Main navigation

แก้อาการจิตขุ่นมัวอย่างไร

Q ถาม :

กราบเรียนอาจารย์ค่ะ เราจะแก้อาการจิตขุ่นมัวได้อย่างไรคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

จิตขุ่นมัวเพราะเคี้ยวเอื้องสิ่งที่ไม่ดีด้านเดียว และนานเกินควร

ดังนั้นให้ทำ ดังนี้

ขั้นที่ 1 ประมวลธรรมสังคณีของพระพุทธองค์มาเป็นตัวตั้ง

พระผู้มีพระภาคทรงพบว่า ความมีอยู่เป็นอยู่ทั้งปวงมีสามคุณสมบัติ คือ

กุสลาธัมมา ความเป็นประโยชน์ ดีงาม ให้สุข

อกุสลาธัมมา ความเป็นโทษ ให้ทุกข์

อพยากตาธัมมา ความเป็นกลาง ให้ความเฉย ๆ

เอาสัจธรรมนี้เป็นตัวตั้งตลอดเวลา แล้วมองทุกสิ่งให้ลึกจนเห็นถึงสามคุณเสมอ เพราะเราเห็นครบคุณ เราจึงไม่หลงผิด และสามารถบริหารจัดการได้ เช่น เราเห็นว่า อะตอมประกอบด้วย นิวตรอน (กลาง) โปรตอน (บวก) อิเล็กตรอน (ลบ) เราจึงผลิดแม่เหล็กได้ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ผลิตควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้ ผลิตเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้มากมาย เป็นต้น

ดังนั้น ฝึกปัญญาให้ชำนาญในการเห็นสามคุณในทุกสิ่งเสมอ

ขั้นที่ 2 เลือกเสพ 

เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกเสพโลกเท่าที่เรารู้สึกสุขสบาย เช่น ธรรมชาติที่ยังความสบายให้แก่ชีวิต บุคคลที่ยังความสุขให้แก่จิตใจด้วยความจริงใจ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บริสุทธิ์ต่อกันจริง

อะไรที่ทำให้เป็นทุกข์ไม่สบาย ก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะไม่เสพ เช่น ธรรมชาติที่รุนแรง อาหารบั่นทอนสุขภาพ คนไม่จริงใจ ถ้อยคำแสดงตัวตน กิเลสสำแดง เสียดแทง เป็นต้น 

ใช้สิทธิ์ของตนให้เป็น รักษาสิทธิ์ของตนให้ดี อย่าให้ใครมาละเมิดสิทธิ์ได้

ขั้นที่ 3 เลือกรู้สึก 

แม้บางครั้งเราหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ไม่พึงประสงค์ไม่ทัน เราก็สามารถเลือกรู้สึกได้ เช่น

เมื่อเห็นพ่อแม่ห้ามนั่นห้ามนี่ บางครั้งอาจทำให้รู้สึกอึดอัด ก็มองให้เห็นความห่วงใยความหวังดีของพ่อแม่ให้ได้ เมื่อเห็นแล้ว จะรู้สึกอบอุ่นแทนอึดอัด แต่ถ้าตนเห็นว่าควรจะทำสิ่งนั้นจริง ๆ และตนสามารถรับผิดชอบผลที่ตามมาได้โดยไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ ก็ทำไปตามสิทธิ์ของตนโดยไม่ต้องบอกพ่อแม่ เพราะจะทำให้พ่อแม่เป็นกังวลและอึดอัดต่อความดื้อรั้นของเราแทน

เมื่อเผชิญภัยธรรมชาติ แทนที่จะตระหนก ก็เห็นว่าเป็นธรรมดาโลก แล้วเฉย ตั้งสติ หาที่ปลอดภัย

เมื่อเผชิญความเจ็บ หรือความตาย แทนที่จะหวาดกลัว ก็เห็นว่าเป็นธรรมดาสังขาร แล้วเฉย ตั้งจิตหมดจด หาภูมิบริสุทธิ์ที่ไม่เจ็บไม่ตายเสีย

ขั้นที่ 4 เลือกปล่อยวาง

เมื่อได้ยินถ้อยคำเป็นพิษ ก็ปล่อยวางนิยามนิยมในคำเหล่านั้นเสีย ถ้าคนพ่นวาจาพิษยังใกล้ชิด ก็ปล่อยวางคนนั้นเสีย

เมื่อเจอระบบเป็นพิษ เช่น ระบบที่ไม่เป็นธรรม สร้างแต่ปัญหา ก็ปล่อยวางระบบนั้นเสีย ถ้าสังคมยังยัดเยียดพิษใส่กัน ก็ปล่อยวางสังคมเสีย


การปฏิบัติโดยสรุป

เราไม่อาจควบคุมโลกได้ แต่เราสามารถเลือกเสพโลกได้ ก็เลือกเสพแต่สิ่งที่ทำให้เป็นสุข

แม้เราเลือกแล้ว พิษก็ระคนมากับคุณ ก็เลือกที่จะรู้สึก สุขได้เป็นการดี สุขไม่ได้ก็เฉย แล้วใช้ปัญญาหา better state

แม้เราพยายามบริหารความรู้สึกแล้ว ความรู้สึกก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนไปมา ก็ปล่อยวางความรู้สึกทั้งหมดเสีย จะได้ความผ่องใสอย่างยิ่ง จิตอิสระลอยออกมาแทน