Main navigation

จะต้องเข้าฌานสี่ก่อนแล้วจึงวิปัสสนาใช่ไหม

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ การวิปัสสนาต้องเข้าฌานสี่ตามสามัญญผลสูตรก่อนใช่ไหมครับจึงวิปัสสนาได้

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ขึ้นอยู่กับระดับวิปัสสนา

แท้จริงแล้ว สมถะ วิปัสสนา วิราคะ จะร้อยเรียงผสานกันหมุนวนไปตลอดทางบรรลุธรรม

พอเราพบกัลยาณมิตร เกิดความเข้าใจสนใจ (วิปัสสนา) ศรัทธาในธรรม (สมถะ) แรกเริ่มเกิดขึ้นแล้ว

จากนั้นวิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เรื่องความดีที่ไม่ดีจริง ความดีที่ดีจริง แล้วมองภาพรวมอริยสัจ วิปัสสนาเบื้องต้นบังเกิดแล้ว ถึงจะเบื้องต้น แต่สัมมาทิฎฐิเป็นประธานแห่งมรรค เพราะหากไม่มีสัมมาทิฏฐิ มรรคตัวอื่น ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น และสัมมาทิฏฐิจะประคองการหมุนธรรมจักรให้ดำเนินไปตลอดทาง จึงเป็นประธานแห่งมรรค

จากนั้น สัมมาดำริ ตั้งใจออกจากกามและการเบียดเบียน ลดกิจกรรมบาปออกจากชีวิตมากมาย ตรงนี้ได้ทั้งศีล ชีวิตสมถะ และวิปัสสนาเลือกเฟ้น อะไรควรเก็บไว้ อะไรควรเอาออกไปจากสารบบชีวิตเด็ดขาด (วิราคะ)

จากนั้น สัมมาวาจา ทั้งให้สัญญากับตัวเอง ว่านี่เป็นมาตรฐานของเรา ทั้งประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องรู้ เขาจะได้เคารพสิทธิ์ของเรา ทั้งขัดเกลาวาจาว่าจะไม่โกหก ไม่ส่อเสียดให้ใครเกลียดกัน ไม่หยาบคาย ไม่เพ้อเจ้อ ได้ทั้งศีล สัมปชัญญะกำกับตัวเอง วิปัสสนาเลือกเฟ้นถ้อยคำที่เหมาะสม วิราคะถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ทำได้ก็ได้สมถะในใจ สมถะในความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์จะดีขึ้นทันตาเห็น

จากนั้น สัมมากัมมันตะ จัดมาตรฐานพฤติกรรมใหม่ ไม่ฆ่าชีวิตอื่น ไม่ลัก ไม่ยักยอก ไม่ฉกฉ้อทรัพย์ของใคร ไม่ประพฤติผิดในกาม ได้ทั้งศีล สัมปชัญญะกำกับตัวเอง วิปัสสนาเลือกเฟ้นการกระทำที่เหมาะสม กล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่เหมาะสม (วิราคะ) ทำได้ก็ได้สมถะในใจ สมถะในความสัมพันธ์ ชีวิตและโอกาสการงานจะดีขึ้นมาก

จากนั้น สัมมาอาชีวะ จัดมาตรฐานอาชีพเพื่อการดำรงอยู่ใหม่ อาชีพใดทำแล้วเป็นกุศล ไร้บาป จึงทำ หากมีบาปปนแม้เล็กน้อย ไม่ทำ แม้ระหว่างประกอบกิจการ ก็ใช้กลยุทธ์ที่เป็นกุศลเท่านั้น กลยุทธ์บาปไม่ทำ ตรงนี้ต้องใช้วิปัสสนามาก และอธิโมกข์กล้าตัดสินใจวิราคะจนเป็นธรรมต่อ stakeholder ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาก จนได้ Trust ความเชื่อถือได้ทางอาชีพสูง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จทุกวิชาชีพ จะทำให้ทำน้อยแต่ได้ผลมาก ไม่ต้องทำมากแต่ได้ผลน้อยเหมือนเก่าก่อน ได้ธุรกิจสมถะ ทีมงานสมถะ (มีแต่คนที่ใช่) ชีวิตสมถะอีกมากโข

จากนั้น สัมมาวายามะ เมื่อสะอาดพอควรแล้วจะเริ่มเห็นผลบุญผลบาปชัด ก็เพียรชอบ ๑) ในการป้องกันบาปที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๒) เพียรขจัดบาปแม้เล็กน้อยที่หลงเหลืออยู่ออกไป ๓) เพียรเจริญบุญที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๔) เพียรรักษาบุญที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามภิญโญ เป็นการขัดใสชีวิตจิตใจในทุกระบบ ใช้ทั้งวิปัสสนา วิราคะ และสมถะยินดีในสิ่งที่ประเสริฐกว่า สัมมาวายามะนี้จะเป็นหัวหน้าระบบ Quality Control คุณภาพคุณธรรมตลอดทางแห่งมรรค

จากนั้น สัมมาสติ ปฏิบัติมาถึงตรงนี้แล้ว สติเริ่มอยู่กับเนื้อกับตัวมั่นคงมากขึ้น ก็พิจารณา (วิปัสสนา) 

๑) กายในกายภายใน (ตน) กายในกายภายนอก (คนอื่น) จนเห็นเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไปตลอดชีวิต จึงวิราคะ ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ได้จิตที่สมถะตั้งมั่น สติเต็มอยู่ภายใน (mindfulness)

๒) เวทนาในเวทนาภายใน (ตน) เวทนาในเวทนาภายนอก (คนอื่น) จนเห็นเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไปตลอดชีวิต จึงวิราคะ ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ได้จิตที่สมถะตั้งมั่น สติเต็มอยู่ภายใน (mindfulness)

๓) จิตในจิตภายใน (ตน) จิตในจิตภายนอก (คนอื่น) จนเห็นเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไปตลอดชีวิต จึงวิราคะ ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ได้จิตที่สมถะตั้งมั่น สติเต็มอยู่ภายใน (mindfulness)

๔) ธรรมในธรรมภายใน (ตน) ธรรมในธรรมภายนอก (คนอื่น) จนเห็นเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไปตลอดชีวิต จึงวิราคะ ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ได้จิตที่สมถะตั้งมั่น สติเต็มอยู่ภายใน (mindfulness)

สัมมาสตินี้เป็นหัวหน้าในการรักษาจิต ทำหน้าที่กั้นกระแสไม่ให้ไหลไปภายนอก ป้องกันกระแสภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวนภายใน ทรงสติเต็มตื่นรู้อยู่ภายใน (mindfulness) ไปตลอดทางแห่งมรรค

จากนั้น สัมมาสมาธิ เมื่อมีสติดีแล้วจึงเข้าสมาธิได้ หากสติยังไม่ดีจะเข้าสมาธิไม่ได้ ได้แค่สมากระท่อนกระแท่น เข้าได้แล้วก็ปฏิบัติการสมาธิ อันคือกระบวนการลอกขันธ์

ก่อนเข้าฌาน ๑ ลอกกามฉันทะ พยาบาท ฟุ้งซ่าน หดหู่ ลังเลสงสัยออก

ฌาน ๑ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา (สติตั้งมั่นเป็นหนึ่ง)

ฌาน ๒ ลอกวิตก วิจารออก เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา

ฌาน ๓ ลอกปีติออก เหลือแต่สุข เอกัคคตา และอุเบกขา

ฌาน ๔ ลอกสุขออก เหลือแต่อุเบกขา และสติบริสุทธิ์อยู่

ธรรมชาติของสติเริ่มบริสุทธ์ตั้งแต่ฌาน ๔ เป็นต้นไป 

ในฌาน ๔ นี้ พระพุทธเจ้าให้วิปัสสนาในฌานเลย ด้วยการใช้สติบริสุทธิ์กอปรอุเบกขา ส่องดูความเป็นจริงแห่งอดีตชาติ เรียก บุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้ววิปัสสนาว่า ตนมีวิวัฒนาการความเป็นมาอย่างไร แต่ละชาติเป็นอย่างไร เกิดตระกูลใด คุณสมบัติเด่นอะไร คุณสมบัติด้อยอะไร ชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ผลสุดท้ายก่อนตายเป็นทุกข์หรือเป็นสุข จากนั้นไปเกิดที่ไหนต่อ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนเห็นชัดว่าชาติไม่เที่ยง เกิดทุกชาติทุกข์ทุกชาติ แม้เกิดในชาติที่อายุขัยสูง ๆ ชีวิตแสนสุขสบาย ก็จะทุกข์เพราะโรคหิวและโรคตาย 

ต่อไปทรงสอนให้วิปัสสนากลไกกรรมกำกับความเป็นไปของสัตว์โลก เรียก จุตูปปาตญาณ เราก็ตาม ใครก็ตาม ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน ทำกรรมใดแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ทั้งกรรมดีโดยเจตนา กรรมดีโดยไม่เจตนา กรรมชั่วด้วยเจตนาเบียดเบียน กรรมชั่วด้วยอารมณ์ฉันทราคะ กรรมชั่วด้วยอารมณ์ปฏิฆะ กรรมประมาทเลินเล่อ กรรมทั้งดีทั้งชั่วแอบแฝงปนกันอยู่ จะเห็นชัดซึ่งข่ายใยกรรมที่ครอบงำสัตว์โลกยั้วเยี้ยเหลือประมาณ เป็น matrix ทิพย์ของแท้ จนปรารถนาจะออกจากสังกะตังแห่งกรรมสู่อิสรภาพ 

ต่อไปทรงสอนให้วิปัสสนาดับพลังผูกมัดไว้ใน matix กรรม และภพชาติอันเป็นไปตามกรรม เรียก อาสวักขยญาณ คือ ๑. ดับกามาสวะ (สายสวะผูกมัดคือกาม) ๒. ดับทิฏฐาสวะ (สายสวะผูกมัดคือความคิดเห็น) ๓. ดับภวาสวะ (สายสวะผูกมัดคือความเป็น) ๔. ดับอวิชชาสวะ (สายสวะผูกมัดคืออวิชชา ไม่รู้อดีต อนาคต และทั้งสอง ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่รู้อริยสัจ) การรู้อริยสัจตั้งแต่ในสัมมาทิฏฐิจะมาแจ่มกระจ่างแจ้งด้วยญาณนี้

ดับอาสวะสี่พลังพันธนาการนี้ได้ ก็บรรลุธรรม สำเร็จอรหันต์เลย หากยังดับไม่สนิทสิ้นเชื้อ ไม่ถึงอรหันต์ ก็จักพึงถึงอนาคามี ก็ลอกขันธ์ต่อไป

ฌาน ๕ ลอกรูปสัญญาและนานัตตสัญญาออก เหลือแต่ธาตุว่าง เรียก อากาสานัญจายตนะ ในชั้นนี้ วิปัสสนาอนัตตา แล้ววิราคะตรง ๆ  

ฌาน ๖ ลอกอากาสานัญจายตนะออก เหลือแต่วิญญาณธาตุ เป็นธาตุธรรมชาติยิบสว่างรู้ที่ใจ เรียก วิญญาณัญจายตนะ ในชั้นนี้ วิปัสสนาอนัตตา แล้ววิราคะตรง ๆ 

ฌาน ๗ ลอกวิญญาณัญจายตนะออก เหลือแต่อากิญจัญญายตนะธาตุ เป็นธาตุไร้เวิ้งว้าง เรียก อากิญจัญญายตนะ ในชั้นนี้ วิปัสสนาอนัตตา แล้ววิราคะตรง ๆ 

ฌาน ๘ ลอกอากิญจัญญายตนะออก เหลือแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะธาตุ เป็นธาตุสงัดที่แม้มีสัญญาอยู่คู่กับอทุกขมสุขเวทนาประณีต แต่ทั้งสัญญาและเวทนาสงบระงับไม่ทำงานอยู่ (สังขารระงับเพราะปัจจัยตัวปรุงสังขารทั้งสองสงบ) เรียก เนวสัญญานาสัญญายตนะ ในชั้นนี้วิปัสสนาไม่ได้ ไม่บรรลุธรรม แต่เป็นสะพานสู่สภาวะต่อไปที่บรรลุธรรมชั้นยอดได้

ฌาน ๙ ดับซากสัญญาและเวทนาแสนสงบที่เหลือหมด เข้า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ รู้แต่ภายใน ไม่รู้อะไรภายนอกเลย ผู้ที่จะได้ฌานนี้ต้องได้อนาคามีจิต และเป็นที่ที่พระอรหันต์นิยมพักลึกกันในสภาวะนี้  

พระอนาคามีที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ ๆ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์สำเร็จอรหันต์เลย เพราะทะลุปรุโปร่งนิโรธจนสุดแล้ว ท่านที่ไม่สำเร็จอรหันต์อาจเป็นเพียงเพราะติดอธิษฐานแห่งธรรมกิจอย่างใดอย่างหนึ่งไว้

ส่วนพระอนาคามีที่ไม่ได้เข้านิโรธ ส่วนใหญ่เพราะปฏิบัติเพลิน ลืมตรวจสอบสภาวะ จึงไม่รู้ว่าตนสำเร็จอนาคามีแล้ว จึงไม่ได้ใช้สิทธิ์อันควร เมื่อละสังขารก็จะไปอยู่ปฏิบัติต่อด้วยกันกับพระอนาคามีรุ่นพี่ที่สุทธาวาสพรหม และสำเร็จอรหันต์ในชั้นนั้นเลย


สรุป

สมถะ วิปัสสนา วิราคะ จะใช้ร้อยเรียงหมุนธรรมจักรไปด้วยกันตลอดทางแห่งการบรรลุธรรม ไม่มีแยกจากกัน มีแต่บริบูรณ์ขึ้น สมถะลึกขึ้น วิปัสสนาสัจจะได้ใหญ่ขึ้น วิราคะเด็ดขาดมากขึ้น บรรลุธรรมสูงขึ้น เท่านั้น

อนึ่ง มรรคทุกขั้นมีผู้บรรลุธรรมได้หมด เช่น

ท่านพระอัญญาโกณทัญญะบรรลุโสดาบันในสัมมาทิฏฐิมรรค

พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุโสดาบันในสัมมาดำริมรรค

เจ้าอาวาสท่านหนึ่งรู้มากแต่ปากไม่ดี ศิษย์หนีหมด มากราบพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงให้เจริญสัมมาวาจาด้วยเมตตา ศิษย์หลั่งไหลมามาก ท่านก็ปฏิบัติเคร่งครัดจนบรรลุธรรมในสัมมาวาจามรรค

ท่านองค์คุลีมาลบรรลุโสดาบันในสัมมากัมมันตะมรรค

ท่านจิตตคฤหบดีบรรลุถึงอนาคามีในสัมมาอาชีวะมรรค รักษาอุโบสถเคร่งครัด ปฏิบัติธรรมต่อเนื่อง ทำธุรกิจการค้าด้วย ศึกษาธรรมด้วย แบ่งปันธรรมด้วย

ท่านพระราหุลบรรลุอริยผลโดยลำดับหลายปีโดยมีสัมมาวายามะมรรคเป็นแกน

ชาวกุรุบรรลุอริยธรรมกันหลายระดับด้วยสัมมาสติมรรค

พระอรหันต์ส่วนใหญ่สมัยพุทธกาลบรรลุอริยสภาวะธรรมด้วยวิปัสสนาและวิราคะในสัมมาสมาธิ การบรรลุอรหันตธรรมทั้งหมดไม่ว่าด้วยมรรคใด ล้วนบรรลุในสมาธิฌานใดฌานหนึ่งเป็นฐานทั้งสิ้น การบรรลุอรหัตตผลนอกฌานไม่มี (อัฏฐกนาครสูตร

โอกาสบรรลุธรรมมีมากมายเหลือเกิน ถ้าไม่บล็อกจิตว่าการบรรลุธรรมเป็นเรื่องยาก แล้วดูโลกแห่งการบรรลุธรรมจริง จะพบว่าเป็นเรื่องง่าย

การบรรลุธรรมยากสำหรับสองพวก คือ ๑) พวกที่คิดว่ายาก ต้องพลิกจิตจากความเห็นเข้าสู่ความจริงก่อน จึงจะบรรลุได้ ๒) พวกที่ติดกรรมมหาโจรห้า ต้องแก้ไขแบบพลิกพฤติกรรมเป็นตรงข้ามแบบเอกอุก่อน จึงจะบรรลุได้

การบรรลุธรรมเป็นไปไม่ได้สำหรับสองพวกเท่านั้น คือ ๑) พวกอาภัพไม่มีโอกาสได้ฟังอริยสัจเลยจนตายไปก่อน ๒) พวกทำอนันตริยกรรม ๕ นอกนั้นบรรลุธรรมได้หมด 

พระผู้มีพระภาคทรงสอนว่า การบรรลุธรรมที่ปฏิบัติง่ายสำเร็จเร็วจะปรากฏขึ้นเมื่อบุคคลประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ

๑. ปฏิบัติธรรมแม่น ตรงสู่ผล (ไม่ปฏิบัติเอามันส์ หรือเอาโชว์)

๒. ปฏิบัติธรรมเหมาะกับสภาวะของตน (ไม่พยายามก๊อบปี้ท่านอื่น)

รู้อริยสัจแล้ว ปฏิบัติให้ได้อริยผลกันนะ อย่าให้เสียชาติเกิดไปฟรี ๆ ใครยังไม่เข้าอริยผลเต็มตัว ชาติหน้าจะไม่ได้เจอสังคมอย่างนี้อีกแล้ว

 

 

 

            
                

ที่มา
15 May 2023