Main navigation

เกณฑ์ความเป็นครูบาอาจารย์

Q ถาม :

อาจารย์คะ เห็นตอนนี้อาจารย์ขัดเกลา trainers เข้มข้นมาก ไม่อยากให้อาจารย์ต้องเหนื่อยมาก อาจารย์บอกเกณฑ์ความเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีตามมาตรฐานมูลนิธิฯ แก่พวกเราเลยดีไหมคะ พวกเราจะได้พยายามพัฒนาตนกันให้ได้มาตรฐาน ทราบดีว่าอาจารย์สอนมาเยอะแล้ว ทั้งเกณฑ์ของพระพุทธเจ้า ของปราชญ์และอัจฉริยะในโลก ของผู้นำในระดับจักรวาลต่าง ๆ แต่พวกเราบางคนอาจจะยังรู้สึกไกลตัว จึงตื่นเต้นที่ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ไม่ได้พัฒนาตนตามนั้นกันจริงจัง ขอเกณฑ์ชัด ๆ ตรง ๆ สำหรับพวกเราเลยได้ไหมคะ ขอบพระคุณค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

Thanks for asking.

เกณฑ์ความเป็นครูบาอาจารย์ในมูลนิธิ

I. ต้องบริสุทธิ์

II. ต้องมีปัญญาเที่ยงตรงต่อสัจธรรมหลายนัย

III. ต้องมีกรุณาที่พอเหมาะพอดี เคารพสิทธิ์ ให้เกียรติตนและคนอื่นอย่างเหมาะสม


I. ความบริสุทธิ์

1. อริยผลบริสุทธิ์

2. อริยมรรคบริสุทธิ์

3. จิตบริสุทธิ์ วัดได้จาก เริ่มมีคุณวิเศษบางประการปรากฏ

4. กิจบริสุทธิ์ วัดได้จาก ไม่มีกิเลสแอบแฝงปนเปื้อนในการสอน ไม่ปรากฏทิฏฐิ มานะ อวดเก่ง ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ในการเตรียมสอน ขณะสอน หรือหลังสอนแล้ว

5. สัมพันธ์บริสุทธิ์ สอนเพื่อพาจิตใจทั้งหลายให้บริสุทธิ์ ภูมิสูงขึ้นจริง ๆ ไม่สอนเพื่อล่าบริวาร อันเป็นมหาโจรตามธรรมวินัย พวกนี้ต้องให้ออกไป


II. ความมีปัญญาเที่ยงตรงต่อสัจธรรมหลายนัย

1. ครูบาอาจารย์ต้องมีปัญญาตรงต่อสัจธรรม จะสอนอธรรม หรืออสัจจะ หรืออวิชชา หรือเดรัจฉานวิชชา หรือความคิดเห็น หรือทิฏฐิ หรือความเชื่อ หรือ just ข้อมูลไม่ได้

2. ครูบาอาจารย์ต้องมีปัญญาแจ่มแจ้งสัจธรรมหลายนัย เกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์ที่ท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ใช้ในการสังคายนาสงฆ์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเลย กล่าวคือ

๒.๑ สัจจะหนึ่ง apply ได้หลายนัย เช่น กรรมฐานที่พาบรรลุธรรมได้มีมากมาย เช่น

ท่านอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุธรรมด้วยอริยสัจ

ท่านปัญจวัคคีย์ บรรลุอรหันต์ด้วยอนัตตลักขณสูตร

ท่านยสกุลบุตร พ่อแม่ ภรรยา และสหาย บรรลุธรรมด้วยอนุปุพพิกถา

ท่านชฏิล ๑,๐๐๐ คน บรรลุธรรมด้วยอาทิตตปริยายสูตร

ท่านสารีบุตร ท่านโมคคัลลานะ บรรลุธรรมด้วยทิฏฐิปัตตะ แจ่มแจ้งสัจธรรมแห่งเหตุและการดับเหตุ

พระเจ้าสุทโธทนะ บรรลุธรรมด้วยศรัทธาวิมุตติ

พระนางพิมพา บรรลุธรรมด้วยการอุทิศพลีและชาดกระลึกถึงการอุทิศพลีนั้น

ชาวกุรุนคร บรรลุธรรมด้วยสติปัฏฐาน

เทวดาแปดหมื่นโกฏิวันโปรดพระพุทธมารดา บรรลุธรรมด้วยอภิธรรมภาคปฏิบัติ พิจารณาแสงจิตตามเจตสิก และดับอกุศลจิตตรง ๆ

เทวดาแสนโกฏิวันมหาสมัย บรรลุธรรมด้วยธรรมะแก้จริต

เทวดาหกหมื่นโกฏิวันแสดงมงคล บรรลุธรรมด้วยมงคลสูตร

พระมหากัสสปะ บรรลุธรรมด้วยการพิจารณาดอกบัวดอกเดียว

พระนางรูปนันทา บรรลุธรรมด้วยกายเนรมิตตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย สลายไป

พระบางท่าน บรรลุธรรมด้วยการวิปัสสนากองกระดูกตลอดวัฏฏะเทียบกับภูเขา

พระบางท่าน บรรลุธรรมด้วยการวิปัสสนาน้ำตาตลอดวัฏฏะเทียบกับทะเล

พระบางท่าน บรรลุธรรมด้วยการวิปัสสนาสังขารเหมือนการเกิดดับฟองน้ำ

พระบางท่าน บรรลุธรรมด้วยวิเวก

พระบางท่าน บรรลุธรรมด้วยวิโมกข์

พระบางท่าน บรรลุธรรมด้วยอเนญชสมาบัติ

พระบางท่าน บรรลุธรรมด้วยอัปปมัญญาแล้วปล่อยวางอุเบกขาสู่วิมุตติ

พระบางท่าน บรรลุธรรมด้วยการสละสังขารในปากเสือ

พระโมฆราช บรรลุธรรมด้วยการเห็นโลกและจักรวาลเป็นของว่างเปล่า

พระอนุรุทธ บรรลุธรรมด้วยการน้อมใจสู่อมตะธาตุ

พระราหุล บรรลุธรรมด้วยมัชฌิมากรรมฐาน คือกรรมฐานหลากหลายโดยลำดับ

พระจำนวนมาก บรรลุธรรมด้วยการเห็นความดับไปแห่งปัจจัยปรุงแต่งขณะอยู่ในฌาน

และอีกมากมายก่ายกอง ไปดูการบรรลุธรรมของพระแต่ละท่าน ฆราวาสแต่ละกลุ่ม สมัยพุทธกาลดู จะเห็นความเป็นไปได้แห่งการบรรลุธรรมมากมาย ในทุกโอกาส และพระพุทธองค์สามารถหยิบทุกอย่างในธรรมชาติ ทั้งภายในภายนอกมาเป็นกรรมฐานได้หมด

ดังนั้น ควรสอนกรรมฐานให้เหมาะกับอินทรีย์ของบุคคล ไม่ใช่อย่างนี้เท่านั้นถูก อย่างอื่นผิด นั่นเป็นทิฏฐุปาทาน ปิดกั้นการบรรลุธรรม

พระที่สอนอย่างนี้ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระจะสั่งให้ลาสิกขาไปทันที และคนเช่นนี้จะมาเป็นครูบาอาจารย์ในมูลนิธิฯ ไม่ได้

๒.๒ การกระทำหนึ่ง apply ผลได้หลายนัย เช่น 

การให้ทานปกติจะทำให้ร่ำรวย แต่จะรวยหรือไม่รวยขึ้นอยู่กับการตั้งจิตในการให้เป็นสำคัญ หากตั้งจิตหมดจด สละจริงในการให้จึงส่งผลให้รวย หากตั้งจิตไม่หมดจด มีตัวตนหรือกิเลสแอบแฝงในการให้ การให้นั้นก็ทำให้จนได้ ไม่ใช่ให้ทานแล้วต้องรวย ๆ

นั่นเห็นธรรมนัยยะเดียว เป็นครูบาอาจารย์ไม่ได้ (ดูธรรมกระจ่างหัวข้อ "การให้ที่เป็นกิเลส และการให้ที่เป็นคุณธรรม")

หรือปัญญาย่อมเกิดจากการภาวนา นั่นเป็นหลักมาตรฐาน แต่กระนั้นการกระทำความดีอื่น ๆ ก็ก่อให้เกิดปัญญาได้ด้วยอธิษฐาน เช่น อดีตเจ้าอาวาสนาคเสนและเณรมิลินท์ ช่วยกันทำความสะอาดลานวัด เสร็จแล้วเณรมิลินท์อธิษฐานขอให้มีปัญญาเหมือนคลื่นในมหาสมุทรที่ไม่มีวันสิ้นสุด เจ้าอาวาสนาคเสนอธิษฐานขอให้มีปัญญาเหมือนมหาสมุทรที่รองรับคลื่นได้ทั้งหมด ชาติต่อมาทั้งคู่ไปเกิดเป็นเทวดา ประมาณ พ.ศ. ๙๐๐ พระอรหันต์ไปเชิญมาเกิดเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา เณรมิลินท์มาเกิดเป็นโอรสกษัตริย์ เจ้าอาวาสมาเกิดเป็นเด็กในครอบครัวใกล้และศรัทธาพระอรหันต์มาก ได้บวชตั้งแต่เด็ก พระอรหันต์ช่วยกันสอนจนบรรลุอรหันต์ตั้งแต่หนุ่ม บรรลุแล้วถูกส่งไปทำภารกิจปราบทิฏฐิพระยามิลินท์ การสนทนาธรรมอันลึกซึ้งของสองท่านกลายเป็นคัมภีร์ธรรมะหลักในยุคนั้นที่ทำให้พระศาสนาแพร่หลายอย่างมาก ทั้งสองท่านช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบมา

ดังนั้น ความเป็นไปได้มีมากมายหลากหลาย คนที่เห็นความเป็นไปได้เดียว เป็นครูบาอาจารย์ไม่ได้

๒.๓ ศีลบริสุทธิ์เพื่อเป็นฐานที่มั่นสู่บรรลุธรรมมีได้หลายนัย เช่น ศีลใจล้วน ๆ ก็เป็นฐานที่มั่นได้ เช่น ท่านองคุลีมาล และทุกท่านที่บรรลุธรรมก่อนพระพุทธองค์จะทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ในมาฆบูชาแรก โอวาทปาฏิโมกข์ก็เป็นฐานที่มั่นได้ เช่น ผู้บรรลุธรรมส่วนใหญ่ในช่วงต้นพุทธันดร (ช่วงนั้นยังไม่มีวินัย ๒๒๗, ๓๑๐) ศีลห้าก็เป็นฐานที่มั่นได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและพี่น้อง ท่านนางวิสาขาและบุตรหลาน พระนางสามาวดีและบริวาร ศีลอุโบสถก็เป็นฐานที่มั่นได้ เช่น ท่านจิตตคหบดีและบริวาร กุศลกรรมบถก็เป็นฐานที่มั่นได้ เช่น เทวดาทั้งหลายซึ่งบรรลุธรรมกันมากมายหลายล้านล้านองค์ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล สำหรับพระก็เป็นฐานที่มั่นได้ เช่น ภิกษุผู้บรรลุธรรมง่ายทั้งหลาย ธรรมวินัยทั้งหมดก็เป็นฐานที่มั่นได้ เช่น ภิกษุผู้เคร่งครัดทั้งหลาย ศีลจิตหนึ่งก็เป็นฐานที่มั่นได้ เช่น พรหมทั้งหลาย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงโปรดสอนวิปัสสนาเพิ่มให้ ก็บรรลุธรรมกันหลายโกฏิ เป็นต้น

ไม่ใช่ ต้องปฏิบัติอย่างนี้เท่านั้นจึงถูก อย่างอื่นผิด ใช้ไม่ได้ จิตคับแคบเช่นนี้ ไม่สามารถเป็นครูบาอาจารย์ได้

3. ครูบาอาจารย์ต้องมีปัญญาแจ่มแจ้งอริยสัจ และปฏิบัติได้ผลจริงพอสมควร เพราะอริยสัจคือธรรมะหลักที่พระพุทธองค์ทรงใช้พาสรรพจิต พ้นทุกข์สู่บรมสุข

ทุกข์ ควรกำหนดรู้ ก็กำหนดรู้จริงจัง จิตไม่บิดพลิ้วเป็นอื่น

สมุทัย ควรกำหนดละ ก็กำหนดละจริงจัง ใจไม่แอบเลี้ยงกิเลสใด ๆ ไว้

นิโรธ ควรรู้แจ้ง ก็ปฏิบัติให้รู้แจ้งจริงจัง จิตไม่เถลไถล

มรรค ควรเจริญ ก็เจริญกันให้จริงจัง จนเป็นวัฒนธรรมองค์กร ห้ามมีข้ออ้างใด ๆ

การจะเจริญมรรคได้บริบูรณ์นั้น ต้องมี management mind พอสมควร ต้องสามารถ  

๑. บริหารความคิดจิตใจตนได้ ให้อยู่กับสัจธรรมได้

๒. บริหารชีวิตสู่ความบริสุทธิ์จริง (ไม่เมาโลก) 

๓. บริหารการพูดจาให้ถูกธรรมเสมอและเจริญใจดี มีความเหมาะสมกับผู้ฟัง  

๔. บริหารการกระทำดี ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทุกฝ่ายอย่างพอเหมาะพอดี (ไม่เบียดเบียนตนเพื่อคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่นเพื่อตน ไม่เบียดเบียนคนหนึ่งเพื่ออีกคนหนึ่ง) 

๕. บริหารธรรมกิจพระพุทธเจ้าสู่เป้าหมายที่ถูกตรงด้วยวิธีการที่ชอบธรรมจริง (ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ตนหรือบริษัทของตนเท่านั้น พวกนี้ disqualified ที่จะทำกิจถวายพระพุทธเจ้า ต้องให้ออกไป ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่แค่ไหนก็ตาม)   

๖. บริหารความเพียรสายกลางอย่างต่อเนื่อง  

๗. บริหารสติในกายเวทนาจิตธรรมให้สงบสุข เป็นอิสระจากโลกได้  

๘. บริหารใจให้สะอาด สงบ ตั้งมั่น วิเวก วิโมกข์ ได้เสมอ

๙. บริหารญาณแสงแห่งปัญญาจริงให้ปรากฏ (ไม่แบกความรู้มาอวดกัน)  

๑๐. เข้าวิมุตติให้ได้โดยลำดับ (ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อปฏิบัติ) แต่ปฏิบัติให้แม่นยำสู่ผลเสมอ  

๑๑. ตลอดทางก็บริหารความสัมพันธ์กับหมู่คณะให้ลงตัวดี สลับกับวิเวกให้สงบ ตกผลึกลึกซึ้งมั่นคงได้จริง จนได้สมาบัติหลากหลาย จึงจะอยู่สบายและไปถึงฝั่งได้จริง คลุกคลีเสมอไม่ได้ วิเวกตลอดก็อยู่ลำบาก ต้องบริหารความสมดุลให้ลงตัวพอดี ๆ

ดังนั้น ครูบาอาจารย์จะมาทำตัวหน่อมแน้มปัญญากลวงไม่ได้ ต้องมีวิจารณญาณที่ดีมากในทุกสิ่ง กล้าตัดสินใจ กล้าบริหาร (ประกอบถูกส่วน แยกสลายถูกจุด) กล้าพัฒนา (purify ไม่หยุดจนกว่าจะสุดบริสุทธิ์)

คนไม่มี management mind และวิจารณญาณเลย ยังเป็นจิตทารกอยู่ จะเป็นครูบาอาจารย์ไม่ได้

ตัวชี้วัดว่าใครเข้าถึงอริยสัจได้จริง

วัดได้จาก

1. ไม่บ้าปัญหา (ทุกข์)

2. ไม่สร้างเหตุแห่งปัญหา (สมุทัย)

3. เชี่ยวชาญในภาวะไร้ปัญหา (นิโรธ = prevention)

4. ชำนาญในกระบวนการออกจากปัญหา (มรรค = solution)

จึงสอนพวกเราเสมอ Don't be a problem or causes, Always be part of a solution to absolute prevention.

ถ้าทำได้ ก็เป็นครูบาอาจารย์พาตนและคนอื่นพ้นทุกข์ได้

ยังมีบางคนเป็นตัวปัญหา สร้างปัญหาเองบ้าง เอาปัญหาคนอื่นมาแพร่ระบาดบ้าง พวกนี้เป็นคนทำให้โรคทุกข์ โรคสมุทัยแพร่ระบาดในโลก เป็นคนมีพิษ เป็นภัยต่อสังคม เป็นที่รังเกียจในโลก ต้องเอาออกไปทันที ให้อยู่ไม่ได้ จะพาตนและคนอื่นเสื่อมเสีย จำไว้ ปัญหาเกิดจากเหตุใดต้องดับที่เหตุนั้น เหตุนั้นอยู่ที่ใดต้องช่วยกันดับที่นั่นทันที อย่าปล่อยไว้ ดังนั้น เลิกทำตัวเป็นมนุษย์เจ้าปัญหาโดยทันที โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น

ครูบาอาจารย์ที่ได้มาตรฐานที่จะอยู่ที่มูลนิธิ คือ ผู้มีปัญญาจัดระบบนิโรธ (prevention system) อย่างรัดกุม และมีความเพียรเจริญมรรค สร้างกระบวนการออกจากปัญหาอย่างมีประสิทธิผล (solution) คนเช่นนี้จึงเป็นคนมีค่า พาตนและคนอื่นสู่บรมสุขได้ มีสุขภาพจิต สุขภาพกาย สุขภาพกรรม สุขภาพธรรม และสุขภาพภูมิที่ดี เป็นที่ต้องการของสังคมและจักรวาล

ดังนั้น ทำตนให้เป็นมนุษย์เจ้าปัญญากันโดยทันใด จะได้มีแสงฉายออกมาบ้าง


III. ความมีกรุณาที่พอเหมาะพอดี เคารพสิทธิ์ ให้เกียรติตนและคนอื่นอย่างเหมาะสม

1. กรุณาคือจุดเริ่มธรรมกิจ ขับเคลื่อนธรรมกิจ และนำธรรมกิจให้บรรลุผล ดังนั้นต้องมี ใครไม่มีกรุณา เป็นครูบาอาจารย์ไม่ได้

2. กรุณาที่พอเหมาะพอดี ต้องทำให้ตนเจริญด้วย คนอื่นเจริญด้วย หากเจริญฝ่ายเดียว เป็นกรุณาที่เสียศูนย์ นำสู่อันตรายระยะยาว อย่าให้มี หรือหากเป็นกรุณาแบบปรนเปรอกิเลส จะยิ่งทำให้ภูมิจิตภูมิธรรมตนและคนอื่นเสื่อมทรุด ต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้โดยทันที ส่งเข้าวิเวกจนจิตไร้การปรุงก่อน หากยังไม่สงบสุขจริง อย่าให้ออกมาเพ่นพ่าน

3. การที่มนุษย์และเทพพรหม ครูบาอาจารย์ชั้นสูงจะอยู่ร่วมกันได้ ความเคารพสิทธิ์ให้เกียรติตนและคนอื่นอย่างเหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คนเป็นครูบาอาจารย์มีหน้าที่สอนอย่างให้เกียรติ และนำปฏิบัติสู่ผลตรง ๆ จนผู้ปฏิบัติเกิดปัญญา ชำระจิตให้บริสุทธิ์ได้ด้วยตนเอง จะใช้การบงการ บังคับ ครอบงำศิษย์ไว้เป็นลูกน้องบริวารไม่ได้ เพราะเป็นมหาโจรตามธรรมวินัย มีนรกเป็นที่ไป

คนเช่นนี้จะเป็นครูบาอาจารย์ไม่ได้ และต้องไล่ออกจากมูลนิธิไป

4. การใช้ธรรม วิชา เทคนิควิธีของพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ท่านใด ต้องอ้างอิงท่านนั้นเสมอ เพื่อ connect to the original ห้ามใช้โดยไม่อ้างอิง (ผิดทั้งกฎหมาย กฎแห่งกรรม และกฎแห่งธรรม จัดเป็นมหาโจรตามธรรมวินัย มีนรกเป็นที่ไป) หากไม่อ้างอิง จะ disconnect to original wisdom สติปัญญาจะเสื่อมจนสูญหาย บางคนก็สอนไม่ออกเลยปัญญาตื้อไปเลย (เคยมี) บางคนก็สอนเพี้ยนกลายเป็นอธรรม บาปไป ต้องให้ออกไปในที่สุด ดังนั้นต้องห้ามปรามกันจริงจังตั้งแต่ต้น อย่าปล่อยให้บาปเบ่งบานจนเยียวยาไม่ได้ หรืออ้างอิงแบบไม่ให้เกียรติ ใส่ชื่อ the original ตัวเล็ก ๆ ใส่ชื่อตัวเองใหญ่ ๆ นั่นมานะกิเลสเกิด ทำเพื่อตัวตน เอาตัวตนมาสอน พวกนี้จะสอนผิด ๆ ถูก ๆ ต้องไม่ให้สอน จนกว่าความซื่อตรงจะได้มาตรฐานใสสะอาด


สรุป

เอาไปปฏิบัติกันจริงจังจนได้มาตรฐานชั้นดีนะ  

๑. ใครปฏิบัติได้มาตรฐานหมด ก็ย่อมได้รับการส่งเสริมให้เจริญยิ่งขึ้นด้วยวิชาชั้นสูง (ซึ่งยังมีอีกมาก) และหน้าที่ชั้นสูงต่อไป

๒. ใครปฏิบัติได้มาตรฐานโดยมาก ก็จะได้รับการช่วยเหลือด้วยเทคนิควิธีที่ง่ายขึ้น มีบทบาทสำคัญมากขึ้น

๓. ใครปฏิบัติได้มาตรฐานน้อย ก็จะโดนดุ ขัดเกลามาก ทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ ก็ไป

๔. ใครไม่ปฏิบัติ ไม่มีมาตรฐานใด ๆ เลย และไม่สนใจที่จะพัฒนาให้มีขึ้นมา ก็ไปสู่ที่ชอบที่ชอบเถิด อย่าเสียเวลากัน เป็นบาปกรรมเปล่า ๆ หากไม่ไปเอง ก็ต้องให้ออกอยู่ดี ดังนั้นไปเงียบ ๆ ดีกว่า ชีวิตไม่บอบช้ำ

ผมแก่แล้ว จำเป็นต้องฝึกพวกเราให้บริสุทธิ์ มีปัญญาเที่ยงตรงต่อสัจธรรม มีกรุณาที่พอเหมาะพอดีโดยเร็ว จะได้ทำงานถวายพระพุทธเจ้ากันสืบไปได้ หากมาตรฐานสูงจะมีคนผ่านน้อยก็ไม่เป็นไร น้อยแต่ใช้การได้ ดีกว่ามากแต่ใช้การไม่ได้

 

 

ที่มา
10 April 2023