Main navigation

อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราบรรลุธรรม

Q ถาม :

กราบเรียนอาจารย์ครับ ไม่ได้เจออาจารย์เสียนาน ตั้งแต่ที่อาจารย์มาสอนให้คณะผู้บริหารเมื่อสามสิบปีก่อน ผมก็ปฏิบัติธรรมมาตลอดครับ ตระเวนไปปฏิบัติมาหลายวัดหลายสายก็ยังไม่บรรลุธรรม ไปเจอที่หนึ่งสอนว่าวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่บรรลุธรรมได้ วิธีอื่นบรรลุไม่ได้ ผมก็ปักหลักปฏิบัติตามวิธีนั้นมาเกือบยี่สิบปีแล้วครับ ก็ดีนะครับ แต่ก็ยังไม่บรรลุธรรมสักที ตอนนี้แก่แล้ว เกรงว่าจะตายก่อนที่จะบรรลุธรรม จึงขอเรียนถามอาจารย์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราบรรลุธรรมได้ครับ อายุขนาดนี้ ไม่อยากแสวงหาสะเปะสะปะอีกแล้ว

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เหตุ คือ ปรารถนาบรรลุธรรม

ปัจจัยที่จะทำให้บรรลุธรรมได้มีหลายปัจจัย คือ

1. ปัจจัยแห่งผู้สอน

2. ปัจจัยแห่งธรรมะและวิธีการปฏิบัติ

3. ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติ

4. ปัจจัยแห่งหมู่คณะ

5. ปัจจัยแห่งบรรยากาศการบรรลุธรรม


1. ปัจจัยแห่งผู้สอน

ผู้สอนที่ดีที่สุด คือ พระพุทธเจ้า  

รองลงมา คือ พระอรหันต์

รองลงมา คือ พระนิยตโพธิสัตว์

รองลงมา คือ ผู้ปฏิบัติแก่กล้าทรงฌานอภิญญาพอสมควร

พยายามหลีกเลี่ยงผู้สอนที่เป็นปุถุชน ผู้ล่าลาภ ผู้ล่าบริวาร ผู้ล่าชื่อเสียง ผู้บ้าทิฏฐิว่าอย่างนี้เท่านั้นถูกอย่างอื่นผิด ผู้บ้าตัวตนชอบปฏิบัติโชว์ คนเหล่านี้ยังหลงทางอยู่


2. ปัจจัยแห่งธรรมะและวิธีการปฏิบัติ

ดีที่สุดคือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน กระนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมีหลายมิติ หลายนัยยะ วิธีปฏิบัติก็มีหลากหลายนับไม่ถ้วน สมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงหยิบความจริงทั้งหมดมาเป็นกรรมฐานได้ ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ แสง สี ภูเขา ต้นไม้ ลมหายใจ วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ การงาน อารมณ์ ภพภูมิ สังขาร วิเวก ความว่าง สภาวะจิต อานุภาพใจ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่เป็นตน การประหารกิเลส การปล่อยวาง การน้อมอุปสมานุสติสู่อมตธาตุ การเจริญมรรคโดยลำดับ อิทธิบาท อินทรีย์ โพชฌงค์ สวรรค์ พรหม นิพพาน และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนพาคนและหมู่ชนบรรลุธรรมได้ทั้งสิ้น  

พระพุทธองค์ทรงสั่งไว้ว่า "เธอจงประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม" คือเลือกธรรมะและวิธีปฏิบัติที่สมควรแก่ตน

คราวนี้ เมื่อพระพุทธองค์ไม่อยู่แล้ว เราจะเรียนพุทธวิธีปฏิบัติธรรมได้อย่างไร มูลนิธิได้รวบรวมทำเป็นเสียงพุทธดำรัสนำปฏิบัติไว้ให้อย่างเป็นระบบแล้ว ไปดูใน www.uttayarndham.org นะ  

รองลงมาคือธรรมะของครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่ท่านก็จะปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก แต่วิธีปฏิบัติก็จะปฏิบัติตามวิธีที่ได้รับถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์มารุ่นต่อรุ่นที่ทำให้ท่านบรรลุธรรมหรือได้สภาวะดี จึงมักจะมีวิธีเดียวหรือสองสามวิธีตามที่ท่านมีประสบการณ์ตรง บางอย่างอาจจะตรงกับพระพุทธเจ้า บางอย่างอาจไม่ตรง ก็ไม่เป็นไร ถ้าทำให้บรรลุธรรมได้ก็ใช้ได้ทั้งนั้น

กระนั้น ธรรมะและวิธีปฏิบัติที่ทำให้ท่านบรรลุธรรมได้เพราะสมควรแก่ท่าน แต่อาจจะไม่สมควรแก่คนอื่น เพราะแต่ละคนมีโครงสร้างจิตใจ จริต นิสัย อินทรีย์ บุญ บารมี ไม่เหมือนกัน ต่างก็ต้องการธรรมะและวิธีปฏิบัติที่สมควรแก่ตนจึงจะบรรลุธรรมได้ ธรรมะและวิธีปฏิบัติที่สมควรแก่คนอื่นแต่ไม่สมควรแก่เขา แม้เขาปฏิบัติตามอย่างจริงจัง จึงไม่บรรลุธรรมได้ ดังนั้น ควรเลือกธรรมะและวิธีปฏิบัติที่สมควรแก่ตน  


3. ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติ

ปัจจัยชุดนี้มีมากมาย จะแจกแจงพอให้เห็นความพอเหมาะพอดีกับแต่ละคนเพราะคือหัวใจของการบรรลุธรรม เพื่อจะได้เลือกบริหารปัจจัยแห่งการบรรลุธรรมให้เหมาะกับตนและผลจริง

มาดูตัวอย่างปรากฏการณ์จริงกันดู จะได้เข้าใจชัด

ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติชุดที่ ๑ มุ่งบรรลุธรรมจริงจังแต่ติดการทรมานตน

ท่านโกณฑัญญะเป็นผู้มุ่งบรรลุธรรมจริงจัง แต่ยังติดนิสัยชอบทรมานตน พระพุทธองค์ทรงแสดงทางสายกลางปรับการยึดถือ แล้วแสดงอริยสัจ รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ท่านอัญญาโกณฑัญญะก็บรรลุโสดาบันเลย

นี่นิสสยปัจจัย แก้นิสัย (ความเคยชิน) เก่า ใส่ปัญญาใหม่เข้าไปแทน ก็บรรลุธรรม

ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติชุดที่ ๒ บุญบารมีร่วม

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพุทธบิดาที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะเห็นพระพุทธเจ้าเดินบิณฑบาตอยู่ ก็เข้าไปบอกว่า "ลูกจะมาขออาหารชาวบ้านอย่างนี้ได้อย่างไร อาหารดี ๆ ในพระราชวังมีมากมาย นิมนต์ไปเสวยที่พระราชวังเถิด" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "การบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" พระเจ้าสุทโธทนะได้ยินดังนั้น สำนึกแห่งการเป็นบิดาทุ่มเทสร้างพระโพธิสัตว์มาหลายชาติ เพื่อมาเป็นพระพุทธเจ้าดังที่ปรากฏในปัจจุบัน พวยพุ่งออกมา เกิดปีติเลื่อมใส ศรัทธาในความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นสงสัย ด้วยเหตุที่ตนมีศีลดีอยู่แล้ว จึงบรรลุโสดาบันทันทีเลย

จากนั้น พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระนางพิมพา พระนางก็ตัดพ้อว่า พระนางทำผิดอะไรจึงทรงทิ้งพระนางไปบวช พระพุทธเจ้าก็ตรัสเล่าว่า ชาติหนึ่งพระองค์เป็นกินนร พระนางเป็นกินรี อยู่ในป่าหิมวันต์ พระองค์ถูกศรพิษเสียชีวิต นางกินนรีไม่ยอมให้กินนรผู้สามีตาย จึงช่วยให้ฟื้นคืนชีพจนสำเร็จ และปฏิบัติธรรมร่วมกันมาอีกนาน บัดนี้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระนางได้ยินดังนั้น บุญบารมีที่ตนร่วมทุ่มเทร่วมสร้างพระโพธิสัตว์มาตลอดกาลนาน ก็ประสานกันอย่างเป็นระบบ ทำให้จิตใจที่อ่อนแรงเพราะน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ องอาจมีพลังขึ้นมา เมื่อเห็นผลสำเร็จสุดท้าย ในที่สุดพระนางก็ร่วมสร้างพระพุทธเจ้าได้จริง ความปลื้มปีติเปี่ยมล้น ศรัทธาต่อพระพุทธองค์อย่างไร้กังขา กอปรกับศีลของตนหมดจดอย่างดีตลอดเวลาที่พระโพธิสัตว์ออกบวช ทำให้บรรลุโสดาบันทันใด

นี่ปุเรชาตะปัจจโย ผู้ที่มีบุญบารมีร่วมสร้างพระโพธิสัตว์มาจนเป็นพระพุทธเจ้า ก็จะมีบุญบารมีมาก ครั้นถึงเป้าหมายแล้ว ก็จะบรรลุธรรมกันโดยง่าย แม้ยังไม่ได้ภาวนาอะไรเลย

ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติชุดที่ ๓ การบำเพ็ญมาเพื่อความสำเร็จเฉพาะ

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ บำเพ็ญมาหนึ่งอสงไขยเพื่อจะเป็นอัครสาวก ครั้นพระโพธิสัตว์อุบัติในโลก ระบบธรรมก็จัดให้มาเกิดด้วยเป็นบุตรเศรษฐีทั้งคู่ พอเริ่มเป็นหนุ่ม ไปดูละครนางรำ ก็ปลงสังเวช อยากออกบวช จึงพากันไปอยู่สำนักอาจารย์สัญชัย วันหนึ่งไปพบพระอัสสชิผู้เป็นพระอรหันต์ เกิดความเลื่อมใส จึงถามหาอาจารย์ของท่าน และธรรมที่อาจารย์สอน พระอัสสชิบอกว่า "ธรรมใดเกิดแต่เหตุ เมื่อจะดับก็ดับที่เหตุ พระศาสดามีปกติสอนอย่างนี้แล" พระสารีบุตรพิจารณาตาม บรรลุโสดาบันทันที ครั้นไปเล่าให้พระโมคคัลลานะฟัง ก็บรรลุโสดาบันทันทีเช่นกัน

นี่อินทรียปัจจโย ผู้บำเพ็ญมาเพื่อความสำเร็จเฉพาะ เมื่อสุกงอมได้ที่ ครั้นถึงกาลก็จะบรรลุธรรมง่าย ๆ ด้วยสัจธรรมข้อเดียวสั้น ๆ อย่างนี้ 

ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติชุดที่ ๔ การปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับกุศลกรรมในอดีต

สมัยหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าสาธยายพระอภิธรรมอยู่ในถ้ำ ค้างคาวอยู่ 500 ตัวในถ้ำนั้นได้ยินแล้ว เกิดความเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอภิธรรม ตายจากค้างคาวแล้วไปเกิดบนสวรรค์หมด ชาติสุดท้ายมาเกิดเป็นมานพในหมู่บ้านเดียวกัน วันหนึ่งฟังพระสารีบุตรสอนอภิธรรม น้อมใจตาม ก็สำเร็จอรหันต์ทั้งห้าร้อยท่านเลย

นี่กรรมปัจจโย กรรมดีในพระพุทธพระธรรมเป็นเหตุให้สำเร็จผล บรรลุธรรม

ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติชุดที่ ๕ การปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับกรรมฐานในอดีต

ในพระไตรปิฎกมหายานบันทึกไว้ว่า ในอดีตชาติ ท่านพระมหากัสสปะอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่ริมบึง เห็นดอกบัวเกิด เจริญงอกงาม เหี่ยว ร่วงไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า เกิดปลงสังเวชแต่ยังไม่บรรลุธรรม มาชาตินี้พระพุทธเจ้าทรงหยิบดอกบัวมาหนึ่งดอก แล้วเร่งให้งอกงามสะพรั่ง แล้วเหี่ยว ร่วงไปทีละกลีบ จนก้านแห้งเหี่ยวหักไปโดยไม่ตรัสอะไรสักคำ ท่านพระกัสสปะเห็นดังนั้นบังเกิดความแจ่มแจ้งสัจธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนสงฆ์ทั้งหลายว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมดับไปเป็นธรรมดา" จึงปล่อยวางสังขารทั้งปวงทั้งภายนอกภายใน บรรลุธรรมสำเร็จอรหันต์เลย

นี่ปัจฉาชาติปัจจัย กรรมฐานในชาติหลัง (ปัจจุบัน) สอดคล้องต่อเนื่องกับกรรมฐานในชาติก่อน

ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติชุดที่ ๖ กรรมฐานต่อยอดพรต

ในอดีตชาติ ท่านพาหิยะยอมสละชีวิตเพื่อบรรลุธรรมจนตาย แต่ยังไม่บรรลุธรรม มาชาตินี้เป็นชีเปลือยเพราะเรือล่ม จนคนเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ และตนก็เข้าใจไปตามนั้น จึงสละทุกอย่าง กระทั่งเพื่อนพรหมมาบอกว่า ท่านยังไม่สำเร็จอรหันต์ ให้ไปพบพระพุทธเจ้า ก็สละทิฏฐิมานะทันที ออกตามหาพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เห็นว่ามุ่งบรรลุธรรมจริงจังและชำนาญในการสละมาก จึงทรงสอนว่า "เมื่อเธอเห็นก็สักว่าเห็น เมื่อเธอได้ยินก็สักว่าได้ยิน เมื่อเธอรู้ก็สักว่ารู้ ไม่ใส่ใจโดยพยัญชนะและอนุพยัญชนะอยู่เถิด" ทรงให้ปล่อยวางผัสสะ และตัดสมมติทั้งปวง ไม่ปรุงต่อแม้แต่น้อย บรรลุธรรมเลย

นี่วิปยุตตปัจจัย การแยกจาก เหมาะกับผู้ชำนาญในการสละ

ปัจจัยแห่งผู้ปฏิบัติชุดที่ ๗ วิปัสสนาในฌาน

มานพสิบหกเป็นผู้ทรงฌานเป็นปกติ พระพุทธเจ้าทรงตอบคำถามทีละคน โดยหลักแล้วแก้ข้อกังขา แล้วให้เห็นความจริงที่ยิ่งกว่า น้อมเข้าสู่อมตธาตุ หรือนิพพาน หรือความบริสุทธิ์ หรือนิโรธ ก็ทยอยสำเร็จอรหันต์กันสิบห้าท่าน อีกท่านหนึ่งสำเร็จพระโสดาบันเพราะมีพันธสัญญาจะต้องไปเล่าให้อาจารย์เก่า ท่านพราหมณ์พาวรีฟัง เมื่อกลับไปเล่าให้อาจารย์เก่าฟัง พระพุทธองค์ก็ทรงแผ่พระญาณไปโปรดจนสำเร็จอรหันต์ ท่านอาจารย์ก็บรรลุธรรม

นี่ฌานปัจจัย เมื่อมีฌานดีแล้ว วิปัสสนาสัจจะในฌาน ปล่อยวางตรง ๆ ก็บรรลุอรหันต์โดยง่ายดาย (ฌานที่เป็นสมาบัติดีแล้ว จะทรงอยู่ได้ทั้งขณะหลับตา ลืมตา สนทนา และกอปรกิจต่าง ๆ ดูมหาสุญญตสูตร ช่วงอเนญชสมาบัติ)
 
ความจริงยังมีอีกมากมาย แต่เดี๋ยวคำตอบจะยาวเกินไป เอาเป็นว่า พระพุทธองค์ทรงให้ธรรมะก็ดี กรรมฐานก็ดีอย่างพอเหมาะพอดีกับแต่ละบุคคล ไม่ทรงกะเกณฑ์ให้ทุกคนปฏิบัติเหมือนกันหมด เพราะความเป็นมา โครงสร้างจิตใจ ความชำนาญ กำลังอินทรีย์ และความพร้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และจะสังเกตได้ว่า พระสมัยพุทธกาลแต่ละกลุ่ม แต่ละท่านจำนวนมาก บรรลุธรรมด้วยสัจธรรมหรือกรรมฐานต่าง ๆ กัน 


4.ปัจจัยแห่งหมู่คณะ

หมู่คณะที่บรรลุธรรมด้วยสัจธรรมหรือกรรมฐานเดียวกันก็มี เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมตามความเหมือน หรือความต่างแห่งสมาชิกหมู่คณะ เช่น

ท่านปัญจวัคคีย์บรรลุอรหันต์ด้วยอนัตตญาณ เพราะมุ่งหลุดพ้นแล้ว

ท่านชฏิลพันรูปบรรลุอรหันต์ด้วยการพิจารณาความร้อนแห่งผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ที่ผัสสะ อันถูกปรุงแต่งด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จึงดับไฟ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะบูชาไฟมาก่อน จึงแจ่มแจ้งกรรมฐานนี้

ท่านยสกุลบุตรและสหายสามสิบบรรลุอรหันต์ด้วยอนุปุพพิกถา ยินดีในทาน ศีล สวรรค์ การสละกาม น้อมสู่พรหมจรรย์ แล้วกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค เพราะเป็นผู้ครองเรือนกันอยู่ นี่เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็บรรลุอรหันต์ได้ หากได้ธรรมที่เหมาะสม บรรลุธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าก็บวชให้หมด สมัยพุทธกาลบรรลุธรรมกันแล้วจึงบวช สมัยนี้บวชแล้วจึงไปแสวงการบรรลุธรรม มาตรฐานจึงเปลี่ยนไป

ประชาชนชาวกุรุเป็นผู้มีศีลครบมั่นคงเป็นปกติ บรรลุธรรมกันจำนวนมากด้วยสติปัฏฐานสี่ บรรลุแล้ว บ้างก็ออกบวช บ้างก็อยู่ครองเรือนต่ออย่างอริยสาวก

เทวดาที่มารวมตัวฟังธรรมบนดาวดึงส์ บรรลุธรรมแปดหมื่นโกฏิด้วยอภิธรรม พระพุทธองค์ทรงแจกแจงโคงสร้าง และการทำงานของจิตใจตามภูมิต่าง ๆ เพราะเทพพรหมเป็นผู้เห็นอาการและรัศมีจิตกันได้เป็นปกติอยู่แล้ว

เทวดาที่มารวมตัวฟังธรรมที่เชตวัน บรรลุธรรมหกหมื่นโกฏิด้วยมงคลสูตร เพราะเป็นผู้แสวงหามงคล

เทวดาที่มารวมตัวฟังธรรมที่ป่ามหาวัน บรรลุธรรมแสนโกฏิด้วยกรรมฐานแก้จริต (ไม่ใช่ตามจริต) เพราะเป็นเทวดาที่มาจากหมื่นโลกธาตุ มีจริตแตกต่างกัน เป็นต้น

ดังนั้น วิธีแห่งการบรรลุธรรมมีมากมายก่ายกอง ไม่ต้องห่วงเลย หาวิธีที่เหมาะกับตน และปฏิบัติแม่น ๆ เถิด จำไว้ ถ้าวิธีปฏิบัติธรรมเหมาะกับสภาวะของตนจริงจะ "ปฏิบัติง่าย สำเร็จเร็ว"


5. ปัจจัยแห่งบรรยากาศการบรรลุธรรม

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูกรอานนท์ กัลยาณมิตรคือทั้งหมดของพรหมจรรย์"  

เมื่อเราอยู่กับหมู่คณะที่ธรรมวินัยสะอาด ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมจริงอย่างพอเหมาะพอดีกับสายกลาง รู้กลไกการบรรลุธรรมจริง ทั้งหมู่คณะและเราก็มีโอกาสบรรลุธรรม

เมื่อเราอยู่กับหมู่คณะที่เหลวไหลในธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมอย่างย่อหย่อน หรือปฏิบัติธรรมอย่างยึดถือ ไม่รู้กลไกการบรรลุธรรมจริง โอกาสบรรลุธรรมก็ริบหรี่

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "หากเธอหาคนที่ดีเสมอเธอ หรือดีกว่าเธอไม่ได้แล้วไซร้ เธอพึงท่องเที่ยวไปแต่ผู้เดียวเสมือนนอแรด ประเสริฐกว่า"


 

 

ที่มา
24 April 2023