Main navigation

จะรู้ได้อย่างไรว่าสติปัญญากำลังทำงาน ไม่ใช่อวิชชา

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ จากกรณีที่ท่านอาจารย์อบรมหน้างานเข้มเรื่อง "สิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควร" "สิ่งที่คุ้มและสิ่งที่ไม่คุ้ม" "ปัญญาและอวิชชาในการทำงาน" ทำให้พวกเราสะดุ้งเหมือนกันว่าเราก็เผลอทำตามอวิชชาของคนอื่นบ้างเหมือนกัน จึงเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้สติปัญญาของเราออกมาทำงานแล้วครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เมื่อสติปัญญาทำงาน

จิตจะผ่องใส จะรู้ชัด เห็นชัดว่า

1. สิ่งนั้นให้คุณอะไรบ้าง ให้โทษอะไรบ้าง  

2. คุณและโทษนั้น มีระดับความเข้มข้น รุนแรงประมาณไหน

3. คุณและโทษนั้น ให้ผลต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน

4. การที่ต้องรับโทษนั้น เพื่อแลกกับคุณแค่นั้น คุ้มหรือไม่บนถนนวิวัฒนาการ

หากไม่คุ้ม ไม่เอา ไม่ทำ
หากคุ้ม จึงพิจารณาต่อ

5. คุณนั้น มีความจำเป็นต่อความสำเร็จในชีวิต และในการบรรลุธรรมหรือไม่

หากไม่จำเป็น ไม่เอา ไม่ทำ
หากจำเป็น จึงพิจารณาต่อ

6. การยอมแบกโทษนั้นเพื่อคุณนั้น มีค่าใช้จ่ายในชีวิตเท่าไร

ค่าใช้จ่ายทางจิตใจ
ค่าใช้จ่ายทางสติปัญญา-อวิชชา
ค่าใช้จ่ายทางกรรมและความสัมพันธ์
ค่าใช้จ่ายทางการเงิน
ค่าใช้จ่ายทางกาลเวลา

หากค่าใช้จ่ายมากกว่าคุณนั้นลบด้วยโทษนั้นแล้ว ไม่เอา ไม่ทำ

หากคุณนั้นลบด้วยโทษนั้นแล้ว สูงกว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้รวมกัน จึงพิจารณาทำตามความเหมาะสม

7. ระหว่างทาง หากมีความผิดพลาดใดเกิดขึ้น แก้ไขทันที จนพ้นปัญหา ไม่สร้างปัญหาใหม่กลบปัญหาเก่า ปัญหาจะยิ่งเติบโตงอกงาม จนล้มเหลว

เมื่ออวิชชาทำงาน

จะทำไปโดยไม่รู้ชัดเห็นชัดซึ่งผลที่จะตามมา แต่ทำเพียงเพราะ

๑. ฟังตาม ๆ กันมา

๒. ถือปฏิบัติสืบ ๆ กันมา

๓. ถือตามการเล่าลือ

๔. อ้างตำราหรือคัมภีร์ (ตำราเป็นเพียงชุดความรู้ ไม่ใช่ความจริงเสมอไป)

๕. ตรึกตามตรรกะแล้วว่า ต่อไปต้องเป็นอย่างนี้ (ธรรมชาติมีตัวแปรมากกว่าที่เอามาตั้งเป็นเงื่อนไขอยู่ในตรรกะ)

๖. การอนุมานเชื่อมโยงกับเหตุการณ์อื่น (แต่ละเหตุการณ์มีบริบทและเหตุปัจจัยของมันเอง)

๗. คิดตรองตามแนวเหตุผล (เหตุผลที่แท้จริงตามธรรมชาตินั้นไม่มีสิ้นสุด แต่มนุษย์คิดเหตุผลได้เพียงไม่กี่ชั้น)

๘. เข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (ทฤษฎีเป็นเพียงสมมติฐานหนึ่ง ๆ ไม่ใช่สัจจะ)

๙. มองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้

๑๐. ครูของเราเป็นคนบอก (ครูก็อาจมีถูกมีผิดได้)

ถ้าปฏิบัติเพียงเพราะสิ่งเหล่านี้โดยไม่เห็นผลที่ตามมาจริง เป็นอวิชชา

พระพุทธองค์ทรงสอนอีกว่า "เมื่อใดเธอปฏิบัติแล้ว กุศลกรรมเพิ่ม อกุศลกรรมลด เธอพึงเชื่อสิ่งนั้น เมื่อใดเธอปฏิบัติแล้ว อกุศลกรรมเพิ่ม กุศลกรรมลด เธอไม่พึงเชื่อสิ่งนั้น" จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อความเชื่อสำเร็จรูปใด ๆ ที่เชื่อไว้ก่อน แต่ทรงให้เชื่อผลที่เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า สิบประการนั้นเชื่อถือไม่ได้เลยนะ อาจเชื่อถือได้บ้างหากเราปฏิบัติตามแล้ว ได้ผลดีโดยมาก ผลเสียไม่มี

สรุป

ดังนั้น ตัวไม่รู้ชัดเห็นชัดซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ อวิชชา

ตัวรู้ชัดเห็นชัดซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ปัญญา

สติคือตัวยับยั้งชั่งใจ เตือนให้ประเมินรอบด้านก่อน หากไม่มั่นใจก็ทดลองแต่น้อยก่อน

เอาสติปัญญามาทำงานกันนะ อย่าให้อวิชชามาทำงาน แล้วชีวิตจิตใจจะยกขึ้นสู่ version ใหม่เลย

การทำงานด้วยสติปัญญา เป็นการ stabilize สติปัญญาได้ดีมากอีกวิธีหนึ่งในโลก

 

 

  

ที่มา
23 April 2023

คำที่เกี่ยวข้อง :

สติ ปัญญา อวิชชา