ความคิดกับการปฏิบัติธรรม
ท่านอาจารย์คะ พบท่านริมโปเชสอนที่อังกฤษว่า "we cannot stop thinking. Meditation is not to throw away thoughts, you have to think righteously for meditation." แต่สายวัดป่าของไทยเราให้หยุดคิด เราจะ apply สองวิธีนี้เข้าด้วยกันได้ไหมคะ เพราะสังเกตตัวเอง ก็มีความคิดเข้ามาบ้างเวลาปฏิบัติธรรม
คำถามนี้คงตรงใจชาวโลกส่วนใหญ่ในยุคนี้
ก่อนอื่นเราเข้าใจกระบวนการปฏิบัติธรรมและองค์ธรรมที่ต้องใช้ในแต่ละขั้นตอนก่อนนะ
กระบวนการ 1 อริยมรรค
สัมมาทิฏฐิ องค์ธรรมที่ต้องใช้ คือ ประสบการณ์ ความคิด วิจารณญาณ ประเมินค่าความเที่ยงตรงต่อสัจจะ การตัดสินใจเลือกธรรมที่ถูกตรงสัจจะเท่านั้น
สัมมาดำริ องค์ธรรมที่ต้องใช้ คือ ความตั้งใจ ความแน่วแน่ เป็นมนสิการแห่งใจ
สัมมากัมมันตะ องค์ธรรมที่ต้องใช้ คือ เจตนา มาตรฐานคุณธรรม จิตสำนึกกำกับพฤติกรรม
สัมมาวาจา องค์ธรรมที่ต้องใช้ คือ การพิจารณาความเหมาะควร เจตจำนง การประกอบความหมายเป็นภาษา การประกอบจิตในการสื่อสาร การเปล่งวาจา
สัมมาอาชีวะ องค์ธรรมที่ต้องใช้ คือ การประมวลโอกาสและความเสี่ยง การประเมินความถูกคุณธรรม และความคุ้มค่าระยะยาว ความมีวินัย การดำเนินการด้วยปรารถนา จิตสำนึก และสติปัญญา
สัมมาวายามะ องค์ธรรมที่ต้องใช้ คือ ความตั้งใจพากเพียรไม่ย่อท้อ ความพยายามละบาปและความผิดพลาดที่ปรากฏ ความพยายามละบาปและความผิดพลาดอื่นไม่ให้เกิด ความพยายามเจริญคุณธรรมและบุญให้เกิดขึ้น ความพยายามรักษาคุณธรรมความดีงามที่เกิดให้ตั้งมั่น
สัมมาสติ องค์ธรรมที่ต้องใช้ คือ รู้ (ไม่ใช่คิด) อยู่ในอิริยาบถใดก็ "รู้" เคลื่อนไหวอย่างไรก็ "รู้" หายใจเข้าออกก็ "รู้" อวัยวะภายนอกภายในมีอะไรบ้างก็ "รู้" ที่สุดของกายจะเป็นอย่างไรก็ "รู้" หายใจเข้าออกก็ "รู้" กายรู้สึกสบาย ไม่สบาย เฉย ๆ ก็ "รู้" ใจรู้สึกทุกข์ สุข เฉย ๆ ก็ "รู้" จิตฟุ้งซ่าน (คิดพล่าน) หรือหดหู่ก็ "รู้" จิตสงบ หรือไม่สงบก็ "รู้" จิตตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่นก็ "รู้" จิตมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสก็ "รู้" จิตหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้นก็ "รู้" ธรรมรบกวนจิต (นิวรณ์) ปรากฏก็ "รู้" อายตนะใดกำลังทำงานก็ "รู้" ขันธ์กำลังทำงานอยู่อย่างไรก็ "รู้" กลไกโพชฌงค์กำลังดำเนินไปก็ "รู้" ปฏิบัติการแห่งอริยสัจ รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค กำลังทำงานต่อเนื่อง หมุนเวียนหลายรอบก็ "รู้"
สัมมาสมาธิ องค์ธรรมที่ต้องใช้ คือ
ชั้นอุปจารสมาธิ
ในชั้นนี้เป็นปฏิบัติการดับนิวรณ์ คือ ดับความถวิลหากามและการบริโภคด้วยความพอ ดับความพยาบาทด้วยเมตตาและอภัย ดับอุทธัจจะคิดฟุ้งซ่านด้วยสติอยู่กับปัจจุบันขณะ ดับวิจิกิจฉาลังเลสงสัยด้วยศรัทธา ดับความหดหู่ด้วยความเชื่อมั่นในจิตใจภายใน ไม่ดูหมิ่นตนเอง (ความคิดพล่านดับแล้วตั้งแต่ขั้นนี้)
ชั้นอัปปนาสมาธิ
ฌาน 1 วิตก (พิจารณาสภาวะจิต) วิจาร (วินิจฉัย) ปีติ สุข เอกัคคตา ทำงานร่วมกันในจิต ก็ "รู้และซึมซาบสภาวะ"
ฌาน 2 วิตก (พิจารณาสภาวะจิต) วิจาร (วินิจฉัย) ดับหายไป (ความคิดแม้ประณีตดับแล้ว) มีแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา ทำงานร่วมกันในจิต ก็ "รู้และซึมซาบสภาวะ"
ฌาน 3 ปีติดับหายไป มีแต่ สุข เอกัคคตา อุเบกขา ทำงานร่วมกันในจิต ก็ "รู้และซึมซาบสภาวะ"
ฌาน 4 สุขดับหายไป มีแต่ อุเบกขา และสติบริสุทธิ์ ทำงานร่วมกันในจิต ก็ "รู้และซึมซาบสภาวะ"
เอาละไปนับดูว่า ตรงไหนบ้างที่ใช้ความคิด ตรงไหนที่ใช้มาตรฐานคุณธรรม ตรงไหนที่ใช้การพิจารณาอย่างเป็นกลาง ตรงไหนที่ใช้รู้ล้วน ๆ ตรงไหนที่ใช้รู้และการซึมซาบสภาวะเพื่อความเสถียร
กระบวนการ 2 ปัญญาญาณ
สุตตมยปัญญา กลไกที่ตัองใช้ คือ การฟัง การอ่าน
จินตามยปัญญา กลไกที่ตัองใช้ คือ การพิจารณาและจินตนาการส่องดูความจริงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ภาวนามยปัญญา กลไกที่ตัองใช้ คือ สติบริสุทธิ์ สมาธิ แสงจิต จิตใหญ่ จิตตั้งมั่น จิตผ่องใส จิตหมดจด ปัญญาชั้นนี้เป็นการทำงานของจิตคุณภาพสูงล้วน ๆ ต้องไม่มีความคิดปนเปื้อน จึงจะได้
กระบวนการ 3 วิมุตติ
กลไกวิมุตติ คือ
กลไก 1 แจ่มแจ้งสัจจะด้วยภาวนามยปัญญา เห็นกฎไตรลักษณ์ แล้วเห็นความไม่คุ้มค่า จึงเบื่อหน่ายที่จะข้องแวะด้วย ตัดสินใจวิราคะ (คลายกำหนัด ปล่อยวาง) สังขารทั้งปวง วางได้ขาด ก็บรรลุ "วิมุตติ"
กลไก 2 แจ่มแจ้งสัจจะด้วยภาวนามยปัญญา เห็นอดีต (ระลึกชาติ) เห็นผลกรรมในอนาคต (จุตูปปาตญาณ) เห็นอาสวะ (กาม ทิฏฐิ ความเป็น ความไม่รู้) เป็นตัวสร้างกรรม การเกิด ภพชาติ แล้วเห็นความไม่คุ้มค่า จึงเบื่อหน่ายที่จะข้องแวะด้วย ตัดสินใจวิราคะ (คลายกำหนัด ปล่อยวาง) อาสวะทั้งปวง วางได้ขาด ก็บรรลุ "วิมุตติ"
กลไก 3 แจ่มแจ้งสัจจะด้วยภาวนามยปัญญา โลกและทุกสิ่งในโลกคือของว่างเปล่า ไร้แก่นสาร เกิดมาด้วยอวิชชา แต่งแต้มฉาบทาด้วยตัณหา ดำเนินไปตามกรรม ไม่เที่ยง เกิดมาชั่วคราวแล้วดับไป แล้วเห็นความไม่คุ้มค่า จึงเบื่อหน่ายที่จะข้องแวะด้วย ตัดสินใจวิราคะ (คลายกำหนัด ปล่อยวาง) อวิชชา ตัณหา กรรมทั้งปวง วางได้ขาด ก็บรรลุ "วิมุตติ"
กลไกวิมุตติมีมากมายอีกหลายกลไกมาก แต่ทั้งหมดเป็นปฏิบัติการแห่งภาวนามยปัญญา นิพพิทาญาณ (ญาณไม่ใช่ความคิด) และวิราคะทั้งสิ้น ไม่มีความคิดมาเกี่ยวข้องเลย
จำแนกระดับหน้าที่ องค์ธรรมจำเป็น
ดังนั้น
การปฏิบัติธรรมขั้นต้น ใช้ความคิดนำร่องได้บ้าง แค่ระดับสัมมาทิฏฐิ สุตตมยปัญญา และบางส่วนของสัมมาดำริ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ จินตามยปัญญา และฌาน ๑ เท่านั้น
จินตามยปัญญาส่วนหนึ่งเป็นธรรมวิจัยด้วยความคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเป็นกลาง อีกส่วนหนึ่งเป็นจินตนาการ (mind projection) ไปนอกเหนือจากสิ่งที่คิดได้ จนเห็นความเป็นไปได้อื่น ๆ ความเป็นจริงอื่น ๆ ด้วยจินตภาพ อาจถูกบ้างผิดบ้าง
การปฏิบัติธรรมขั้นกลาง พอขึ้นสัมมาสติ เป็น "รู้" สิ่งที่มีอยู่จริงล้วน ๆ ไม่คิด
การปฏิบัติธรรมขั้นสูง พอขึ้นสัมมาสมาธิ เป็น "รู้" ลอกการปรุงแต่งจิต จนถึงสภาวะสงบสุขสนิท ตั้งมั่น ซึมซาบ "รู้บริสุทธิ์" อันเป็นฐานภาวนามยปัญญา รู้เห็นความจริงที่ลึกซึ้ง เที่ยงตรง แม่นยำกว่าจินตภาพมาก ชั้นนี้ ไม่คิด หากคิดจะเป็นแค่นิมิต ใช้ไม่ได้
การปฏิบัติธรรมขั้นสูงส่ง พอขึ้นสัมมาญาณะ เป็น "รู้แจ้ง" เป็นผลการทำงานของสติบริสุทธิ์ในสมาธิจิต หมดจดต่อเนื่อง จนเกิดแสงจิต เมื่อแสงจิตผ่องใสได้ที่ ก็จะเห็นความจริงตรงจริง ได้ทะลุปรุโปร่งแทงตลอด ชั้นนี้ต้องไม่มีความคิด ไม่มีความรู้สึกใด ๆ รบกวน จึงได้ญาณ
การปฏิบัติธรรมขั้นสูงสุด พอขึ้นสัมมาวิมุตติ เป็น "ญาณแจ่มแจ้งสัจจะ + ญาณเห็นผลรวบยอดทุกสิ่ง + ญาณเห็นที่สุดทุกสิ่ง + วิราคะ" วางสิ่งสกปรกทั้งหมดแม้เล็กน้อย จนบริสุทธิ์สัมบูรณ์ จึงหลุดพ้นจากทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง เหลือแต่ "รู้ ตื่น เบิกบาน อันบรมสุข ในบรมว่าง"
ดังนั้น ก็ดูว่าตอนนี้สภาวะจิตใจอยู่ระดับไหน ถ้าอยู่ชั้นต้นก็ต้องใช้ความคิดพิจารณา ปรับชีวิตจิตใจให้เข้าที่เข้าทางธรรม แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้น อย่าซ้ำชั้นนาน เพราะความคิดที่ถูกต้องช่วยตะล่อมเข้าทางที่ถูกตรงเฉย ๆ แต่ไม่อาจทำให้บรรลุธรรมได้ หากความคิดทำให้บรรลุธรรมได้ มนุษย์ทั้งโลกก็จะบรรลุธรรมได้หมด เพราะขยันคิดกันได้ทั้งวัน นักปริยัติก็จะบรรลุธรรมทั้งหมดเพราะคิดดี คิดเก่งมาก ด้วยเหตุที่ความคิดฟุ้งซ่านไม่อาจบรรลุธรรมได้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติลำดับขั้นการพัฒนา คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ลำดับพัฒนาการ
เมื่อได้ชั้นต้นคือปริยัติแล้ว พยายามยกระดับชั้นสู่การปฏิบัติจริงจัง ด้วย "รู้" "รู้ตั้งมั่น" "รู้บริสุทธิ์" และ "รู้แจ้ง" ให้ได้ ชั้นนี้ใช้อานุภาพของจิตตรง ๆ ไม่ใช้ความคิด
เมื่อปฏิบัติจนแจ่มแจ้งสัจจะแล้ว ยกระดับชั้นสู่ปฏิเวธ คือ ความบริสุทธิ์ เสถียร อมตะ "รู้ ตื่น เบิกบาน อันบรมสุข ในบรมว่าง" ให้ได้ ก็จบกิจวิวัฒนาการ
ถ้าประสงค์สภาวะที่พระผู้มีพระภาคทรงสอน ทรงนำเข้าถึง ให้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าอย่างซื่อตรง ก็จะตรงสู่ผลและสำเร็จได้จริง