ปฏิบัติมรรค (solution) ว่า “อวิชชา”

พระพุทธองค์ทรงเรียก การกำหนดรู้ทุกข์ การละดับสมุทัย การแจ้งนิโรธ และการเจริญมรรคว่า “ปัญญา”

โดยรวบยอด

เหล่านี้คือตัวอย่างฐานจิต และยังมีอีกมากมายหลายฐานเหลือเกิน

เมื่อฐานจิตต่างกัน คุณค่าก็ต่างกัน

เมื่อคุณค่าต่างกัน เกณฑ์ความดีงาม ความถูกผิดก็ต่างกัน

เมื่อเกณฑ์ความดีงาม ความถูกผิดก็ต่างกัน การแสวงหาก็ต่างกัน

เมื่อการแสวงหาต่างกัน การเห็นโอกาสและการเห็นปัญหาก็ต่างกัน

เมื่อการเห็นโอกาสและการเห็นปัญหาต่างกัน การตัดสินใจสนองตอบก็ต่างกัน

เมื่อการตัดสินใจสนองตอบต่างกัน อารมณ์และผลลัพธ์ก็ต่างกัน
 

สรุป

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาสำหรับบางคน ไม่ใช่ปัญหาสำหรับอีกหลายคน ดังนั้น อย่าไปทึกทักว่า ทุกคนจะต้องเห็นปัญหาเดียวกัน

แม้เห็นปัญหาเดียวกัน ก็อย่าทึกทักว่า ทุกคนจะต้องเห็นปัญหาเหมือนกัน

แม้เห็นปัญหาเหมือนกัน ก็อย่าทึกทักว่า ทุกคนจะต้องรู้สึกหมือนกัน

แม้รู้สึกเหมือนกัน ก็อย่าทึกทักว่า ทุกคนจะต้องมีทางออกเหมือนกัน

แม้มีทางออกเหมือนกัน ก็อย่าทึกทักว่า ทุกคนจะต้องออกทางเดียวกัน

ยังมีสารพัด bias ในฐานจิตมนุษย์ที่เข้ามาร่วมตัดสินใจด้วย


เมื่อธรรมชาติจิตใจต่างกันเช่นนี้ จะร่วมโลกกันได้อย่างไร

มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดีด้วยความเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน

1. สิทธิส่วนบุคคล ตามกฎแห่งกรรม รับรองความเท่าเทียมกันทุกชีวิต

2. สิทธิแห่งความรับผิดชอบ ตามกฎแห่งโลก รับรองตาม authority

3. สิทธิแห่งความหลุดพ้น ตามกฎแห่งธรรม รับรองตามความบริสุทธิ์

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

จริต ๖ จิต อริยสัจ ๔