Main navigation

พุทธคุณ

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ ยิ่งปฏิบัติธรรมมาก ได้สภาวะใหม่เรื่อย ๆ ก็ยิ่งซาบซึ้งในพระพุทธเจ้ามาก จนเกิดปณิธานขึ้นมาเองว่า ขอให้เราซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องเถิด เพราะไม่ต้องการมีจิตบาปต่อพระพุทธเจ้าแม้แต่น้อย แต่เวลาดูคำแปลอิติปิโสแล้วกลับไม่ซึ้งเหมือนตอนได้สภาวะ ท่านอาจารย์พอจะมีเทคนิคอะไรให้มีความซาบซึ้งในพระพุทธคุณได้บ้างไหมครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

มองให้ลึก ยิ่งลึกเท่าไร ก็ยิ่งซึ้งเท่านั้น

ความจริงพุทธคุณอันเป็นความจริงของพระพุทธเจ้านั้นประมาณมิได้ เพราะพุทธวิสัยเป็นอจินไตย พระไตรปิฎกทั้งหมดคือพุทธคุณและผลแห่งพุทธคุณ ญาณในญาณนิทเทสทั้งหมดคือพุทธคุณ พระอริยเจ้าและว่าที่พระอริยะทั้งหมดคือผลแห่งพุทธคุณ กุศลที่สถาปนาดีแล้วในจิตใจสัตว์โลกในอารยธรรมชาวพุทธคือพุทธคุณ และอีกมากมายเกินประมาณได้

เมื่อพุทธคุณประมาณมิได้ วันนี้เอาตามพุทธคุณที่แพร่หลายรู้กันทั่วไปนะ จะได้จบได้ แต่พึงรู้ว่าเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของพุทธคุณ


อิติปิ โส ภะคะวา

"อะระหัง" "สัมมาสัมพุทโธ"
ด้วยเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง

อรหัง หรือ อรหันต์ หมายถึง ๑) ผู้ชำนะกิเลสทั้งปวงแล้ว บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ปราศจากทุกข์สิ้นเชิง ๒) ผู้ทำลายวัฏสงสารได้แล้ว ไม่ต้องเกิดอีก ๓) ผู้ควรแก่ทักษิณาทานที่ทายกถวายแล้ว ๔) ผู้ไม่มีมลทินทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

สัมมาสัมพุทโธ ราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายไว้ว่า "สัมมาสัมพุทธ" มาจากคำว่า สมฺมา และสมฺพุทฺธ สัมมา แปลว่า โดยชอบ โดยตลอด อย่างสมบูรณ์ หรืออย่างถูกต้อง สัมพุทธ แปลว่า ผู้ที่ทรงรู้หรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยพระองค์เอง 

สัมมาสัมพุทโธ แปลรวมกันว่า พระผู้ทรงรู้และเข้าใจความเป็นไปของสรรพสิ่งและสรรพชีวิตในโลกและจักรวาลอย่างถ่องแท้ หมายถึง พระผู้ทรงรู้ความจริงอันประเสริฐ ได้แก่ รู้ถึงสาเหตุของการเกิดและการดับของชีวิตและสิ่งต่าง ๆ รู้ถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในอดีตภพของสรรพชีวิต รู้ถึงทุกข์ของความไม่เที่ยงของชีวิต ทรงรู้ถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น รู้การดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ให้หมดไป  

อย่างเข้าใจง่าย สัมมาสัมพุทโธ หมายถึง ผู้ทรงรู้แจ้งสรรพธรรม (สัจจะทั้งปวง) ด้วยพระองค์เอง มิได้ทรงศึกษาเล่าเรียนหรือฟังจากผู้อื่นมาก่อน แต่สรรพธรรมเหล่านี้เกิดปรากฏแก่พระองค์เองด้วยอำนาจการได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณและสัพพัญญุตญาณ


"วิชชาจะระณะสัมปันโน"
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

วิชชาขั้นพื้นฐาน

หมายถึง วิชชา ๓ คือ ๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ๒) จุตูปปาตญาณ ๓) อาสวักขยญาณ ซึ่งเพียงพอแก่การบรรลุธรรม

วิชชาขั้นกลาง

หมายถึง วิชชา ๘ คือ ๑) วิปัสสนาวิชชา ๒) มโนมยิทธิวิชชา ๓) อิทธิวิชชา ๔) ทิพยจักขุวิชชา ๕) ทิพยโสตวิชชา ๖) ปรจิตตวิชชา ๗) ปุพเพนิวาสวิชชา ๘) อาสวักขยวิชชา

วิชชาขั้นสูง

หมายถึง ญาณ ๗๓ ที่พระพุทธองค์ทรงบริบูรณ์พร้อม และเหล่าสาวกชั้นเลิศสามารถได้ญาณทั้งสิ้น ๖๗ ญาณ

จรณะ  คือ ๑) ศีลสังวร ๒) อินทรีย์สังวร ๓) โภชเนมัตตัญญุตา ๔) ชาคริยานุโยค ๕) สัทธา ๖) สติ ๗) หิริ ๘) โอตตัปปะ ๙) พาหุสัจจะ ๑๐) ความเพียรอันยิ่ง ๑๑) ปัญญา ๑๒) รูปฌานหนึ่ง ๑๓) รูปฌานสอง ๑๔) รูปฌานสาม ๑๕) รูปฌานสี่  

เหล่านี้คือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบริบูรณ์พร้อม ใช้งานได้ตลอดเวลา


"สุคะโต"
เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี

“สุคโต” (สุ-คะ-โต) รากศัพท์มาจาก สุ = ดี, งาม, ง่าย + คมฺ = ไป, ถึง + ต = ที่สุดธาตุ 

ศัพท์วิเคราะห์โดยพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลไว้ดังนี้

๑. ผู้ทรงมีการเสด็จไปที่งดงาม
๒. ผู้ทรงถึงฐานะที่งดงาม คือ สัมมาสัมโพธิญาณหรือนิพพาน
๓. ผู้ทรงบรรลุโดยชอบ
๔. ผู้ตรัสโดยชอบ
๕. ผู้มีพระญาณที่งดงาม
๖. ผู้เสด็จออกจากสังสารวัฏด้วยดีโดยไม่หวนกลับมาอีก
๗. ผู้เสด็จไปโดยชอบเพื่อความสุขของตนและผู้อื่นให้สำเร็จ


"โลกะวิทู"
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

รู้แจ้งโลก หมายความว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่พระองค์ไม่รู้ และทรงรู้อย่างลึกซึ้งกว่าชนทั้งหลายมาก คือ

1. ทรงรู้แจ้งปรากฏการณ์โดยความเป็นปรากฏการณ์ มีปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้นในกาลใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงรู้แจ้งหมด ไม่มีสิ่งใดซ่อนเร้นจากการรู้เห็นของพระองค์

2. ทรงรู้แจ้งเหตุปัจจัย กฎเกณฑ์ และกลไกให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ และกลไกการดับสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ คือ ปัจจัย ๒๔ ในมหาปัฏฐาน

กฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ คือ กฎแห่งธรรมชาติ กฎแห่งโลก กฎแห่งกรรม และกฎแห่งธรรม

กลไกให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น กลไกปฏิจจสมุปบาท  

กลไกการบรรลุธรรม ดับทุกข์และกิเลสทั้งปวงด้วยสัมมัตตะ ๑๐ เป็นต้น

3. ทรงรู้แจ้งความจริงโดยความเป็นความจริง ตามสถานะที่แท้จริง โดยทรงจำแนกเป็น "ความจริงสมมติ" หรือความจริงเทียม คือสิ่งที่โลกสมมติมาเอง ได้แก่ ระบบทั้งหมด และ "ความจริงปรมัตถ์" หรือความจริงแท้ คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ รูป จิต เจตสิก นิพพาน

4. ทรงรู้ระบบกาลเวลา เช่น ทรงบัญญัติว่า 

การที่แผ่นดินเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ๆ ตั้งขึ้นแล้ว ดำรงอยู่และถูกทำลายไป ระยะเวลานั้นเรียก มหากัปป์ ความยาวนานนับอสงไขยทีเดียว หรือเทียบเท่ากับการเอาผ้าขาวบาง 1 ผืน ค่อย ๆ ลูบเขาพระสุเมรุ ซึ่งสูง 1 โยชน์ (๑๖ กิโลเมตร) กว้าง 3 โยชน์ (๔๘ กิโลเมตร) 1 ครั้ง ในทุก 100 ปี จนสึกกร่อนราบเรียบเป็นหน้ากลองเป็น 1 อสงไขย หรือกัปป์นั่นเอง

5. ทรงรู้แจ้งในควอนตัม ในพระอภิธรรมวิภังค์บันทึกการจำแนกควอนตัมไว้ว่า มี วิชชุรูป ที่หมุนรอบ มูลรูป ด้วยกำลังแห่งอวิชชา เป็นอณูอันละเอียดยิบ คือ

๓๖ ปรมาณู เป็น ๑ อณู
๓๖ อณู เป็น ๑ ตัชชารี
๓๖ ตัชชารี เป็น ๑ รถเรณู
๓๖ รถเรณู เป็น ๑ ลิกขา
๗ ลิกขา เป็น ๑ อูกา
๗ อูกา เป็น ๑ ธัญญามาส

6. ทรงรู้แจ้งดวงดาว จักรวาล กาแล็กซี และเอกภพ เช่น ทรงบอกไว้ใน จูฬนีสูตร ว่า

๑ โลกธาตุขนาดเล็ก มี ๑,๐๐๐ จักรวาล (ระบบสุริยะ) 
๑ โลกธาตุขนาดกลาง มี ๑ ล้านจักรวาล
๑ โลกธาตุขนาดใหญ่ มีล้านล้านจักรวาล

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงจำนงหมาย ย่อมสามารถแสดงธรรมโปรดโลกธาตุขนาดใหญ่ได้

7. ทรงรู้แจ้งการเกิดดับของดวงดาว เช่น ทรงเล่าไว้ใน สุริยสูตร ว่า 

ในอนาคตกาล จะมีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗ ปรากฏ เมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ น้ำจะเหือดแห้งสนิท ขุนเขาสิเนรุจะลุกเป็นไฟ เกิดลมร้อนพัดทำลายไปจนถึงพรหมโลกชั้นต้น

8. ทรงรู้แจ้งกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ เช่น ทรงเล่าใน อัคคัญญสูตร ว่า โดยกาลยืดยาวช้านาน โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกนี้พินาศ สัตว์ส่วนใหญ่ไปเกิดในอาภัสสรพรหม โดยกาลยืดยาวช้านานต่อมา โลกจักเกิดขึ้นในท่ามกลางจักรวาลที่เต็มไปด้วยน้ำ มืดมน ไม่เห็นอะไร ขณะนั้น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวนักษัตรยังไม่ปรากฏ อาภัสสรพรหมจึงลงมาเยี่ยมชมโลกเกิดใหม่ มีพรหมบางองค์ลองชิมง้วนดินที่ลอยอยู่บนน้ำ ทำให้รัศมีหายไป เหาะกลับพรหมโลกไม่ได้ จึงต้องอยู่โลกนี้ เป็นต้นกำเนิดมนุษย์ยุคแรก มนุษย์ยุคหลังจะเกิดจากการสมสู่และการคลอด
   
9. ทรงรู้แจ้งความเจริญและความเสื่อม และเหตุปัจจัยแห่งความเจริญและความเสื่อม เช่น ทรงเล่าใน อัคคัญญสูตร รวมความได้ว่า 

สมัยใด พระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม ข้าราชการ พราหมณ์ และคหบดี ชาวเมืองและชาวชนบท ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น ดวงดาว ฤดูกาลก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ พืชพันธ์ุก็สุกไม่สม่ำเสมอ มนุษย์ก็มีโรคมาก มีอายุน้อย

สมัยใด พระราชาตั้งอยู่ในธรรม ข้าราชการ พราหมณ์ และคหบดี ชาวเมืองและชาวชนบท ก็ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น ดวงดาว ฤดูกาลก็หมุนเวียนสม่ำเสมอ พืชพันธ์ุก็สุกสม่ำเสมอ มนุษย์ก็มีโรคน้อย มีอายุมาก

10. ทรงรู้แจ้งวิวัฒนาการแห่งชีวิต และกระบวนการพัฒนาจนถึงที่สุด เช่น ที่ทรงเตือนภิกษุทั้งหลายใน จักกวัตติสูตร โดยใจความสำคัญว่า "(ด้วยเหตุที่โลกไม่เที่ยงต้องวิบัติไป) เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง โดยมีสติอยู่กับกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เห็นโลกโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลกเถิด" ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้ทุกขณะจิตพึงบรรลุธรรม หลุดพ้นจากโลกและดวงดาวทั้งปวง เข้าสู่อมตะธาตุในเจ็ดวัน อย่างช้าในเจ็ดปี
 
11. ทรงรู้แจ้งระบบกรรมที่กำกับชีวิตด้วยยถากัมมุตาญาณ และระบบธรรมที่จะยกจิตใจออกจากระบบกรรมด้วยอาสวักขยญาณ เช่น ที่ตรัสว่า

"บุคคลมีกรรมเป็นของของตน, มีกรรมเป็นผู้ให้ผล, มีกรรมเป็นแดนเกิด, มีกรรมเป็นผู้ติดตาม, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมอันใดไว้, เป็นบุญหรือเป็นบาป, เราจะเป็นทายาท, คือว่าเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ๆ สืบไป"

และเมื่อบุคคลบรรลุโสดาบันแล้ว ย่อมไม่ลงอบายอีก (พ้นจากบาปใหญ่) จักสำเร็จเป็นพระอรหันต์อีกไม่เกินเจ็ดชาติ มีนิพพานเป็นที่ไป (อิสระจากระบบกรรมสิ้นเชิง)

12. ทรงรู้แจ้งสัจธรรมแห่งสรรพสิ่ง เช่น ทรงตรัสว่า

สัพเพ สังขารา อนิจจาติ สิ่งที่ปรุงประกอบกันทั้งหมด ไม่เที่ยง
สัพเพ สังขารา ทุกขาติ สิ่งที่ปรุงประกอบกันทั้งหมด เป็นทุกข์
สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ สิ่งทั้งปวง ไม่เป็นตน
ฯลฯ

13. ทรงรู้แจ้งสภาวะเหนือโลก เหนือจักรวาล อมตะนิรันดร์ เรียกว่า "อมตะธาตุ" หรือ "นิพพานธาตุ" เป็นต้น  

สรุปได้ว่า พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งทุกสิ่งในโลกนี้ ในธรรมชาติ ในความมีอยู่เป็นอยู่ทั้งปวง ไม่มีอะไรที่พระพุทธองค์ไม่ทรงรู้ จึงทรงเปรียบเทียบว่า "สิ่งที่พระองค์รู้เหมือนจำนวนใบไม้ในป่า สิ่งที่พระองค์สอนเหมือนจำนวนใบไม้ในกำมือ" เพราะอายุขัยมนุษย์ยุคนี้สั้น จึงทรงเลือกเอาแต่สิ่งสำคัญเร่งด่วนเพื่อการบรรลุธรรมพ้นทุกข์ถาวรมาสอนก่อน
      

"อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ"
เป็นผู้สามารถฝึกคนที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

แม้พรหมที่มีอานุภาพมาก มีฤทธิ์มหาศาล พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้

แม้เทวดาจากหมื่นโลกธาตุในมหาสมัย พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้

แม้พระราชามหากษัติย์ผู้หยิ่งในยศศักดิ์ พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้

แม้นักบวชลัทธิอื่น พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้

แม้มหาเศรษฐีทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้

แม้คนรับใช้ พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้

แม้จอมโจรโหดร้าย พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้

แม้โสเภณี พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้

แม้ช้างที่ตกมัน พระพุทธเจ้าก็โปรดให้สงบได้

แม้สัตว์ในไตรโลก วันทรงเปิดโลกตอนเสด็จกลับจากดาวดึงส์ พระพุทธเจ้าก็โปรดให้บรรลุธรรมได้ หรือตั้งตนอยู่ในสัมมาธรรม ลดโทษในอบายได้

ไม่มีบุคคลอื่นใดในจักรวาล ทำได้เสมอเหมือนพระพุทธองค์


"สัตถาเทวะมนุสสานัง"
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ทุกกลางวัน พระพุทธเจ้าจะสอนมนุษย์

ทุกกลางคืน พระพุทธเจ้าจะสอนภิกษุ และเทวดา

และในโอกาสพิเศษ จะเสด็จไปสอนเทวดาบนสวรรค์ เช่น ไปโปรดพระพุทธมารดาและเหล่าเทวดาจำนวนมาก ไปโปรดพกพรหมบนพรหมโลก

และในโอกาสพิเศษ เทพพรหมทั้งหลายจะมาหาพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม เช่น เทพพรหมจากหมื่นโลกธาตุ (กาแล็กซี) มาเฝ้าพระองค์ที่ป่ามหาวันเพื่อฟังธรรม เทวดาจำนวนมากมาหาพระองค์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมงคล 

และในโอกาสพิเศษ พระพุทธเจ้าทรงสอนทั้งมนุษย์ เทวดา พรหม เปรต เดรัจฉาน สัตว์นรก พร้อมกันหมด เช่น วันเสด็จกลับจากดาวดึงส์ทรงเปิดโลก สัตว์โลกเห็นกันหมด มีผู้บรรลุธรรมจำนวนมาก แม้สัตว์ในอบายไม่สามารถบรรลุธรรมได้ แต่ก็ได้สำนึกแห่งความดี มีอัธยาศัยเกิดขึ้น จึงลดโทษในอบายได้ และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็จะแสวงหาการศึกษาปฏิบัติต่อไป

ไม่มีบุคคลอื่นใดในจักรวาลที่ทำได้เสมอเหมือนพระพุทธองค์


"พุทโธ"
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพุทธะ

เมื่อพราหมณ์มาคันทิยะเห็นพระรัศมีของพระพุทธเจ้าผ่องใสยิ่งนัก พระองค์ดูมีความสุขสงบ เบิกบานยิ่งนัก จึงถามว่า "ท่านเป็นพรหมหรือ"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "เราไม่ใช่พรหม"

พราหมณ์มาคันทิยะจึงถามว่า "ท่านเป็นเทวดาหรือ"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "เราไม่ใช่เทวดา"

พราหมณ์มาคันทิยะจึงถามว่า "ท่านเป็นมนุษย์หรือ"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "เราไม่ใช่มนุษย์"

พราหมณ์มาคันทิยะจึงถามว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นอะไรเล่า"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "เราคือพุทธะ"

"พุทธะ" คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยความบริสุทธิ์สัมบูรณ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พุทโธ

พุทธะ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ใจ ไม่ใช่ส่วนใด ๆ ในขันธ์ แต่คือสภาวะบริสุทธิ์บริบูรณ์ที่ออกมาจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงเรียกพระองค์ว่า "พระพุทธเจ้า" เรียกพระศาสนาว่า "พุทธศาสนา" หมายถึงศาสนาแห่งการเข้าถึงพุทธะ แต่ส่วนใหญ่มักจะตีความง่าย ๆ ว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ได้ตามอัธยาศัย

ดังนั้น พุทธศาสนาจึงบริสุทธิ์กว่า เหนือกว่าศาสนาของเทพเจ้าทั้งหลาย


"ภะคะวาติ"
เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์
ดังนี้

พระพุทธเจ้าจะสอนธรรมแก่บุคคลตามอินทรีย์และผลสูงสุดที่บุคคลนั้นเข้าถึงได้เป็นสำคัญ ทุกคนจึงสำเร็จและเจริญอย่างพอเหมาะพอดีแก่ตน พระองค์ไม่ได้สอนทุกคนเหมือนกันหมด หรือให้ทุกคนปฏิบัติกรรมฐานเดียวกันหมด หรือให้ทุกคนบรรลุสภาวะเดียวกันหมด 

ผู้ที่ทำให้ผู้อื่นเจริญและสำเร็จเสมอ คือ ผู้มีความจำเริญ จำเริญเพราะทำให้ผู้อื่นเจริญและสำเร็จจริง

ที่ทำให้ผู้อื่นเจริญและสำเร็จจริง เพราะทรงจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์แตกต่างกันตามความเหมาะสมกับเขา


นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรเข้าใจ นำพระองค์มาเป็นแบบอย่าง และปฏิบัติตามพระองค์เท่าที่สามารถ


สรุป

เมื่อรู้ด้วยปัญญาและพิจารณาถ่องถ้วนดีแล้ว ก็หลั่งศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าเต็มดวงใจอย่างไร้กังขา นี่คือจุดเริ่มต้นของโสดาปัตติยังคะ นำสู่การบรรลุธรรมต่อไปตรง ๆ

เป็นความจริงว่าตอนเราได้สภาวะ ความซาบซึ้งจะใหญ่กว่าตอนเข้าใจมาก แต่ถ้ามีสภาวะด้วย ความเข้าใจด้วย ความซาบซึ้งจะ firm มาก พัฒนาเป็นสัทธินทรีย์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติแรกเริ่มของความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม

ดังนั้น

1. เมื่อได้สภาวะดีแล้ว ระลึกถึงพุทธคุณต่าง ๆ เท่าที่นึกออกในสภาวะเลย ไม่ต้องท่อง ถ้าท่องจะหลุดมาอยู่กับสัญญา สภาวะจะหายไป วิธีที่จะไม่พลัดออกไปอยู่กับสัญญาคือระลึกถึงพุทธคุณแรกที่ปรากฏในจิตเท่านั้น แล้วอยู่กับพุทธคุณนั้นให้ลึกซึ้ง แนบแน่น เนิ่นนาน

2. เมื่อทบทวนพุทธคุณนอกสภาวะ เมื่อพบจุดใดที่โดนใจ (touch) ให้น้อมพุทธคุณนั้นเข้าสู่สภาวะเลย การทำเช่นนี้จะทำให้เราดูดซับพุทธคุณเหล่านั้นเข้ามาสู่จิต transform จิตได้ด้วย


 

 

ที่มา
27 April 2023