เมื่อเราถูกสอนให้ถนอมน้ำใจกัน จะฝึกปฏิเสธอย่างไร
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับที่ตอบ การรับที่ควรและการรับที่ไม่ควร แจ่มแจ้งเลยครับว่าชีวิตเราต้องปฏิเสธมากกว่าที่จะยอมรับ หรือหากไม่มีเกณฑ์อะไรเลยก็เสี่ยงอย่างมากที่จะเลอะเทอะ แต่พอมาสู่ภาคปฏิบัติ เจอปัญหาใหญ่เลยครับ เราถูกสอนให้ถนอมน้ำใจกัน เลยไม่กล้าปฏิเสธ ชีวิตจึงมีสิ่งที่ไม่ต้องการมากกว่าสิ่งที่ต้องการมาตลอด
ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ครับ ว่าเราจะตั้งจิตอย่างไร หรือฝึกตนอย่างไร ให้เป็นคนกล้าลุกขึ้นมาปฏิเสธครับ ผมว่าตรงนี้คือหัวใจของความสำเร็จเลยครับ
ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
สมัยที่ยังทรงเป็นเจ้าชายอยู่ วันหนึ่งทรงให้นายสารถีพาออกจากพระราชวังไปชมเมือง ไปพบคนทุกข์เพราะเกิดแก่เจ็บตาย
1. สิ่งแรกที่ทรงปฏิเสธทันที เราไม่จำเป็นต้องทุกข์ ไม่จำเป็นต้องเกิดแก่เจ็บตาย ก็ได้ ทรงมุ่งมั่นหาทางพ้นทุกข์ พ้นความเกิดแก่เจ็บตาย แสวงหาความอมตะ
เมื่อทรงเสด็จกลับพระราชวัง พระชายาคลอดบุตร พระองค์รู้สึกว่าห่วงคล้องคอได้เกิดขึ้นแล้ว จึงตั้งชื่อโอรสว่าราหุล (ห่วง)
2. สิ่งที่สองที่ทรงปฏิเสธคือ "ห่วง" คล้องใจทั้งหลาย
คืนนั้น ทรงตัดสินพระทัยออกบวช แสวงหาทางพ้นจากทุกข์ทั้งปวงให้ได้
3. สิ่งที่สามที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ บัลลังก์พระเจ้าจักรพรรดิ์
4. สิ่งที่สี่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ความพอใจและความไม่พอใจของพระบิดา พระมารดา พระชายา ราชวงศ์ และพสกนิกรทั้งหมด
เมื่อทรงถึงสถานที่อันเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรเพื่อพ้นทุกข์แล้ว
5. สิ่งที่ห้าที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ความงาม ทรงตัดพระเกษา สละภูษาราคาแพงให้นายสารถี
6. สิ่งที่หกที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ คนรับใช้ และพาหนะที่แสนรู้ใจ สั่งให้นายฉันนะสารถีคู่ใจ นำม้ากัณฐกะคู่ใจกลับไป
ทรงเสด็จแสวงหาสัจจะ โดยหาอาจารย์ที่รู้ยิ่ง ปฏิบัติยิ่ง
7. สิ่งที่เจ็ดที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ทิฏฐิมานะของขัตติยะกษัตริย์ ยอมตนเป็นศิษย์เรียนรู้วิชา และปฏิบัติอย่างจริงจัง
ครั้นปฏิบัติได้สูงสุดของแต่ละสำนักแล้ว ทรงพบว่ายังไม่พ้นทุกข์ได้สุดจริง
8. สิ่งที่แปดที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ วิถีที่ยังไม่สุดธรรมจริง
9. สิ่งที่เก้าที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ข้อเสนอของอาจารย์ที่จะมอบหมายให้พระองค์เป็นอาจารย์ใหญ่แทนท่านต่อไป
ทรงตัดสินใจออกปฏิบัติเองโดยลำพัง
10. สิ่งที่สิบที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ หมู่คณะและองค์ความรู้เดิม ๆ ที่มีอยู่ในโลก
ทรงประทับพำนักอยู่ในถ้ำ ทำการทดลองกับจิตด้านต่าง ๆ มีการอดอาหาร อดนอน กลั้นลม เป็นต้น
11. สิ่งที่สิบเอ็ดที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ความสะดวกสบายกายทุกรูปแบบ มุ่งจัดการกับจิตอย่างเดียว
ปัญจวัคคีย์เห็นปฏิปทาของพระองค์แล้วเกิดศรัทธา จึงเข้ามาดูแลอยู่ห่าง ๆ พระองค์ทรงคร่ำเคร่งในการจัดการกับจิตใจให้พ้นทุกข์อย่างเดียว ไม่สนใจอื่นใด
12. สิ่งที่สิบสองที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ อิทธิพลของโลกเหนือจิตใจ
ทรงทรมานตนอยู่อย่างนั้นหกปี
13. สิ่งที่สิบสามที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ชีวิต (ยอมตายเพื่อบรรลุธรรม)
เมื่อครบหกปี ทรงประเมินผล พบว่า วิถีทรมานตนนี้ไม่อาจทำให้บรรลุธรรมได้ จึงคลายความเคร่งเครียด พยายามหาทางสายกลาง ที่มีประสิทธิผลตรง ๆ ออกมานั่งที่โพธิคยา พอดีมีนางสุชาดานำอาหารมาถวาย จึงรับ ปัญจวัคคีย์ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง จึงหลีกหนีไป
14. สิ่งที่สิบสี่ที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ วิธีปฏิบัติที่ไม่นำสู่ความสำเร็จ ทรงกลับมาชำระพระวรกาย ตัดพระเกษาใหม่
15. สิ่งที่สิบห้าที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ความพอใจความไม่พอใจของผู้ดูแล
16. สิ่งที่สิบหกที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ การปฏิเสธที่จะเสวยอาหารมายาวนาน ทรงเสวยอาหารและประคองธาตุให้ทำงานปกติ
เมื่อเสวยเสร็จ ทรงนำถาดทองที่นางสุชาดาถวายไปลอยที่แม่น้ำ อธิษฐานว่า ถ้าเราจะได้บรรลุธรรมพ้นทุกข์แล้วไซร้ ขอให้ถาดทองนี้ลอยทวนน้ำไป ปรากฏว่าถาดทองก็ลอยทวนน้ำไป
17. สิ่งที่สิบเจ็ดที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ถาดทองซึ่งเป็นอุปกรณ์ใส่อาหารชิ้นเดียวที่พระองค์มีอยู่ในขณะนั้น
18. สิ่งที่สิบแปดที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ความลังเลสงสัย ความคาดหวังไปเอง
เมื่อถาดทองลอยทวนน้ำ ทำให้มั่นพระทัยว่าบรรลุธรรมแน่ จึงนำหญ้าปล้องที่มีคนนำมาถวายพอดี ทำเป็นแท่นสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ทรงอธิษฐานว่า "แม้เลือดเนื้อในสรีระทั้งสิ้นจะเหือดแห้งไป เหลือแต่เอ็นกระดูกเท่านั้นก็ตามที เรายังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด เราจะไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้”
19. สิ่งที่สิบเก้าที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ ความไม่แน่วแน่ ไม่เด็ดเดี่ยว
พญามารทราบพระทัยอันเด็ดเดี่ยว จึงพาพลพรรคมาข่มขู่พระโพธิสัตว์ให้หวาดกลัว ให้ลุกจากที่นั่งนั้นไป โดยอ้างว่าที่นั่งนั้นเป็นของตนเป็นผลจากความดีที่ตนทำมา ซึ่งมีพลพรรคมารเป็นพยาน พระโพธิสัตว์จึงระลึกถึงบารมีที่ตนบำเพ็ญมา พบว่า มีทุกหนแห่งในปฐพี จึงชี้นิ้วไปที่ปฐพี พระแม่ธรณีทราบความ จึงออกมาบีบน้ำจากมวยผม ท่วมกองทัพมารให้ถอยกลับไป
20. สิ่งที่ยี่สิบที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ การข่มขู่ของใคร ๆ ทรงฉลาดใช้บารมีเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้
คืนนั้น พระองค์ก็ทรงปล่อยวางร่างกาย ตรงเข้าสู่จิต จิตรู้จิต ลึกยิ่งขึ้น ทรงเข้าฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ แล้วทรงบรรลุ ๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติอันยาวนานได้ ทำให้เห็นความเป็นมาเป็นไปทั้งหมดของวิวัฒนาการ ๒) จุตูปปาตญาณ เห็นกลไกกรรมที่ครอบงำชักใยสัตว์โลกให้เป็นไปอยู่ ๓) อาสวักขยญาณ การดับกามาสวะ (กาม) ทิฏฐาสวะ (ความคิดเห็น) ภวาสวะ (ความเป็นต่าง ๆ) อวิชชาสวะ (ความไม่รู้จริง) ๔) ทรงได้วิมุตติญาณ รู้แจ้งอริยสัจ ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ๕) ทรงได้วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นสัพพัญญุตญาณ บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ รู้แจ้งทุกสิ่งอย่างไม่มีส่วนเหลือเร้นใด ๆ
21. สิ่งที่ยี่สิบเอ็ดที่ทรงปฏิเสธ (สละ) คือ การจมอยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการอันยาวนาน การถูกชักใยด้วยกลไกกรรม กาม ความคิดเห็น ความเป็นต่าง ๆ ความไม่แจ่มแจ้งอริยสัจ และความรู้ไม่จริง รู้ไม่แจ้ง รู้ไม่แทงตลอด รู้ไม่ปลอดโปร่ง รู้ไม่สุด รู้แล้วไม่สุข ทั้งปวง
จะเห็นได้ว่า ตลอดหนทางสู่ความสำเร็จ พระองค์ทรงปฏิเสธ (สละ) สิ่งต่าง ๆ มากมาย แม้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปปรารถนาอย่างยิ่ง ทรงสละมากกว่ายอมรับไว้ จนในที่สุด ก็ทรงได้ the ultimate purity บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พ้นทุกข์ถาวร บรมสุขในบรมว่างอันอมตะ และพามนุษย์และเทวดาทั้งหลายให้บรรลุธรรมตามพระองค์สู่ความอมตะได้ด้วย
ดังนั้น นี่เป็นเกณฑ์แห่งความสำเร็จ the perfect purity ได้เลย
ใครกล้าสละมากด้วยสติปัญญาที่แม่นยำเฉียบคม จิตก็ยิ่งอิสระ
คนที่จิตอิสระปราศจากการปนเปื้อนมากเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใกล้ the perfect purity มากขึ้นโดยลำดับ
ใครเก็บกวาดขยะ (ความคิดเห็น คำพูด การกระทำ สิ่งของ ความพันผูก) มาเก็บไว้มาก ก็รกรุงรังเลอะเทอะ
ยิ่งจิตรกรุงรังเลอะเทอะปนเปื้อนมาก ก็ยิ่งจมลงสู่ the worst world ลึกยิ่งขึ้น
เทคนิควิธี
1. หากไม่อยากปฏิเสธ ก็ตั้งจิตยินดีสละ "ยินดีสละ" นะ ไม่ใช่ "เสียสละ"
"ยินดีสละ" เป็นบารมี
"เสียสละ" เป็นกิเลส
2. เป็นสิทธิ์โดยชอบของทุกคนอยู่แล้วที่จะสละสิ่งที่ไม่เข้ากับตน ใช้สิทธิ์นั้นตรง ๆ โดยไม่ต้องชี้แจงหรืออธิบายความกับใคร เพราะแต่ละคนมีเกณฑ์ต่างกันตามสติปัญญาที่ต่างกัน การพยายามอธิบายนั่นแหละที่ทำให้กระทบกระทั่งกันทางความคิด ความเชื่อ ความเห็นด้วย ความไม่เห็นด้วย การก้าวก่ายรุกล้ำสิทธิ์กัน
จะเห็นได้ว่าตลอดกระบวนการสละ พระพุทธเจ้าไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงกับใครเลย แค่ตัดสินใจแล้วปฏิบัติการจริงเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อมั่นใจใน value ที่ตนเลือก ต้องปล่อยวางความเข้าใจ-ความไม่เข้าใจ การยอมรับ-การไม่ยอมรับของคนอื่นให้ได้ หากปล่อยวางไม่ได้ ก็ต้องเป็นทาสความคิดความต้องการของคนอื่นต่อไป
จำหลักการให้มั่น อะไรที่เป็นสิทธิ์โดยชอบของเรา เรามีหน้าที่ตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่มีหน้าที่ต้องขอความเห็นชอบจากใคร คนอื่นมีหน้าที่เคารพสิทธิ์ของเราตามที่เราตัดสินใจนั้น หากการตัดสินใจนั้นถูกหรือผิด เราก็จักรับผิดชอบผลที่ตามมาด้วยตนเอง
ตรงการตัดสินใจถูกหรือผิดนี่แหละ หากต้องการความมั่นใจ จะใช้การอธิษฐานแบบพระพุทธเจ้าก็ได้ หากทำไม่ได้ จะหารือเฉพาะผู้รู้แจ้งจริง ผู้สำเร็จมาก่อน ผู้รู้จักเราจริง ปรารถนาดีต่อเราอย่างบริสุทธิ์จริงก็ได้ ทำตัวแปรให้น้อยที่สุด แม่นที่สุด จะตัดสินใจได้ง่ายที่สุด ดีที่สุด
3. ตลอดทาง จงมุ่งมั่นสู่ the best เสมอ เหมือนเราจะแสวงหาเพชร เราต้องมุ่งที่เพชร ต้องกล้าปฏิเสธยินดีสละกองขยะ โคลนตม ก้อนกรวด ทราย หินสี จนถึงเพชร จึงหยิบเอาเพชรมา หากเราไม่กล้าปฏิเสธ ไม่สละสิ่งที่ไม่ใช่เพชร สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นอุปสรรคที่จะพบและได้เพชรมา
ง่าย ๆ แค่นี้เอง อย่าไปคิดมากหรือพยายามทำให้ซับซ้อน จะปฏิบัติไม่ได้จริง
4. ใจไม่ใช่ตน เป็นแค่อายตนะหนึ่งที่ตายยาก
ตาหูจมูกลิ้นกายจะตายไปพร้อมร่างกาย แต่ใจปุถุชนไม่ยอมตาย ดิ้นรนไปเกิดใหม่สร้างตาหูจมูกลิ้นกายมาเป็นลูกน้องคอยเสพโลกใหม่ จนได้ชื่อว่าเป็นประธาน
ประธานใจนี้สะสมทุกอย่างที่ประสบมาตลอดวิวัฒนาการยาวนาน ทั้งความจำระยะยาว ความรู้สึกฝังลึก เจตนาที่ยังไม่คลาย กิเลส ตัณหา อวิชชา ปัญญา กรรม อุปาทาน ตัวตน จึงเป็นนามสังขตะที่ลากพาชีวิตไปทางโน้นทางนี้ ขึ้นลง สุขทุกข์ รวม ๆ แล้ว คือ อนิจจัง แปรปรวน และที่สำคัญไม่เป็นตน แต่หลงผิดว่าเป็นตน
หากยึดถือใจ เวลาใจถูกบีบคั้นจะเจ็บปวดมาก คนจึงพยายามถนอมใจกัน
การถนอมใจกัน เพื่อประคับประคองกันไปสู่ the best purity นั้น ดี
การถนอมใจกัน เพื่อจมไปในกองขยะ พากันลงอบายลึกขึ้นนั้น เลว
การปล่อยวางใจทั้งของตนและคนอื่นได้ จนเข้าสู่พุทธภาวะบริสุทธิ์ อมตะนั้น สุดยอด
เลือกเอาตามกำลังสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ที่มีพร้อม ณ ขณะนี้
หากอยากมีวิสัยทัศน์ใหม่ ความกล้าตัดสินใจ (อธิโมกข์) ใหม่ ก็เพิ่มพัฒนากำลังสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ให้มากยิ่งขึ้น